ผลวิจัยเกี่ยวกับไวรัสโควิด “โอมิครอน” เผยถึงสิ่งน่ากังวลที่เราไม่เคยรู้

19 ส.ค. 2565 | 03:13 น.

ผลวิจัยใหม่ ๆ เกี่ยวกับไวรัสโควิด “โอมิครอน” ยังคงมีออกมาเรื่อย ๆ ล่าสุดงานวิจัยจากผู้เชี่ยวชาญนานาประเทศ ทำให้เราได้รู้ว่า เด็กสามารถรับเชื้อโอมิครอนทางจมูกได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า และปัญหาการ ไม่ได้กลิ่นหลังติดเชื้อ อาจบ่งบอกถึงปัญหาทางสมอง-ความจำในอนาคต

การศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส ในปัจจุบัน ได้แสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อไวรัสนี้ ที่หลายคนยังไม่เคยทราบมาก่อน ทั้งเรื่องความสามารถในการแพร่กระจายของเชื้อสายพันธุ์ โอมิครอน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กๆ และข้อบ่งชี้ถึงปัญหาในอนาคตที่อ้างอิงจาก อาการป่วยโควิด-19 ที่บางคนเคยเป็น

 

สำนักข่าวรอยเตอร์ ได้รวบรวมบทสรุปของ ผลการศึกษาล่าสุดเกี่ยวกับโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งรวมถึงผลการศึกษาที่น่าเชื่อถือ และน่าจะนำไปสู่การค้นคว้าเพิ่มเติม รวมทั้งรายงานที่ยังรอการประเมินคุณภาพโดยผู้เชี่ยวชาญรายอื่น ๆ ก่อนจะมีการตีพิมพ์ ไว้ดังนี้

ผลวิจัยเกี่ยวกับไวรัสโควิด “โอมิครอน” เผยถึงสิ่งน่ากังวลที่เราไม่เคยรู้

1.เด็กๆ รับเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนทางจมูกได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ

การศึกษาชิ้นเล็ก ๆ ชิ้นหนึ่ง ระบุว่าโคโรนาไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนอาจแพร่เชื้อไปสู่เด็กผ่านทางจมูกได้ง่ายกว่าโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ก่อนหน้านี้

ในช่วงต้นของการระบาดใหญ่ของโควิด-19 จมูกของเด็กรับเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโควิด-19 ได้น้อยกว่าจมูกของผู้ใหญ่ โดยการศึกษาเชื้อไวรัส ซาร์ส-โควี-ทู สายพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์อื่น ๆ พบว่า เซลล์เยื่อบุจมูกของเด็ก ๆ มีภูมิคุ้มกันไวรัสเหล่านั้นได้ดีกว่าเซลล์เยื่อบุจมูกของผู้ใหญ่ และไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวก็ไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้มากเมื่ออยู่ในจมูกของเด็ก ๆ

 

อย่างไรก็ตาม วารสาร PLOS Biology ฉบับที่เพิ่งได้รับการตีพิมพ์ออกมาเมื่อต้นเดือนสิงหาคม เปิดเผยว่า การทดลองในห้องปฏิบัติการเมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งมีการผสมไวรัสกับเซลล์จมูกจากเด็กสุขภาพดี 23 คนและผู้ใหญ่สุขภาพดี 15 คน แสดงให้เห็นว่า การต้านไวรัสในจมูกของเด็ก “มีความเด่นชัดน้อยกว่า” ในกรณีของ ไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน และนักวิจัยยังรายงานด้วยว่า โควิดสายพันธุ์โอมิครอนสามารถแบ่งตัวได้มากขึ้นในเซลล์เยื่อบุจมูกของเด็ก เมื่อเทียบกับทั้งสายพันธุ์เดลต้าและสายพันธุ์ดั้งเดิม

 

นักวิจัยเผยว่า "ข้อมูลเหล่านี้สอดคล้องกับจำนวนการติดเชื้อในเด็กที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่โควิดสายพันธุ์โอมิครอนกำลังแพร่ระบาด" พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องนี้อีกด้วย

