สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมศักยภาพในการควบคุมการบริโภคบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าอย่างยั่งยืน โดยมีเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จากทั่วประเทศเข้าร่วม พร้อมนำเสนอพื้นที่ต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการสร้าง อปท.ปลอดบุหรี่
นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกรรมการกองทุน สสส. และประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 1 เปิดเผยข้อมูลที่น่าตกใจว่า ปัจจุบันมีผู้สูบบุหรี่ในประเทศไทยมากถึง 9.7 ล้านคน โดยพบสัดส่วนเยาวชนอายุ 12-15 ปี ที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าสูงถึงเกือบ 20% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
"บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่แค่ภัยสุขภาพ แต่เป็น 'จุดเริ่มต้น' ของการติดสารเสพติดชนิดอื่น เพราะสารนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าเข้มข้นมาก ติดง่าย ติดเร็ว ทำให้สมองของเด็กเสียสมดุล และมีโอกาสสูงที่จะหันไปใช้สารเสพติดอื่นในอนาคต"
สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ บุหรี่ไฟฟ้ามักมาในรูปแบบที่ไม่มีควัน มีกลิ่นหอม ดูไม่อันตราย จึงเข้าถึงง่ายและหลอกลวงสายตาผู้ปกครองได้อย่างแนบเนียน อาทิ รูปแบบตุ๊กตา ปากกา หรือสายคล้องคอ แม้รัฐบาลจะมีนโยบายปราบปราม แต่ก็ยังมีร้านค้าหลบเลี่ยงกฎหมายและกลับมาเปิดใหม่ได้เสมอ โดยเฉพาะผ่านช่องทางออนไลน์
"หากไม่มีการดำเนินงานร่วมกันจากท้องถิ่น ครอบครัว โรงเรียน และภาครัฐ สังคมไทยจะต้องเผชิญกับปัญหาเด็กติดสารเสพติดที่ควบคุมไม่ได้ ผมฝากความหวังไว้กับองค์กรท้องถิ่นทั่วประเทศ ให้ร่วมมือกันอย่างจริงจังในการสร้างพื้นที่ปลอดบุหรี่ไฟฟ้า เพื่ออนาคตของเยาวชนและประเทศชาติ"
ด้านผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ และกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 เน้นย้ำถึงความสำคัญของการใช้กรอบแนวคิด Ottawa Charter ที่เน้นการส่งเสริมสุขภาพผ่าน 5 กลยุทธ์หลัก ได้แก่
"สิ่งสำคัญคือ การทำงานของ อปท. จะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทั้งในชุมชน หน่วยงานสาธารณสุข และภาคประชาสังคม เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนในการขับเคลื่อนนโยบาย อีกทั้งยังช่วยสร้างพื้นที่ปลอดบุหรี่ ที่จะช่วยปกป้องสุขภาพของคนในชุมชนอย่างแท้จริง"
นางนัฏฐิยา โยมไธสง ผู้อำนวยการสำนักสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองมหาสารคาม ได้ถ่ายทอดบทเรียนความสำเร็จของ "มหาสารคาม เมืองปลอดบุหรี่" ที่ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องยาวนานเกือบ 20 ปี โดยเน้นย้ำว่า "งานบุหรี่ไม่สามารถทำสำเร็จในวันเดียว" ต้องอาศัยความมุ่งมั่น ความสม่ำเสมอ และพลังของเครือข่ายชุมชน
จุดเด่นของโมเดลมหาสารคามคือการให้ความสำคัญกับ "ข้อมูล" เป็นจุดเริ่มต้นของการทำงาน โดยมีฐานข้อมูลประชากร ข้อมูลผู้สูบบุหรี่ในแต่ละครัวเรือน สถานประกอบการ และสถานศึกษาอย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น
"อสม. ของเราจะได้รับการอบรมเพื่อสามารถลงพื้นที่ตรวจสอบร้านค้า ปักหมุดสถานที่จำหน่ายในระบบ TCNAP-RECAP และเป็นตัวกลางในการรณรงค์เลิกบุหรี่ในชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทาง Smart City ที่เทศบาลกำลังขับเคลื่อน"
นางนัฏฐิยา กล่าวอีกว่า อยากให้ อปท. ทั่วประเทศเริ่มต้นจากข้อมูล และมองว่างานบุหรี่ไม่ใช่ภาระเพิ่ม แต่คือภารกิจสุขภาพที่อยู่ในงานประจำของเราอยู่แล้ว การมีส่วนร่วมของชุมชนคือหัวใจ และอย่าลืมว่าไม่มีใครทำงานนี้ได้คนเดียว
การผนึกกำลังระหว่าง สสส. และ อปท. ทั่วประเทศในครั้งนี้ ถือเป็นความหวังสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชุมชน และหยุดวงจรการติดสารเสพติดในกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่บุหรี่ไฟฟ้ากำลังระบาดและแพร่หลายอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน