หมอยงชี้โควิดไทยมีแนวโน้มเปลี่ยนสายพันธุ์เป็น EG.5.1 เหมือนยุโรป-อเมริกา

16 ส.ค. 2566 | 04:56 น.

“หมอยง” เตือนโควิดไทยมีแนวโน้มเปลี่ยนสายพันธุ์จาก XBB เป็น EG.5.1 เหมือนในยุโรปและอเมริกา ทำให้ผู้ที่เป็นแล้วมีโอกาสเป็นซ้ำ แม้ความรุนแรงจะไม่ได้เพิ่มขึ้นก็ตาม

 

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กในวันนี้ (16 ส.ค.) หัวข้อ “โควิด 19 สายพันธุ์กำลังจะเปลี่ยนเป็น EG.5.1 หรือ Eris

รายละเอียดเนื้อหา มีใจความว่า

โควิด 19 ได้มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์มาตลอดในช่วงที่ผ่านมา สายพันธุ์ที่พบในประเทศไทย จะเป็น XBB ขณะนี้มีแนวโน้มว่าสายพันธุ์ที่จะมาแทนที่ XBB คือ EG.5

สายพันธุ์ EG.5.1 หรือเรียกชื่อเล่นว่า Eris เทพธิดาแห่งความสับสนวุ่นวาย กำลังจะเข้ามาแทนที่ XBB โดยมีการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งที่สำคัญ 1 ตำแหน่ง ทำให้มีโอกาสที่หลบหลีกภูมิต้านทานได้อีก แต่อย่างไรก็ตามความรุนแรงของโรค ไม่ได้เพิ่มขึ้น

การศึกษาของศูนย์ไวรัสที่ทำอยู่ ขณะนี้ถึงแม้จะมีตัวอย่างน้อย แต่ก็พบสายพันธุ์ EG.5.1 ดังแสดงในรูป และสายพันธุ์นี้กำลังจะเป็นสายพันธุ์หลักโดยเฉพาะในยุโรปและอเมริกา ต่อไปก็คงหนีไม่พ้นในประเทศไทย

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้ผู้ที่เป็นแล้วมีโอกาสที่จะเป็นซ้ำหรือติดเชื้อซ้ำได้อีก แต่ความรุนแรงไม่ได้เพิ่มขึ้น การติดตามสายพันธุ์ในประเทศไทยมีความสำคัญในการวางแผน โดยเฉพาะการป้องกันด้วยวัคซีนในอนาคต

มีแนวโน้มว่าสายพันธุ์ที่จะมาแทนที่ XBB คือ EG.5

ช่วงกลางเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสโควิด โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย EG.5.1 เอาไว้ว่า

EG.5.1 หรือ XBB.1.9.2.5.1 เป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน XBB.1.9.2. ที่มีตำแหน่งกลายพันธุ์เพิ่มเติมบนโปรตีนหนาม คือ S:F456L (กรดอะมิโนที่ตำแหน่ง 456 เปลี่ยนจากฟีนิลแอลานีน เป็น ลิวซีน) และ S:Q52H (กรดอะมิโนที่ตำแหน่ง 52 เปลี่ยนจากกลูตามีน เป็น ฮีสติดีน) สามารถแพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์ XBB.1.16 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พบมากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ( ข้อมูล ณ วันที่ 4 มิ.ย.- 4 ก.ค.2566) หรือคิดเป็น 13.71% รองลงมาคือสายพันธุ์ XBB.1.9.1 คิดเป็น 8.68% และสายพันธุ์ EG.5.1 คิดเป็น 7.33%

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของสายพันธุ์ EG.5.1 กำลังเป็นที่จับตา หลังพบการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในยุโรปและอเมริกา อ้างอิงจากฐานข้อมูลกลาง GISAID แบ่งตามภูมิภาค ดังนี้

  • เอเชีย 1,385 คน
  • ยุโรป 203 คน
  • โอเชียเนีย 35 คน
  • อเมริกาเหนือ 360 คน
  • อเมริกากลาง 4 คน
  • และอเมริกาใต้ 1 คน 

ทั้งนี้ สายพันธุ์ EG.5.1 ในภูมิภาคเอเชียนั้น พบรายงานจาก 11 ประเทศ รวมทั้งไทย โดยลำดับจากมากไปน้อย ดังนี้ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง อิสราเอล ลาว อินโดนีเซีย ไต้หวัน ไทย และอินเดีย

โดยกรณีประเทศไทย พบติดเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์ EG.5.1 จำนวน 5 คน มีรายงานตรวจพบครั้งแรกในเดือนเม.ย.2566 จำนวน 1 คน เดือนพ.ค.จำนวน 3 คน และเดือนมิ.ย.จำนวน 1 คน ยังไม่พบข้อมูลเรื่องการเพิ่มความรุนแรง

องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้ EG.5 เป็น “สายพันธุ์ที่น่าสนใจ” หมายความว่า ต้องจับตาดูการกลายพันธุ์ที่อาจทำให้มีการติดเชื้อรุนแรงยิ่งขึ้นหรือไม่ จากหลักฐานที่มีอยู่ในปัจจุบัน WHO กล่าวว่า ในระดับโลก EG.5 แสดงความเสี่ยงต่อสาธารณสุขต่ำ เช่นเดียวกับสายพันธุ์อื่นๆ ที่ติดเชื้อกันในปัจจุบัน หลังจากในเดือนพ.ค. WHO เคยพูดอย่างกว้างๆ ว่า ตอนนี้โควิด-19 เป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นและต่อเนื่อง ไม่ถือเป็นเหตุฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่นานาชาติต้องกังวลอีกต่อไป

“แม้ EG.5 จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น เติบโตได้ดี และสามารถหลบภูมิคุ้มกันได้ แต่ถึงวันนี้รายงานความรุนแรงของโรคยังไม่เปลี่ยนแปลง” รายงานประเมินความเสี่ยงของ WHO ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ระบุ พร้อมเสริมว่า คุณสมบัติเหล่านี้อาจทำให้ EG.5 กลายเป็นสายพันธุ์หลักในบางประเทศหรือแม้กระทั่งทั่วโลก

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ (ซีดีซี) รายงานว่า ขณะนี้ EG.5 กำลังเป็นสายพันธุ์หลักในสหรัฐ คิดเป็น 17.3% ของผู้ติดเชื้อในหนึ่งสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 ส.ค.2566

การปรับสูตรวัคซีนเพื่อรับมือ

ผู้ผลิตวัคซีนโควิดรายใหญ่ อย่างโมเดอร์นา ไฟเซอร์ และโนวาแวกซ์ เตรียมปล่อยวัคซีนป้องกันโควิดตัวใหม่พุ่งเป้าสายพันธุ์ XBB ที่เป็นลูกหลานของโอมิครอนโดยเฉพาะในเร็วๆนี้ โดยทางโนวาแวกซ์ กล่าวว่า วัคซีนของบริษัทจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์ย่อยของ XBB เช่น XBB.1.5,XBB.1.16 และ XBB.2.3 

จัสติน เลสเลอร์ อาจารย์ภาควิชาระบาดวิทยา วิทยาลัยสาธารณสุขโลกยูเอ็นซี จิลลิง กล่าวว่า  “EG.5 เป็นส่วนหนึ่งของสายพันธุ์ XBB และใกล้ชิดกับสายพันธุ์ XBB ก่อนหน้าที่มีวัคซีนป้องกัน ด้วยเหตุผลนี้ ความคาดหวังจึงอยู่ที่วัคซีนสูตรใหม่ที่จะพร้อมใช้ในฤดูร้อนนี้ จะให้การป้องกัน EG.5 ได้ดีกว่าวัคซีนที่เคยมีมาก่อนหน้า”

แมนดี โคเฮน ผู้อำนวยการ ซีดีซี ผู้รับผิดชอบการกระจายวัคซีนไปให้ภาคเอกชนในสหรัฐอเมริกาคาดหมายว่า วัคซีนใหม่จะพร้อมใช้ในสหรัฐตั้งแต่ปลายเดือนก.ย.2566 เป็นต้นไป