รัฐเสนอร่าง พ.ร.บ. โรคติดต่อฉบับใหม่ เพราะอะไร หลัง พรก.ฉุกเฉินยุติ เช็คเลย

24 ก.ย. 2565 | 00:11 น.

รัฐเสนอร่าง พ.ร.บ. โรคติดต่อฉบับใหม่ เพราะอะไร หลัง พรก.ฉุกเฉินยุติ เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ หมอเฉลิมชัยชี้ ศบค. ต้องหมดอายุตามไปด้วย

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

Breaking News : ยกเลิกพรก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯ และศบค.ไปพร้อมกัน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์โควิด-19

 

นับจากที่ประเทศไทยประสบกับปัญหาโรคโควิดระบาดต่อเนื่องตั้งแต่มกราคม 2563 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ติดเชื้อนับล้านราย และเสียชีวิต 30,000 รายเศษ

 

จนต้องใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน มาช่วยเสริมพระราชบัญญัติโรคติดต่อ 2558

 

เพื่อให้เกิดการบูรณาการข้ามกระทรวง ออกไปจากกระทรวงสาธารณสุขได้  จึงเกิดศบค.( ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) ขึ้นโดยอัตโนมัตินั้น
 

ขณะนี้สถานการณ์ของโควิด-19 ดีขึ้นเป็นลำดับ จนในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 จะเปลี่ยนแปลงโควิดจากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคติดต่อที่เฝ้าระวัง

 

จึงทำให้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ 2558 เพียงพอที่จะรองรับสถานการณ์ของโควิดได้แล้ว

 

จึงได้มีมติ ไม่ต่ออายุการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งจะหมดอายุในวันที่ 30 กันยายน 2565

 

รัฐเสนอร่าง พ.ร.บ. โรคติดต่อฉบับใหม่

 

ดังนั้นคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงไม่ต้องมีมติใดเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว เพียงแต่ไม่ต้องพิจารณาต่ออายุให้ พระราชกำหนดก็จะหมดอายุไปโดยอัตโนมัติ ส่งผลให้ศบค.ต้องหมดอายุไปด้วย นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565

 

อย่างไรก็ตามถ้า โควิด-19 มีการเปลี่ยนแปลงไป ก็สามารถที่จะปรับมาตรการต่างๆให้มีความเหมาะสมได้
 

แนวโน้มที่สำคัญคือ ขณะนี้รัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติโรคติดต่อฉบับใหม่ อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว

 

เพื่อให้สามารถรับมือกับโรคระบาดขนาดใหญ่ลักษณะเดียวกับ โควิด-19 ได้สำเร็จ โดยที่ไม่ต้องพึ่งพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินอีกต่อไป