โควิด19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังเมื่อไหร่ เตรียมตัวยังไง เช็คเลย

12 ส.ค. 2565 | 03:25 น.

โควิด19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังเมื่อไหร่ เตรียมตัวยังไง เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ หมอนิธิพัฒน์รวบรวมข้อมูลไว้ให้แล้ว

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล (หมอนิธิพัฒน์) หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความระบุว่า 

 

ผ่านไปอีกหนึ่งวันกับสถานการณ์โควิดที่บรรเทาลงช้าๆ 

 

ในโอกาสวันแม่แห่งชาติปีนี้ ที่สถานการณ์โควิดประจำวันนี้กำลังค่อยๆ คลี่คลาย ขอฝากข้อคิดการเตรียมตัวใช้ชีวิตหลังยุคโควิด ดังนี้

 

ประเทศไทยได้ผ่านพ้นการระบาดครั้งใหญ่ในระลอกที่ห้าช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ จากเชื้อโควิดสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.1/BA.2 

 

โดยในขณะนั้นมีผู้ติดเชื้อรายวันจำนวนมากเป็นหลักแสน และมีผู้ป่วยอาการรุนแรงต้องรับเข้าไว้ในโรงพยาบาลสะสมเกิน 2,000 คน 

 

ตามมาด้วยยอดผู้เสียชีวิตวันละกว่า 120 คน ต่อมาสถานการณ์ค่อยๆ คลี่คลาย 

 

ควบคู่ไปกับการเปิดประเทศรับคนเดินทางเข้ามามากขึ้น พร้อมกับการผ่อนคลายกิจกรรมภายในประเทศลงจากเดิม

 

ทั้งนี้เพื่อให้การฟื้นฟูประเทศจากภาวะเศรษฐกิจชะงักงันเดินหน้าต่อไปได้ ในท่ามกลางการแข่งขันกับประเทศอื่นทั่วโลก

 

เดิมคาดการณ์ว่าเมื่อลุเข้าเดือนกรกฎาคม สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 จะดีขึ้นตามลำดับ 

และเข้าสู่ช่วงการเปลี่ยนผ่านเป็นโรคประจำถิ่น จึงได้มีการปรับระบบการควบคุมและการป้องกันการระบาดในชุมชน 

 

และระบบการดูแลรักษาในโรงพยาบาลสำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรง ให้กลับเข้าสู่ระบบการดูแลสุขภาพตามปกติของประเทศ

 

แต่เริ่มมีสัญญาณเตือนเมื่อยามย่างเดือนมิถุนายน จากการระบาดเพิ่มขึ้นของเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 

 

ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันมากขึ้นเป็นหลักหลายหมื่นในช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม 

 

โควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังเมื่อไหร่

 

และส่งเสริมด้วยการมีช่วงวันหยุดยาวถึงสองครั้งในเดือนนั้น ทำให้ยอดผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 

 

ผู้ป่วยอาการรุนแรงและเสียชีวิต ที่เคยลดลงไปแล้วกลับเพิ่มขึ้นมาใหม่ช้าๆ ตลอดเดือน 

 

และต่อเนื่องมาจนเข้าสู่สัปดาห์ที่สองของเดือนสิงหาคม จึงเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น 

 

จนคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อแห่งชาติ ออกมาประกาศเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 

 

เพื่อเตรียมการให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง แทนที่คำเดิมซึ่งใช้กันติดปากว่าโรคประจำถิ่น

ในฐานะประชาชนพลเมือง สิ่งที่จะต้องเตรียมตัวในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้มี 4 ประการด้วยกัน คือ

 

1.ระมัดระวังตัวไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิดในวงกว้าง ด้วยการเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มพื้นฐานและเข็มกระตุ้นตามกำหนด ใส่หน้ากากสม่ำเสมอเมื่ออยู่ในพื้นที่สาธารณะ และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีคนรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก 

 

2.รู้จักดูแลตนเองเมื่อเป็นบุคคลสัมผัสเสี่ยงสูง โดยการแยกตัวจากผู้อื่นเพื่อสังเกตอาการเป็นเวลาอย่างน้อย 5 วัน และถ้าเป็นได้ให้ตรวจเอทีเคด้วยตนเองทุกวัน ถ้าครบกำหนดแล้วยังไม่มีอาการและผลตรวจเอทีเคยังเป็นลบ จึงกลับไปใช้ชีวิตได้แบบระมัดระวังเช่นดังข้อ 1. ในระหว่างแยกตัวสังเกตอาการหรือพ้นระยะการแยกตัว ต้องทำความสะอาดและฆ่าเชื้อของใช้ส่วนตัวและห้องพักให้ถูกสุขลักษณะตามคำแนะนำ 

 

3.รู้จักดูแลตนเองเมื่อพบว่ามีการติดเชื้อ ถ้าเคยได้รับวัคซีนเข็มพื้นฐานครบแล้วเป็นอย่างน้อย ถ้าไม่มีโรคเรื้อรังที่รุนแรงหรือมีภูมิคุ้มกันที่บกพร่องมาก และถ้าไม่มีอาการของโควิดที่รุนแรง คือ มีไข้สูง (วัดได้เกิน 38 องศาเซลเซียสติดต่อกันเกิน 6 ชั่วโมง) หรือ มีอาการหอบเหนื่อย (ขณะพัก หายใจเร็วตั้งแต่ 22 ครั้งต่อนาทีขึ้นไป หรือวัดความอิ่มตัวออกซิเจนปลายนิ้วได้ตั้งแต่ 94% ลงไป หรือมีชีพจรเต้นเร็วเกิน 100 ครั้งต่อนาที) สามารถรักษาตัวตามอาการอยู่ที่บ้านได้ ไม่จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัส ซึ่งช่วยทำให้ลดภาระของโรงพยาบาลที่ปัจจุบันกำลังกลับไปให้การรักษาผู้ป่วยอื่นตามศักยภาพเดิม และรับรักษาผู้ป่วยโควิดเฉพาะรายที่มีอาการรุนแรง ระหว่างรักษาตัวนั้น ให้แยกกักตัวจากผู้อื่นเป็นเวลาอย่างน้อย 10 วัน แต่ถ้าจำเป็น กรณีไม่มีไข้ ไม่ไอ ไม่จาม แล้วอย่างน้อย 5 วันและมีผลตรวจเอทีเคเป็นลบ สามารถมีกิจกรรมนอกบ้านได้แบบระมัดระวังตัวเต็มที่ไปอีก 5 วัน โดยให้ใส่หน้ากากสองชั้น หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ผู้อื่น หลีกเลี่ยงการใช้ขนส่งสาธารณะ และไม่ปลดหน้ากากเมื่ออยู่กับผู้อื่นโดยเฉพาะขณะกินอาหาร ในระหว่างและภายหลังแยกกักตัว ให้ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อข้าวของเครื่องใช้และสิ่งแวดล้อมในที่พักตามคำแนะนำ

 

4.เมื่อหายจากโควิดแล้ว ปัจจุบันมีโอกาสการเกิดภาวะลองโควิดลดลงกว่าเดิมมาก เป็นผลจากวัคซีนที่ช่วยทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายพยายามกำจัดเชื้อโดยไม่ย้อนกลับมาทำร้ายตัวเอง ดังนั้นถ้าหลังหายจากโควิดเป็นเวลาอย่างน้อย 4 สัปดาห์ แล้วมีอาการที่หลงเหลือมาจากช่วงติดโควิด หรือมีอาการที่เกิดขึ้นใหม่ โดยอาการนั้นรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันชัดเจน เช่น ไอ หอบเหนื่อย เจ็บหน้าอก อ่อนเพลียอ่อนล้า ปวดเมื่อยเนื้อตัว สมองตื้อ ปวดศีรษะนอนไม่หลับ อืดแน่นท้อง ท้องผูกหรือท้องเสีย ฯลฯ ควรติดต่อขอคำปรึกษาจากแพทย์   

 

หากทุกฝ่ายให้ความร่วมมือกันเป็นอย่างดี อีกไม่นานเราจะเข้าสู่ยุคหลังโควิด ที่โรคโควิด-19 จะเป็นหนึ่งในโรคไข้หวัดตามฤดูกาล และต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันเป็นประจำทุกปี แล้วภาพการทำงานภายใต้ชุดคล้ายมนุษย์อวกาศ จะเป็นเพียงหนึ่งในความทรงจำที่ยากลืมเลือน