ผลวิจัยเกี่ยวกับไวรัสโควิด “โอมิครอน” เผยถึงสิ่งน่ากังวลที่เราไม่เคยรู้

2.การรับรู้กลิ่นที่มีปัญหาอาจเป็นสัญญาณปัญหาสมองและความจำในอนาคต

การศึกษาอีกชิ้นจากประเทศอาร์เจนตินา ระบุว่า ระดับความรุนแรงของความผิดปกติในการรับรู้กลิ่นหลังการติดเชื้อโควิดนั้น อาจเป็นสิ่งที่ทำนายภาวะถดถอยทางสมองในระยะยาวได้ โดยนักวิจัยได้ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างแบบสุ่มจำนวน 766 คนที่มีอายุมากกว่า 60 ปี โดยประมาณ 90% ในจำนวนนี้เคยติดเชื้อโคโรนาไวรัสมาแล้ว

 

นักวิจัยได้ทำการการทดสอบทางกายภาพ ความรู้ความเข้าใจ และอาการทางจิตประสาทของคนกลุ่มนี้เป็นเวลา 3-6 เดือนหลังจากการติดเชื้อ และพบว่า 2 ใน 3 ของผู้ที่เคยติดเชื้อมีอาการ “ความจำเสื่อม” ในระดับหนึ่ง และหลังจากพิจารณาปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ของแต่ละบุคคล เช่น การสูญเสียการรับรู้กลิ่นอย่างรุนแรง หรือ Anosmia แล้ว ก็ทำให้สามารถทำนายภาวะถดถอยทางสมองได้อย่างมีนัยสำคัญ ตามรายงานของนักวิจัยในการประชุม Alzheimer's Association International Conference ประจำปี 2022 ที่เมืองซานดิเอโก

 

กาบรีเอลา กอนซาเล-อาเลแมน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Pontificia Universidad Catolica Argentina ในกรุงบัวโนสไอเรส เปิดเผยว่า “ยิ่งมีข้อมูลเชิงลึกมากขึ้นเกี่ยวกับสาเหตุ หรืออย่างน้อยก็คาดการณ์ได้ว่าใครจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะถดถอยทางสมองในระยะยาวอย่างมีนัยสำคัญจากการติดเชื้อโควิด-19 เราก็จะสามารถจะติดตามและเริ่มพัฒนาวิธีการป้องกันได้ดียิ่งขึ้น”

 

3.ความเชื่อมโยงระหว่างมาตรการบังคับฉีดวัคซีนโควิดและ จนท.บ้านพักคนชรา

การศึกษาพบว่า ข้อกำหนดที่ให้เจ้าหน้าที่ในบ้านพักคนชราในสหรัฐอเมริกาฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 นั้นบรรลุผลตามที่ต้องการ และไม่ได้นำไปสู่การลาออกจำนวนมาก หรือการขาดแคลนเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด

 

รายงานของนักวิจัยใน JAMA Health Forum ระบุว่า ในรัฐที่ไม่ได้มีข้อบังคับดังกล่าวกลับมีการขาดแคลนเจ้าหน้าที่ในช่วงเวลาที่ทำการศึกษา โดยข้อมูลที่รวบรวมตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน จนถึงกลางเดือนพฤศจิกายน ปี 2021 จากเครือข่าย National Healthcare Safety Network แสดงให้เห็นว่า ใน 12 รัฐที่ออกกฎข้อบังคับให้ฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 นั้น อัตราการฉีดวัคซีนในกลุ่มพนักงานอยู่ระหว่าง 78.7% ถึง 95.2%

 

ส่วนรัฐที่ไม่ได้ออกกฎข้อบังคับกลับมี “อัตราการฉีดวัคซีนลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงเวลาการศึกษา” และยังรายงาน “การขาดแคลนพนักงานในอัตราที่สูงขึ้นตลอดระยะเวลาการศึกษา” อีกด้วย

 

ข้อมูลอ้างอิง