กทม. เตรียมรับมือฝุ่น PM 2.5 คาดสถานการณ์รุนแรงขึ้น

15 ก.ย. 2566 | 14:00 น.

ชัชชาติ ผู้ว่าฯกทม. รับมือฝุ่น PM 2.5 คาดรุนแรงขึ้น เตรียมตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ พร้อมแนะรัฐบาลคุยประเทศเพื่อนบ้านลดเผาชีวมวล

15 กันยายน 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในกรุงเทพฯ ครั้งที่ 2/2566 โดยนายชัชชาติ กล่าวว่า จากปรากฏการณ์เอลนีโญ มีการคาดการณ์เรื่องฝุ่น PM 2.5 อยู่ 2 ความเห็น ดังนี้

1.ฝุ่น PM 2.5 ลดลง เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญจะไม่เกิดความกดอากาศมาก จนเป็นลักษณะเหมือนฝาชีครอบ ทำให้อากาศไหลผ่านได้ดีขึ้น

2.ฝุ่น PM 2.5 เพิ่มมากขึ้น จากภัยแล้งที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดลักษณะการเผาไหม้มีมากขึ้น โดยอ้างอิงจากข้อมูลปีที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญมาแล้ว ซึ่งปีนี้อาจจะเกิดฝุ่น PM 2.5 ที่รุนแรง กทม.จึงต้องเตรียมการรับมือในกรณีที่เลวร้ายที่สุดไว้ก่อน

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า ส่วนข่าวดีคือ 1.การเปลี่ยนเกรดน้ำมัน และการเปลี่ยนมาตรฐานเครื่องยนต์ เป็นมาตรฐานยูโร 5 ในเดือน ม.ค. 2567 เชื่อว่าสถานการณ์ฝุ่นจะดีขึ้น 2.ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ 5,000 แห่ง ซึ่งมี 500 แห่ง ที่ยังใช้เชื้อเพลิงที่ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 จึงเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมดในพื้นที่

ทั้งนี้ ในที่ประชุมมีการเสนอให้นำโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดที่ติดกับกรุงเทพฯ เข้ามาเป็นฐานข้อมูลด้วย โดยจะประสานให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม ช่วยส่งข้อมูลการปล่อยมลพิษของโรงงานมาให้ กทม.ด้วย

3.การเผาชีวมวล ในประเทศมีการเผาอ้อยและข้าว ทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะมีการจ่ายเงินชดเชยให้กับเกษตรกรที่ตัดอ้อยสด ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องจริงจัง ส่วนในพื้นที่กรุงเทพฯ กทม.ได้จัดสรรงบประมาณซื้อเครื่องอัดฟาง 3 เครื่อง พร้อมรถบรรทุก เชื่อว่าจะสามารถให้บริการกับเกษตรกรในกรุงเทพฯ ได้ ในอีกด้านก็มีฝุ่น PM 2.5 จากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา เมียนมา รัฐบาลต้องพูดคุยกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อลดการเผาชีวมวล

 

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า จุดเริ่มต้นที่สำคัญคือการพยากรณ์ฝุ่น PM 2.5 เพื่อให้เตือนภัยล่วงหน้าได้ โดยกรมควบคุมมลพิษมีการพัฒนาโมเดลที่ค่อนข้างดี กทม.จึงได้ทำเครือข่ายเวิร์กฟอร์มโฮมให้เข้มข้นขึ้น ซึ่งจะขยายฐานบริษัทต่างๆ ถ้ามีการคาดการณ์ก่อนล่วงหน้า 3 วันอย่างแม่นยำ กทม.ก็ประกาศเวิร์กฟอร์มโฮม เพื่อลดการเดินทาง ส่วนการดำเนินการอื่นๆ เช่น การปรับปรุงทางเดินเท้า, การใช้รถพลังงานไฟฟ้า, การพัฒนารถ Feeder ที่มีคุณภาพ ประชาชนจะหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนเพิ่มมากขึ้น

นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า ส่วนการรับมือสุขภาพทางเดินหายใจ จะต้องมีการป้องกันให้ดี โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง โดย กทม.เตรียมจัดซื้อเครื่องฟอกอากาศตามโรงเรียนในสังกัด กทม. ศูนย์รับเลี้ยงเด็กเล็ก เป็นต้น รวมถึงการแจกหน้ากากป้องกันฝุ่นด้วย ส่วนการรักษาผู้ป่วยทางเดินหายใจ ก็มีศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาลของ กทม. ที่ให้การดูแล