‘ศิริราช’ เปิดศูนย์วินิจฉัย "ภาวะดื้อโบท็อกซ์" แห่งแรกในอาเซียน

03 พ.ย. 2565 | 01:14 น.

"ศิริราช" เปิดศูนย์การแพทย์ต้นแบบระดับนานาชาติ วินิจฉัย "ภาวะดื้อโบท็อกซ์" แก้ปัญหาและลดความเสี่ยงผู้ใช้บริการความงาม และผู้ป่วยที่ต้องใช้ ‘โบทูลินัมท็อกซิน’ เตือน อย่าใช้ในปริมาณที่เยอะเกินจำเป็น พร้อมสร้างความตระหนักรู้ในการใช้อย่างถูกวิธี

ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันการทำหัตถการความงามอย่างการฉีดสาร ‘โบทูลินัมท็อกซิน’ หรือ โบท็อกซ์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในตลาดความงาม และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ตัดสินใจเข้ารับบริการโดยที่อาจยังไม่มีความรู้ครอบคลุม ทำไห้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะดื้อโบทูลินัมท็อกซินได้ เช่นเดียวกับ กรณีของผู้ป่วยที่ต้องใช้โบทูลินัมท็อกซิน เพื่อการรักษาโรคทางระบบประสาทหรือกล้ามเนื้อ ก็มีความเสี่ยงด้วยเช่นกัน ในฐานะที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันทางการแพทย์ที่สร้างสรรค์สุขภาวะแก่มวลมนุษยชาติ สร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ ๆ  มีการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมต่อเนื่อง จึงมีเป้าหมายที่จะพัฒนาองค์ความรู้ในการรับมือกับภาวะดื้อยาที่เกิดจากการใช้ ‘โบทูลินัมท็อกซิน’ 

 

ล่าสุด จึงได้จัดตั้ง “ศูนย์บูรณาการความเป็นเลิศทางการแพทย์ศิริราช” (Siriraj Integrated Center of Excellence (SiCOE)) เพื่อเป็นศูนย์การแพทย์ต้นแบบทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วย โดยใช้ข้อมูลด้านคลินิกคัดกรองประวัติผู้ป่วยในการวินิจฉัยและเลือกวิธีการรักษาให้เหมาะสม และจะเป็นแนวทางการรักษาที่มีมาตรฐานในวงการแพทย์เวชศาสตร์ความงาม ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติต่อไป

"ภาวะดื้อ ‘โบทูลินัมท็อกซิน’ คือ ภาวะที่ผู้ป่วยที่ได้รับการฉีด ‘โบทูลินัมท็อกซิน’ แล้วไม่ได้ผล หรือ ผลที่ได้จากที่เคยอยู่ได้ 6 เดือน ก็อยู่ได้เพียงเดือนเดียว การตรวจวินิจฉัย จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยอาจจะต้องหยุดการฉีด ‘โบทูลินัมท็อกซิน’ ไปก่อน เราต้องการให้พึ่งระวัง คือการใช้เยอะๆ ไม่ดี เราต้องการสร้างความตระหนักในการใช้ ไม่ให้เกิดความเสี่ยง เพราะเราก็บอกไม่ได้ว่าในอนาคตเราจะเป็นโรคกล้ามเนื้อหรือเปล่า ถ้ามีปัญหา ก็มาตรวจวินิจฉัย ถ้ามีปัญหา ก็อาจจะต้องงดในช่วง 3 เดือนหรือ 6 เดือน"  

 

ศ.คลินิก นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า การพัฒนาการตรวจวัดปริมาณแอนติบอดีต่อโบทูลินัมท็อกซิน โดยเฉพาะบริเวณที่ออกฤทธิ์ เป็นการพัฒนาที่ยังไม่เคยมีผู้คิดพัฒนาต่อยอด จึงถือได้ว่าเป็นครั้งแรกของโลก และได้รับการตีพิมพ์วารสารนานาชาติเป็นที่เรียบร้อย ศิริราชจึงถือเป็นที่แรกที่เดียวในโลกในขณะนี้ ที่สามารถตรวจวัดปริมาณและให้การดูแลรักษาผู้ที่สงสัยไม่ตอบสนองต่อโบทูลินัมท็อกซินได้มากที่สุด

