svasdssvasds
logo-pwa

เพิ่ม thansettakij

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด
thansettakij

เปิดคำฟ้อง “หมอสมิทธิ์” ยื่นศาลปกครองกลาง เพิกถอนกัญชาเสรี

11 พฤศจิกายน 2565

เปิดคำฟ้อง “หมอสมิทธิ์” ยื่นฟ้อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ต่อศาลปกครองกลาง เพิกถอนประกาศกัญชาเสรี

วันนี้ (10 พฤศจิกายน) นายแพทย์สมิทธิ์ ศรีสนธ์ ตัวแทนประชาชน ร่วมกับ กลุ่มประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับกัญชาเสรี ได้ยื่นฟ้อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ 2417/2565 

 

ขอให้มีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 (ประกาศกัญชาเสรี) โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่มีการออกประกาศฉบับดังกล่าว และให้กัญชาจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2563 เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 พ.ศ. 2563 

สำหรับสาระสำคัญของการขอให้มีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศกัญชาเสรี มีข้อที่น่าสนใจดังนี้

 

ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับพิพาทขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย 
 

หลังจากประมวลกฎหมายยาเสพติด มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 แม้ตามมาตรา 29 (5) ของกฎหมายดังกล่าว จะไม่ได้ระบุว่ากัญชาเป็นยาเสพติด ให้โทษ ประเภทที่ 5 ดังเดิม แต่เนื่องจากตามมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2564 บัญญัติให้ประกาศที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่ประมวล กฎหมายยาเสพติดใช้บังคับยังมีผลใช้บังคับได้ต่อไป จนกว่าจะมีประกาศที่ออกตามประมวลกฎหมายยาเสพติดใช้บังคับ

 

ดังนั้น ย่อมต้องถือว่าประกาศกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2563 เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 ที่กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพ ติดให้โทษในประเภทที่ 5 ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป

ดังจะเห็นได้จากคำพิพากษาศาลจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565 เป็นเรื่องที่จำเลยได้ผลิตโดยการ เพาะปลูกกัญชา อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 จำนวน 1 ตัน และจำเลยมีกัญชา จำนวน 1 ต้นดังกล่าว (ต้นพืชประกอบด้วยราก ลาต้น กิ่ง ก้าน ใบ และช่อดอก) น้ำหนักสุทธิ 1,720 กรัม ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตาม พร.บ. ยาเสพติดให้ โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26/2 วรรคหนึ่ง 

 

ต้องด้วยบทกำหนดโทษตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 5 แสนบาท ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิด แต่ภายหลังจากที่จำเลยกระทำความผิด ได้มี พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 มาตรา 4 (5) ให้ยกเลิก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เมื่อประมวล กฎหมายยาเสพติดใช้บังคับแล้ว 

 

แต่ประมวลกฎหมายยาเสพติดยังคงบัญญัติให้การผลิต กัญชา อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เป็นความผิด ตามมาตรา 93 ต้องด้วยบทกำหนดโทษตามมาตรา 148 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 5 แสนบาท เป็นกรณีที่กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด กับประมวลกฎหมายยาเสพ

 

เป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด มีระวางโทษเท่ากัน เมื่อโทษตามประมวลกฎหมายยาเสพติดไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายที่ใช้บังคับ ในขณะกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรคแรก


ทั้งนี้ผลของประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 พ.ศ.2565 ที่กำหนดให้เฉพาะ สารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชา เป็นยาเสพติด ให้ โทษในประเภทที่ 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด จึงทำให้ส่วนที่เป็น เปลือก ลำต้น เส้น ใย กิ่งก้าน ราก ใบ ช่อดอก ซึ่งเคยระบุว่าเป็นยาเสพติดให้โทษตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2563 ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 อีกต่อไป

 

ดังนั้น เมื่อส่วนต่างๆ ของพืชกัญชาไม่จัดว่าเป็นยาเสพติดให้โทษอีกต่อไปแล้ว บุคคล ทั่วไปจึงสามารถผลิต จำหน่าย มีไว้ในครอบครอง และใช้กัญชาได้อย่างเสรี โดยไม่มีเงื่อนไข หรือข้อจำกัด

 

เมื่อออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ขณะที่รัฐเองยังไม่ได้มีมาตรการใดทางกฎหมายมารองรับ กรณี จึงเห็นได้ว่าการประกาศให้กัญชาไม่เป็นยาเสพติดให้โทษอีกต่อไปย่อมขัดต่อเจตนารมย์ของ กฎหมายที่ต้องการควบคุมและจำกัดการใช้พืชกัญชา ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษเพื่อมุ่งคุ้มครอง สุขภาพอนามัยและสวัสดิภาพของประชาชน

 

รวมถึงคุ้มครองสังคมโดยรวมอันเป็นประโยชน์สาธารณะด้วย ประกาศฉบับดังกล่าวจึงเป็นกฎที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากกระทำ โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

 

ขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับประกาศกระทรวงสาธารณสุข

 

นอกจากนี้ยังมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2564 ไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดี เพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้หรือจำหน่ายกัญชาอย่างเสรีในช่วงเวลานี้

 

สาเหตุที่ต้องมีการฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองกลาง เพราะ การออกประกาศดังกล่าวถือเป็นการออกกฎโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกระทำโดยไม่สุจริต ขัดต่อ อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติด ให้โทษ ค.ศ. 1961 (พ.ศ. 2504) (The Single Convention on Narcotic Drugs, 1961) 

 

รวมทั้งอนุสัญญาว่าด้วยวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ค.ศ.1971 ซึ่งอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับนี้มีเนื้อหาในการควบคุมและจำกัดการใช้ยาเสพติดให้โทษเพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์เท่านั้น จะใช้ประโยชน์อย่างอื่นมิได้ โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในรัฐสมาชิกที่ร่วมลงมติรับและเข้าผูกพันตามอนุสัญญาดังกล่าวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504

 

ดังนั้น การออกประกาศดังกล่าว โดยที่ไม่มีมาตรการควบคุมกำกับดูแลว่าให้กัญชาใช้ในทางการแพทย์ได้เท่านั้น เท่ากับเป็นอนุญาตให้มีการใช้ หรือจำหน่ายกัญชาได้อย่างเสรี ซึ่งผลเสียหายต่อประชาชน และทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะผิดต่อพันธะตามอนุสัญญาที่ได้ลงนามไว้ด้วย