ไขคำตอบ "ไข้หวัดมะเขือเทศ" อาการเป็นอย่างไร

28 ส.ค. 2565 | 00:45 น.

“หมอยง” ไขคำตอบ กรณี "ไข้หวัดมะเขือเทศ" เกิดขึ้นที่ประเทศอินเดียในขณะนี้ มีอาการเป็นอย่างไรบ้าง เช็ครายละเอียด

ศ.นพ. ยง ภู่วรวรรณ หรือ "หมอยง" หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความระบุว่า ดังที่เป็นข่าวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่มีการกล่าวถึง ไข้หวัดมะเขือเทศ (Tomato Flu) เกิดขึ้นที่ประเทศอินเดีย เมือง Kerala ในเด็กต่ำกว่า 5 ปี ร่วมร้อยคน และยังมีการพบเพิ่มเติมที่เมือง Tamil Nadu และ Odisha

การตั้งชื่อไข้หวัดมะเขือเทศ เพราะเด็กที่ป่วยจะมีลักษณะดังนี้

  • ผื่นแดง เป็นตุ่มน้ำ คล้ายมะเขือเทศ 
  • จะมีอาการเริ่มต้นคล้ายไข้หวัด คือมีไข้ ปวดเมื่อยเนื้อเมื่อยตัว
  • ต่อมามีผื่นขึ้น ผื่นที่ขึ้นจะมีลักษณะแดง และเป็นตุ่มน้ำ

โรคไม่รุนแรงและหายได้เอง ไม่มีผู้ใดเสียชีวิต จากการสันนิษฐานลักษณะอาการคล้าย ไข้ปวดข้อยุงลาย (Chikungunya) ไข้เลือดออก มือเท้าปาก ที่จริงแล้วการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุไวรัสในปัจจุบัน ไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอินเดียน่าจะรู้แล้วว่าเกิดจากไวรัสตัวไหน แต่ปัจจุบันยังไม่มีประกาศออกมาเป็นทางการ

 

"จากที่ได้ติดตาม และดูลักษณะผื่นที่ขึ้นจากรูปถ่าย ที่รายงานตามหนังสือพิมพ์ของอินเดีย  บอกได้ว่า ลักษณะนี้คือผื่นที่ขึ้นเหมือนกับ โรคมือเท้าปาก ที่พบในบ้านเรา โดยเชื้อหลักของลักษณะผื่นแบบนี้ คือ Coxsackie A6 ลักษณะผื่นๆที่ขึ้นที่มือ ที่เท้า ที่ข้อศอก ข้อเข่า รอบก้น และถ้าเป็นมาก ก็จะดูค่อนข้างรุนแรง ซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะของเชื้อไวรัส CA6 ที่เราได้ติดตามมาตั้งแต่ปี 2012 เคยระบาดในบ้านเรา และในปีนี้ ในบ้านเราก็ระบาดด้วยสายพันธุ์ CA6 และมีลักษณะผื่นค่อนข้างรุนแรง ดังแสดงในรูป เป็นโรคมือเท้าปากที่พิสูจน์แล้วว่าเป็น จากเชื้อไวรัส CA6 ส่วนมากเป็นในเด็ก แต่ก็เคยพบในผู้ใหญ่" 

 

รูปที่แสดง เป็น โรคมือเท้าปาก เชื้อ CA6 ส่วนไข้ปวดข้อยุงลาย เท่าที่ติดตามอยู่ขณะนี้ ในเด็กเล็กจะมีอาการปวดข้อน้อยมาก ไม่เหมือนผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ

 

อย่างไรก็ตาม คงต้องติดตามว่าไวรัสที่เกิดในอินเดียเกิดจากตัวไหน จากการคาดการณ์เชื่อว่าเกิดจากเชื้อไวรัส Coxsackie ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคมือเท้าปาก และไม่รุนแรง ไม่เหมือนเชื้อ enterovirus A 71 ที่อาจทำให้เกิดสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก