7 พฤษภาคม 2568 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดยมีมติเห็นชอบ "สิทธิประโยชน์การรักษาคนไข้ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป (Hyperthyroidism) ที่มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษรุนแรงด้วยวิธีการกรองพลาสมา (Plasmapheresis)" เพื่อเป็นหนึ่งในทางเลือกการรักษาให้กับผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ซึ่งดำเนินการจากข้อเสนอของสมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ในการดำเนินงานการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีหลักการสำคัญ คือ การดูแลประชาชนที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพภาครัฐรองรับ ให้เข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขที่จำเป็นได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง ทั้งนี้รวมถึงโรคที่มีภาวะซับซ้อนที่ต้องได้รับการรักษาระดับตติยภูมิ โดยพิจารณาควบคู่กับงบประมาณในระบบ
ในวันนี้บอร์ด สปสช. ได้พิจารณาและเห็นชอบ "สิทธิประโยชน์การรักษาคนไข้ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไปที่มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษรุนแรง (Thyroid crisis) และไม่ตอบสองต่อการใช้ยารักษาด้วยวิธีการกรองพลาสมา" โดยให้เริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2568 เบิกจ่ายจากงบผู้ป่วยในตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (Diagnosis Related Groups : DRGs) เนื่องจากมีผลกระทบต่อภาระงบประมาณไม่มาก โดยที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายสำหรับบริการฯ แล้ว
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบให้ สปสช.ประสานสมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย เรื่องแนวทางเวชปฏิบัติการทำวิธีการกรองพลาสมาในการรักษาคนไข้ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป และประสานกระทรวงสาธารณสุขเพื่อเตรียมความพร้อมในการให้บริการ
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ข้อเสนอสิทธิประโยชน์นี้ ทางสมาคมต่อมไร้ท่อได้เสนอเพื่อเพิ่มการรักษาให้กับผู้ป่วย โดย สปสช.ได้นำเข้าสู่โครงการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ ยูซีบีพี (UCBP) และจากฐานข้อมูล E-Claim สปสช. พบว่า ปี 2567 มีผู้ป่วยต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป จำนวน 33,319 คน มีเพียงจำนวน 33 คนที่ต้องรักษาด้วยวิธีการกรองพลาสมา ในจำนวนผู้ป่วยมีภาวะไทรอยด์เป็นพิษรุนแรง จำนวน 1,719 คน มีเพียง 20 คน ที่ต้องรักษาด้วยวิธีการกรองพลาสมา
สำหรับการรักษาวิธีนี้จะให้การดูแลเฉพาะผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ คือ ผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษรุนแรงที่มีข้อห้ามในการใช้ยาต้านไทรอยด์ หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาและเพื่อการเตรียมความพร้อมผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษรุนแรงก่อนการรักษาด้วยการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ โดยการให้บริการจะต้องดำเนินการภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทางและบุคลากรที่ผ่านการฝึกอบรม ซึ่งเป็นบริการเฉพาะในโรงพยาบาลตติยภูมิและโรงพยาบาลเอกชน
ในส่วนของค่ารักษานั้น เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า จากการคำนวณด้วยค่า DRGs เฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 25,000 บาท/ราย โดยปีงบประมาณ 2568 ในช่วงเวลาที่เหลือคาดว่า จะมีผู้ป่วยจำนวน 70 ราย และปี 2569 คาดการณ์ผู้ป่วยมีจำนวน 170 ราย จากข้อมูลนี้สะท้อนถึงภาระงบประมาณที่ไม่มาก แต่ทำให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรับการรักษาด้วยวิธีนี้สามารถเข้าถึงได้
"ต่อมไทรอยด์ มีหน้าที่ในสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ที่มีความสำคัญต่อการทำงานของอวัยวะทุกส่วน ช่วยให้ร่างกายมีความสมดุล แต่หากต่อมไทรอยด์ทำงานมากจนเกินปกติ สร้างฮอร์โมนไทรอยด์มากกว่าที่ร่างกายต้องการก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพที่ร้ายแรงได้ ซึ่งผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาและเข้าถึงวิธีการรักษาที่จำเป็นในกรณีที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยยา ดังนั้น ทางบอร์ด สปสช. จึงเห็นชอบให้ สปสช. ดำเนินการในวันนี้" เลขาธิการ สปสช. กล่าว