สธ.กางแผนคุมโควิด-19 หลังยุบ ศบค. ชี้อาจระบาดอีกแต่แรงแค่ไข้หวัดใหญ่

26 ก.ย. 2565 | 08:06 น.

“อนุทิน” นำทีมแถลงแผนควบคุมป้องกัน โควิด-19 หลังยุบ ศบค. ปรับเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง 1 ต.ค.นี้ เช็ครายละเอียดแนวทางการบริหารภาครัฐ ภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ของกระทรวงสาธารณสุข พร้อมประเมินสถานการณ์ หลัง สธ. ชี้อาจระบาดอีกแต่แรงเหมือนกับไข้หวัดใหญ่

วันนี้ ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุข ร่วมแถลงแผนควบคุมป้องกัน "โควิด 19" หลังยุบ ศบค. และปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 นี้ 

 

นายอนุทิน กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เซ็นประกาศยกเลิก โควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย และปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตามคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีผลในวันที่ 1 ตุลาคม 2565

 

ส่วนที่ประชุม ศบค. ล่าสุด ก็ได้เห็นชอบยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งแห่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งหมด มีผลวันที่ 30 กันยายน นี้ และให้หน่วยงานต่าง ๆ นำมาตรการตามกฎหมายเข้ามาแก้ไขปัญหาตามปกติ

แผนควบคุมป้องกัน "โควิด 19"

 

ทั้งนี้ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขมี พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เป็นเครื่องมือหลักในการบริหารสถานการณ์ในระยะถัดไป โดยมีกลไกทั้งระดับชาติ ระดับจังหวัด และระดับพื้นที่ ซึ่งอาจมีการปรับลดระดับความเข้มข้นของมาตรการตามสถานการณ์ เพื่อให้สังคมและเศรษฐกิจประเทศเดินหน้าต่อไปได้ 

 

นอกจากนี้ ยังจัดทำแผนปฏิบัติการควบคุมโรคโควิด 19 รองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เป็นกรอบการดำเนินงานให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติต่อไป 

 

“ยืนยันว่า ภายใต้กลไกของ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ยังสามารถบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนแผนได้ต่อเนื่อง โดยไม่กระทบสิทธิของประชาชน และรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยให้ยั่งยืนต่อไปได้”
 

นายอนุทิน ยอมรับว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ทั่วโลกรวมทั้งไทย กำลังกลับเข้าสู่ภาวะใกล้เคียงปกติ มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในระดับต่ำมาก ภาพรวมมีความปลอดภัยเพิ่มขึ้นมาก ส่วนประเทศไทยถือว่าประสบผลสำเร็จในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 จนได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลกและประชาคมโลก 

โดยมีอัตราป่วยและเสียชีวิตระดับต่ำ ขณะที่ประชาชนมากกว่า 92% มีภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนถึง 143.16 ล้านโดส และบางส่วนมีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ โดยในช่วงเดือนกันยายนนี้ มีผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยที่ต้องรักษาในโรงพยาบาลและผู้เสียชีวิตลดลงมาก รวมถึงมีอาการไม่รุนแรง 

 

สำหรับแผนควบคุมป้องกัน โควิด-19 หลังยุบ ศบค. และปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง มีการเตรียมความพร้อม ดังนี้

  • โรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 900 แห่ง 
  • โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 9,000 แห่ง 
  • บุคลากรทางการแพทย์ 4 แสนคน 
  • เตียงผู้ป่วย 73,000 เตียง (ขณะนี้มีผู้ป่วยโควิดนอนรักษา 4,800 คนคิดเป็น 6% เป็นการครองเตียงระดับ 2.1 และระดับ 1 คือ กลุ่มอาการไม่รุนแรง ประมาณ 90%) 

 

ส่วนยารักษานั้น มีรายละเอียดดังนี้

  • ยาฟาวิพิราเวียร์คงเหลือ 5.6 ล้านเม็ด ใช้เฉลี่ย 5.8 หมื่นเม็ดต่อวัน เพียงพอใช้ 3.1 เดือน 
  • ยาโมลนูพิราเวียร์คงเหลือ 20.3 ล้านเม็ด ใช้เฉลี่ย 1.48 แสนเม็ดต่อวัน เพียงพอใช้ 4.5 เดือน 
  • ยาเรมดิซีเวียร์คงเหลือ 2.3 หมื่นขวด ใช้เฉลี่ย 1.2 พันขวดต่อวัน เพียงพอใช้ครึ่งเดือน 

 

ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุข ยังมีแผนจะจัดซื้อยารักษาประเภทต่าง ๆ ดังนี้

  • ยาฟาวิพิราเวียร์เพิ่ม 10 ล้านเม็ด เพียงพอใช้ 5.5 เดือน 
  • ยาโมลนูพิราเวียร์ 35 ล้านเม็ด เพียงพอใช้ 7.2 เดือน 
  • ยาเรมดิซีเวียร์ 3 แสนขวด เพียงพอใช้ 8.2 เดือน 

 

แผนควบคุมป้องกัน "โควิด 19"

 

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง โดยประเมินว่าหลังจากนี้จะพบการระบาดของโรคโควิด 19 เป็น Small Wave ลักษณะเป็นตามฤดูกาลเหมือนกับโรคไข้หวัดใหญ่ และมีอัตราเสียชีวิตใกล้เคียงกันคือ 0.01%

 

"ประชาชนยังสามารถรับบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตามสถานพยาบาลที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม.กำหนด เน้นฉีดในกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไปและโรคเรื้อรัง ส่วนการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นปีละ 1-2 ครั้งเหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ขณะนี้ยังไม่มีคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกหรือสถาบันที่เชื่อถือได้ ขอให้รอคำแนะนำจากคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค รวมทั้งข้อมูลวัคซีนรุ่นใหม่และระยะเวลาที่ป้องกันโรคได้" นพ.โอภาสกล่าว

 

อย่างไรก็ตามตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ประชาชนยังสามารถรักษาพยาบาลโรคโควิด-19 ได้ฟรีจากกองทุนสุขภาพที่ผู้ป่วยมีสิทธิ เช่น หลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ เป็นต้น ส่วนกรณีผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีอาการฉุกเฉินวิกฤตสีแดง สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ทั้งสถานพยาบาลภาครัฐหรือเอกชนตามสิทธิ UCEP Plus จนกว่าจะหายป่วย 

 

แตกต่างจากสิทธิ UCEP ปกติที่เมื่อครบ 72 ชั่วโมงจะต้องส่งกลับไปรักษาที่สถานพยาบาลตามสิทธิ โดยสถานพยาบาลจะเบิกค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตามระบบ UCEP Plus ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ส่วนแรงงานต่างด้าวหากมีประกันสุขภาพก็สามารถใช้ประกันในการรักษาได้ฟรี