"ฝีดาษลิง" ทำไมตุ่มขึ้นที่อวัยวะเพศ ติดยาก-ง่าย กว่าโควิดแค่ไหน

06 ส.ค. 2565 | 05:30 น.

ไขข้อสงสัย "ฝีดาษลิง" ทำไมตุ่มขึ้นที่บริเวณอวัยวะเพศ เเล้วอัตราการติดยากหรือง่าย กว่าโควิดมากน้อยแค่ไหน กี่เปอร์เซ็น

สถานการณ์ ฝีดาษลิง (Monkeypox virus) ในประเทศไทย พบผู้ป่วยยืนยันรายที่ 4 ของประเทศ เป็นหญิงไทย อายุ 22 ปี มีประวัติเสี่ยงไปเที่ยวสถานบันเทิงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ย่านที่ชาวต่างชาตินิยมมาเที่ยวเป็นประจำประมาณสัปดาห์ละครั้ง และมีการสัมผัสใกล้ชิดกับชายชาวต่างชาติ

ถือเป็นผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงรายที่ 4 และเป็นเพศหญิงรายแรกในประเทศ โดยผู้ติดเชื้อรายแรกเป็นชายชาวไนจีเรียที่ภูเก็ต รายที่ 2 ชายชาวไทย ในกรุงเทพมหานคร และรายที่ 3 ชายชาวเยอรมันที่ จ.ภูเก็ต

สำหรับ "ฝีดาษลิง" หลายคนสังสัยว่า ทำไมตุ่มจึงขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ระบุดังนี้

 

ลักษณะแตกต่างของตำแหน่งที่ผื่นขึ้นหรือตุ่มน้ำ ระหว่างผู้ป่วยที่เกิดในแอฟริกา กับผู้ป่วยที่พบนอกแอฟริกา จะเห็นว่าประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยที่เกิดขึ้นนอกแอฟริกามีตุ่มขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ หรือส่วนที่ทำกิจกรรมทางเพศ เพราะการเกิดในแอฟริกา ส่วนใหญ่เริ่มต้นจากสัตว์สู่คน ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ฟันแทะจำพวกหนู การที่ได้รับเชื้อจะรับเชื้อทางการสัมผัส หรือเข้าทางระบบทางเดินหายใจ เชื้อจะเข้าสู่กระแสเลือดและต่อมน้ำเหลือง ที่ทำให้ต่อมน้ำเหลืองโต มีไข้เมื่อยเนื้อ เมื่อยตัว แล้วหลังจากนั้นจึงมีตุ่มน้ำเกิดขึ้น การเกิดจะเกิดส่วนปลายของร่างกายก่อน เช่น แขน ขา ศีรษะ แล้วค่อยมาที่ลำตัว ดังนั้นการเกิดจากการกระจายไปตามกระแสโลหิต ลักษณะตุ่ม จึงเกิดในระยะเดียวกันหรือใกล้เคียงกันหรือเรียกว่าสุกพร้อมกัน

 

แต่การเกิดในผู้ป่วยนอกแอฟริกาจะมี 2 ระยะ ระยะแรกคือการสัมผัสโดยเฉพาะในกิจกรรมทางเพศ เชื้อจะเข้าตามรอยถลอกของร่างกาย จึงเปรียบเสมือนเป็นการปลูกฝีแบบสมัยก่อน สมัยก่อนเราปลูกฝีโดยการหยดหนองฝีที่ต้นแขน แล้วใช้เข็มแหลม สะกิดหรือข่วน ให้เป็นรอยถลอกเล็กน้อย ตุ่มหนองฝี จะขึ้นตามตำแหน่งที่เราข่วน หรือรอยถลอก แล้วก็หายไป ร่างกายก็จะสร้างภูมิต้านทานขึ้น ยกเว้นในรายที่มีภูมิต้านทานต่ำ เชื้อจะเข้าสู่กระแสโลหิตแล้วเกิดการกระจายตัวของตุ่มได้ทั้งตัว 

 

การเกิดตุ่มในผู้ป่วยนอกแอฟริกาที่กำลังระบาดอยู่นี้ หลายหมื่นคน จะอยู่ในกลุ่มเพศชายถึง 98%  และมีตุ่มเกิดขึ้นที่บริเวณอวัยวะเพศถึง 40%  และผู้ป่วยมักจะพบร่วมกับ โรคที่เกี่ยวข้องกับเพศสัมพันธ์ร่วมด้วย การเกิดโรคจึงมี 2 ระยะระยะแรกตุ่มที่ขึ้นจะขึ้นบริเวณอวัยวะเพศก่อน เกิดจากเชื้อสัมผัสกับรอยขูดถลอก หรือบริเวณที่สัมผัส รอยโรคจะเกิดขึ้นคล้ายกับการปลูกฝี แต่เมื่อเชื้อเข้าสู่กระแสโลหิต แล้วกระจายไปทั่วจึงค่อยเกิดตุ่ม ที่ศีรษะแขนขาและลำตัว ตามมาทีหลัง ระยะต่างๆของตุ่มที่เกิดจึงไม่ได้อยู่ในระยะเดียวกันทั้งหมด

การติดต่อของโรคนี้ที่เกิดขึ้นนอกแอฟริกา จึงอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ และเป็นเพศชายเป็นส่วนใหญ่ แต่ต่อไปในอนาคต กิจกรรมทางเพศ จะกระจายไปเข้าสู่เพศหญิงได้ แล้วในที่สุด โรคนี้จึงเป็น โรคที่ยากต่อการควบคุม  เเต่การติดของโรคนี้ ติดได้ยากกว่าโรค covid-19 เป็นร้อยเท่า ดังนั้นกลุ่มเสี่ยงเท่านั้นที่จะมีโอกาสได้รับเชื้อในระยะแรกนี้