โรคแอนแทรกซ์ เชื้อร้ายจากสัตว์สู่คน กรมการแพทย์แนะวิธีรับมือ

07 พ.ค. 2568 | 06:05 น.
อัปเดตล่าสุด :09 พ.ค. 2568 | 06:51 น.

กรมการแพทย์ เผยอันตรายของ โรคแอนแทรกซ์ เชื้อร้ายแรงจากสัตว์สู่คนที่อาจถึงขั้นเสียชีวิต เผยสัญญาณเตือนเป็น "แผลตุ่มพองกลายเป็นสะเก็ดสีดำ" แนะวิธีรับมือกับโรคนี้

สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ระบุว่า โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดรุนแรงที่สามารถพบได้ในสัตว์กินพืช เช่น วัว ควาย แพะ แกะ และสามารถแพร่สู่คนได้หากมีการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ โรคนี้แม้จะพบไม่บ่อยแต่หากติดเชื้อแล้วและไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ จึงควรมีความรู้เท่าทันเพื่อป้องกันและดูแลตนเองอย่างเหมาะสม

นายแพทย์สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า เชื้อที่ก่อให้เกิดโรคแอนแทรกซ์ คือ Bacillus anthracis ซึ่งเป็นแบคทีเรียแกรมบวกชนิดสร้างสปอร์ สปอร์เหล่านี้สามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานหลายปีและสามารถทนต่อความร้อน ความแห้ง และสารเคมีได้ดี

เมื่อสปอร์ของเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าจะทางผิวหนัง ทางเดินหายใจ หรือทางเดินอาหาร จะเปลี่ยนสภาพเป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีชีวิตและปล่อยสารพิษ (toxin) ที่ทำลายเซลล์และเนื้อเยื่อรอบข้าง ทำให้เกิดอาการอักเสบ รุนแรง และอาจลุกลามถึงระบบไหลเวียนโลหิตและอวัยวะสำคัญต่าง ๆ

นายแพทย์สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์

หากพบอาการผิดปกติ เช่น ผื่นแผลดำ ไข้ หายใจลำบาก หรือปวดท้องรุนแรง ภายหลังจากสัมผัสสัตว์หรือเนื้อสัตว์ ควรรีบพบแพทย์ทันที อย่าอย่าละเลยอาการผิดปกติหรือซื้อยารับประทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ด้านนายแพทย์วีรวัต อุครานันท์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า สำหรับการติดต่อสู่มนุษย์ สามารถเกิดขึ้นได้ 3 ทางหลัก ได้แก่

1. ทางผิวหนัง จากการสัมผัสกับสัตว์ติดเชื้อหรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น หนัง ขน เขา หรือเนื้อ

2. ทางเดินหายใจ จากการสูดละอองฝุ่นที่มีสปอร์ของเชื้อ

3. ทางเดินอาหาร จากการกินเนื้อสัตว์ติดเชื้อที่ปรุงไม่สุก

ลักษณะผื่นมีอาการเริ่มต้นด้วยตุ่มแดง จากนั้นกลายเป็นตุ่มพองที่มีของเหลวใส ต่อมาจะกลายเป็นแผลตรงกลางมีสะเก็ดสีดำ (black eschar) โดยรอบจะบวมแดง อาจเจ็บหรือไม่เจ็บก็ได้ มักพบที่มือ แขน หรือใบหน้า โดยแพทย์จะวินิจฉัยจากประวัติสัมผัสสัตว์หรือผลิตภัณฑ์สัตว์ ร่วมกับตรวจร่างกาย และตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การเพาะเชื้อ การย้อมสีแกรม หรือการตรวจ DNA ด้วยวิธี PCR 

นายแพทย์วีรวัต อุครานันท์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง

นายแพทย์สุตศรัญย์ พรึงลำภู นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการของโรคในระบบต่าง ๆ ของร่างกายนอกจากผิวหนัง โรคแอนแทรกซ์ยังส่งผลต่อระบบอื่น ๆ ได้แก่

ระบบทางเดินหายใจ: เริ่มจากไข้ ไอ เหนื่อย และลุกลามเป็นหายใจลำบากหรือช็อก

ระบบทางเดินอาหาร: คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเป็นเลือด อาจลุกลามถึงลำไส้ทะลุ

ระบบโลหิต: เชื้อเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เกิดภาวะโลหิตเป็นพิษร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยในระยะเริ่มต้น จะสามารถรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลิน (Penicillin) ซิโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) หรือโดซีไซคลิน (Doxycycline) ซึ่งต้องเริ่มให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะในผู้ที่มีการติดเชื้อทางเดินหายใจหรือโลหิต เพื่อป้องกันการเสียชีวิต

การป้องกัน

  • ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ที่ป่วยหรือตายโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • สวมอุปกรณ์ป้องกันเมื่อทำงานเกี่ยวกับสัตว์
  • รับประทานเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกเสมอ