เปิดบทสรุปอัปเดต "โควิด-19" ล่าสุดจาก "WHO" ชี้ JN.1 ครองระบาดทั่วโลก

04 ก.พ. 2567 | 00:39 น.

เปิดบทสรุปอัปเดต "โควิด-19" ล่าสุดจาก "WHO" ชี้ JN.1 ครองระบาดทั่วโลก ระบุความรุนแรงของโรคไม่แตกต่างจากสายพันธุ์ก่อนหน้า ยันชุดตรวจโรค ATK ยังคงสามารถใช้ตรวจได้ แนะการป้องกันตัว ใส่ใจสุขภาพเป็นสิ่งจำเป็น

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความระบุถึงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 ว่า

อัปเดตโควิด-19 ล่าสุดจาก WHO 

องค์การอนามัยโลกได้จัด Webinar เพื่ออัปเดตสถานการณ์ของโรคโควิด-19 

สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

  • JN.1 (BA.2.86.1.1) ครองสัดส่วนหลักในการระบาดทั่วโลก โดยตรวจพบถึง 78.7% แล้ว ในขณะที่สายพันธุ์อื่นๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง
  • จากการติดตามข้อมูลจนถึงปัจจุบัน ประเมินว่าความรุนแรงของโรคไม่แตกต่างจากสายพันธุ์ก่อนๆ 
  • ชุดตรวจโรค ATK ยังคงสามารถใช้ตรวจ JN.1 และตัวอื่นๆ ในตระกูล BA.2.86.x ได้
  • วัคซีนประเภท monovalent ที่ทำจากสายพันธุ์ XBB.1.5 ที่ต่างประเทศใช้กันมาตั้งแต่ปีที่แล้วนั้น ยังคงได้ผลในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันและลดเสี่ยงป่วยรุนแรงจากสายพันธุ์ที่ระบาดในปัจจุบัน

 

เปิดบทสรุปอัปเดต "โควิด-19" ล่าสุดจาก "WHO" ชี้ JN.1 ครองระบาดทั่วโลก

 

  • ปัญหา Long COVID หรืออาการผิดปกติเรื้อรังหลังจากหายป่วยจากการติดเชื้อในช่วงแรก (Post-COVID conditions) นั้น ได้รับการศึกษาวิจัยจากทั่วโลก (งานวิจัย 54 ชิ้น จาก 22 ประเทศ) พบว่า มีโอกาสเกิดราว 6.2% 
  • อาการ Long COVID ที่พบบ่อยนั้นจำแนกได้ 3 กลุ่มหลัก คือ อาการอ่อนเพลีย/เหนื่อยล้าเรื้อรัง ปัญหาด้านความคิดความจำ และปัญหาในระบบทางเดินหายใจ
  • ระยะเวลาของ Long COVID นั้น แตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละกลุ่ม โดยคนที่ติดเชื้อแล้วรักษาตัวในโรงพยาบาลจะมีระยะเวลาที่ประสบปัญหา Long COVID เฉลี่ย 9 เดือน ในขณะที่คนที่ติดเชื้อแต่ไม่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลจะประสบปัญหา Long COVID นานเฉลี่ย 4 เดือน
  • อย่างไรก็ตาม พบว่า มีผู้ป่วย Long COVID กว่า 15% ที่ยังคงมีอาการผิดปกติคงค้างต่อเนื่องไปกว่า 12 เดือน
  • ปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิด Long COVID คือ เพศหญิง, สูงอายุ, น้ำหนักเกิน, สูบบุหรี่, หรือมีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น เบาหวาน หอบหืด โรคหัวใจขาดเลือด โรคไต ปอดอุดกั้นเรื้อรัง และภูมิคุ้มกันไม่ดี ทั้งนี้การได้รับวัคซีนโควิดมาก่อนตั้งแต่ 2 เข็มขึ้นไป ก็จะช่วยลดเสี่ยงที่จะเกิด Long COVID ได้ราว 40%
  • การติดเชื้อซ้ำ (Reinfection) ยิ่งมากครั้ง ยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาแทรกซ้อน หรือความผิดปกติต่างๆ ในร่างกายตามมา เช่น การป่วยจนต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล เบาหวาน ปัญหาการแข็งตัวของเลือด อาการอ่อนเพลีย/เหนื่อยล้า รวมถึงอาการผิดปกติทางระบบประสาท หัวใจ ทางเดินหายใจ ฯลฯ

บทสรุป: 

การป้องกันตัว ใส่ใจสุขภาพ เป็นสิ่งจำเป็น ใส่หน้ากาก ล้างมือ รักษาระยะห่างจากคนอื่น ระวังที่แออัด การฉีดวัคซีนตามมาตรฐานสำหรับกลุ่มเสี่ยงนั้นมีประโยชน์ ช่วยลดเสี่ยงป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้   

หากไม่สบาย ควรหยุดพักรักษาตัวให้หายดีเสียก่อน จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเอง คนใกล้ชิด และคนรอบข้างในสังคม