ฉีดวัคซีน mRNA หลายเข็มเพิ่มความเสี่ยงติดโควิดจริงหรือไม่ เช็คเลย

03 ม.ค. 2566 | 06:30 น.

ฉีดวัคซีน mRNA หลายเข็มเพิ่มความเสี่ยงติดโควิดจริงหรือไม่ เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ หลังมีข้อมูลงานวิจัยของแผนกโรคติดเชื้อ คลีฟแลนด์คลินิก ประเทศสหรัฐอเมริกา

ฉีดวัคซีนmRNA หลายเข็มเพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อโควิด19 จริงหรือไม่ กำลังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจ  

 

ทั้งนี้ เนื่องจากวัคซีนmRNA เป็นเทคโนโลยีใหม่ในการผลิตวัคซีน อีกทั้งยังมีผลวิจัยในทิศทางดังกล่าวออกมา 

 

ล่าสุดนพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง ในฐานะประธานคณะกรรมการประมวลสถานการณ์โรคโควิด-19 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) (MIU) กล่าวถึงกรณีมีข่าวรายงานข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ ระบุเรื่องการรับวัคซีน mRNA หลายครั้ง จะเพิ่มความเสี่ยงติดโรคโควิด-19 ซ้ำ ว่า จากการตรวจสอบพบว่า เป็นข้อมูลงานวิจัยของแผนกโรคติดเชื้อ คลีฟแลนด์คลินิก ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งยังไม่ได้รับการประเมินรับรองจากผู้เชี่ยวชาญก่อนการเผยแพร่ในวารสารวิชาการ และยังไม่ได้รับการยอมรับให้เผยแพร่ตามมาตรฐานวิชาการ

 

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่พบเป็นเพียงการนำเสนอจากข้อมูลที่มีอยู่ ขาดการวิเคราะห์และสรุปข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลด้านระบาดวิทยาที่สำคัญ พฤติกรรมเสี่ยง พฤติกรรมการป้องกันโรค และประวัติการติดเชื้อร่วมกับการฉีดวัคซีน

ทั้งนี้ เนื่องจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อ หรือการติดเชื้อได้อย่างมีนัยสำคัญ สิ่งสำคัญคือ ต้องร่วมกับพฤติกรรมด้านสุขภาพที่ดีในการป้องกันโรค เช่น การสวมหน้ากากอนามัยในสถานที่สาธารณะ หรือที่มีผู้คนแออัดจำนวนมาก การล้างมือ และการเว้นระยะห่าง ดังนั้นผลงานวิจัยดังกล่าว จึงขาดความน่าเชื่อถืออย่างมาก

 

ฉีดวัคซีน mRNA หลายเข็มเพิ่มความเสี่ยงติดโควิดจริงหรือไม่
          

นพ. รุ่งเรือง กล่าวอีกว่า ข้อมูลงานวิจัยดังกล่าวไม่สามารถนำมาใช้กับไทยได้ เนื่องจากมีความแตกต่างกันในด้านสถานการณ์ มาตรการป้องกันควบคุมโรค ด้านระบาดวิทยา และพฤติกรรมสุขภาพของประชากร โดยสหรัฐฯ ไม่ได้เน้นมาตรการ เช่น การสวมหน้ากากอนามัยเหมือนไทย 

 

รวมถึงระบบการรักษาพยาบาล การควบคุมโรค และสายพันธุ์ของเชื้อที่ระบาดมีความแตกต่างกัน อีกทั้งผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นมากกว่า 3 เข็ม ในสหรัฐฯ เป็นกลุ่มผู้มีพฤติกรรมเสี่ยงสูง จึงมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้มากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับการฉีดเข็มกระตุ้น
 

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาดังกล่าว มีประโยชน์ในแง่สนับสนุนให้มีการศึกษาเพิ่มเติม เรื่องการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นอย่างรอบด้านมากขึ้น เพื่อเป็นข้อสรุปที่สำคัญในการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่เป็นผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว เช่น จำนวนเข็มกระตุ้นที่เหมาะสม ระยะห่างการฉีดเข็มกระตุ้นที่จะเกิดประโยชน์สูงสุด
          

เช่นเดียวกับกรณีวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ที่ปัจจุบันแนะนำให้ฉีดกระตุ้นทุกปี โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว สตรีตั้งครรภ์ และเด็ก ทั้งนี้ ข้อมูลทางวิชาการที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลก คือ วัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นช่วยลดโอกาสการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้อย่างชัดเจน

 

ดังนั้น จึงขอเชิญชวนประชาชนให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั้งเข็มปกติและเข็มกระตุ้นรวมอย่างน้อย 4 เข็ม หากเข็มสุดท้ายนานเกิน 4 เดือน ต้องฉีดเข็มกระตุ้น ตามข้อแนะนำด้านวิชาการในปัจจุบันของไทย