ปัจจุบันมีผู้ขอรับการรักษาด้วยโบทูลินัมท็อกซินด้วยปัญหาโรคเกี่ยวกับเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ ตลอดจนนำมาใช้ทางด้านการแพทย์และความสวยงามกันมากขึ้น มักจะรักษาอย่างต่อเนื่องและเป็นระยะเวลายาวนาน ที่ผ่านมาพบว่า เมื่อผู้ป่วยได้รับสารโบทูลินัมท็อกซินในปริมาณมาก หรือได้รับการรักษาต่อเนื่องยาวนาน อาจทำให้ดื้อโบทูลินัมท็อกซินได้ นำไปสู่การพัฒนาของทีมวิจัย “การพัฒนาการตรวจวินิจฉัยทางวิทยาภูมิคุ้มกัน เพื่อช่วยร่วมแก้ปัญหาทางคลินิก” 

 

การพัฒนาการตรวจวัดปริมาณแอนติบอดีต่อโบทูลินัมท็อกซิน โดยเฉพาะบริเวณที่ออกฤทธิ์นี้ เป็นการพัฒนาที่ยังไม่เคยมีผู้คิดพัฒนาต่อยอด จึงถือได้ว่าเป็นครั้งแรกของโลก และได้รับการตีพิมพ์วารสารนานาชาติเป็นที่เรียบร้อย ศิริราชจึงถือเป็นที่แรกที่เดียวในโลกในขณะนี้ ที่สามารถตรวจวัดปริมาณและให้การดูแลรักษาผู้ที่สงสัยไม่ตอบสนองต่อโบทูลินัมท็อกซินได้มากที่สุด

 

อย่างไรก็ตาม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ได้ดำเนินการจัดตั้ง “ศูนย์บูรณาการความเป็นเลิศทางการแพทย์ศิริราช” (Siriraj Integrated Center of Excellence (SiCOE)) เพื่อเป็นศูนย์การแพทย์ต้นแบบทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย และผู้มารับบริการ ซึ่งศูนย์วินิจฉัยภาวะดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซินศิริราช เป็นการบูรณาการระหว่างคลินิกและปรีคลินิก เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยโดยใช้ข้อมูลด้านคลินิกคัดกรองประวัติผู้ป่วยในการวินิจฉัยและเลือกวิธีการรักษาให้เหมาะสม และจะเป็นแนวทางการรักษาที่มีมาตรฐานในวงการแพทย์เวชศาสตร์ความงาม ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติต่อไป

 

อ. พญ.ยุวดี พิทักษ์ปฐพี อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า โบทูลินัมท็อกซินใช้ในการรักษาโรคทางระบบประสาทหลายๆ โรค โดยกลุ่มคนไข้คลินิกฉีดยาโบทูลินัมท็อกซินของสาขาประสาทวิทยา ที่มารับการรักษามากที่สุดคือ คนไข้โรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก และภาวะกล้ามเนื้อคอบิดเกร็ง ซึ่งการดื้อโบทูลินัมท็อกซินพบได้ในผู้ป่วยที่มารักษาภาวะกล้ามเนื้อคอบิดเกร็ง เนื่องจากมีการใช้ยาขนาดสูงกว่ากลุ่มผู้ป่วยโรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีกที่ใช้ยาขนาดน้อยกว่า โบทูนัมท็อกซิน จะช่วยลดอาการกล้ามเนื้อกระตุกและบิดเกร็งได้ผลดีมากเมื่อเทียบกับการรักษาโดยการรับประทานยา 

 

ดังนั้น เมื่อเกิดภาวะดื้อยา โดยเฉพาะที่พบบ่อยในคนไข้ที่มีภาวะกล้ามเนื้อคอบิดเกร็ง จึงส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ทั้งในด้านประสิทธิภาพการรักษาและระยะเวลาของยาออกฤทธิ์ที่ลดลง