18 เมษายน 2568 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวภายหลังการประชุมหาแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะพื้นที่พิเศษ เช่น จ.บึงกาฬ แม่ฮ่อง หรือ แม่สอด จ.ตาก ว่า ที่ประชุมได้พูดคุยกันว่า แก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด คือการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข ถ้ามีพ.ร.บ.ขึ้นมาแล้ว จะทำให้การบรรจุแต่งตั้งเงินเดือนค่าตอบแทนและสวัสดิการของบุคลากรทั้งหมดจะสามารถทำได้โดยกระทรวงสาธารณสุขเองแต่ไม่ได้หมายความว่า จะสามารถผลักดันให้เดินหน้าไปโดยรวดเร็ว
เมื่อถึงสภาฯออกมาเป็นกฎหมาย ก็ไม่ได้เร็ว อย่างน้อย 2 ปี เราต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ตนและผู้บริหารกระทรวงได้หารือกันตลอด โดยเฉพาะ นพ.ภูวเดช สุระโคตร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พูดคุยกับแพทยสภา โดยวันนี้ได้เชิญ พล.อ.ท.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ร่วมหาทางออกและแนะแนวทางออก ซึ่งเลขาธิการให้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์มาก
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น สืบเนื่องจากแพทย์มีการเปิดโรงพยาบาลขึ้นมาใหม่ โดยเฉพาะพื้นที่กทม.มีการรับแพทย์เพิ่มขึ้น ทำให้มีการย้ายพื้นที่ จึงทำให้แพทย์ที่อยู่ในการดูแลของกระทรวงสาธารณสุขน้อยลงและมีปัญหา เราจึงมีแนวทางแก้ปัญหา 7 ขั้นตอน ดังนี้
1. กำหนดพื้นที่พิเศษ เพิ่มสิทธิประโยชน์ ลดระยะเวลาการใช้ทุนศึกษาต่อ โดยกำหนดเป็นพื้นที่พิเศษเราเคยทำที่ 3 จังหวัดภาคใต้สำหรับพื้นที่พิเศษที่ประกาศ คือ บึงกาฬ แม่ฮ่องสอน และแม่สอด จ.ตาก หรือถ้าตรงไหนขาดแคลนเราจะประกาศพื้นที่พิเศษและมีกฎเกณฑ์พิเศษขึ้นมา
2. เพิ่มแพทย์ เพิ่มพูนทักษะ ทั้งฝึกเองและฝึกร่วม
3. ขอรับการสนับสนุนแพทย์เฉพาะทางจากจังหวัดใกล้เคียง
4. เสริมระบบบริการด้วยระบบดิจิทัลสุขภาพ เทเลเมดิซีน ดำเนินการควบคู่ ซึ่งจะขอให้ สปสช.สนับสนุนให้มากขึ้นและรวดเร็ว
5. กำหนดตำแหน่งข้าราชการรองรับแพทย์จบจากเอกชน และต่างประเทศ กรณีระบบปกติไม่เพียงพอ
6. พิจารณาเพิ่มค่าตอบแทนนอกเวลาราชการ ตามเหตุผล จะเป็นงบประมาณที่ได้รับจัดสรรร พื้นที่พิเศษ อาจจะจัดสรรให้มากกว่าพื้นที่ปกติ และเงินบำรุง กระทรวงหาเงินสนับสนุนกรณีขาดแคลน หรือไม่เพียงพอ จะพยายามดูแล การบริหารวงเงินในระดับจังหวัด จะมีการจัดสรรกองกลาง เติมให้รพ.ที่ขาดแคลน กองระดับเขต เติมข้ามระดับจังหวัด โดยอาจนำเงินจากกองกลางจากจังหวัด จากเขต และ กระทรวงหาเงินช่วยจัดสรร
7. ส่งเสริมสวัสดิการ เช่น บ้านพัก การเดินทางรับส่ง อย่างเหมาะสม
"กรณีบึงกาฬเราไม่สามารถฝึกแพทย์ใหม่ได้มากเพราะไม่มีแพทย์เฉพาะทางที่สามารถฝึกได้ปีละ 20 -30 คน เพราะมีเพียง 16 คน ที่เป็นแพทย์เฉพาะทาง ด้านสูตินรีเวช ศัลยกรรม อายุรกรรม กุมารเวช ฉุกเฉิน กระดูก จะเป็นตัวกำหนดแพทย์ใหม่ ถ้ามีเฉพาะทางมี 30 คน ก็จะนำเอาแพทย์ใหม่ไปอินเทิร์นได้ 30 คน แต่บึงกาฬได้มา 16 เพราะแพทย์เฉพาะทางเกษียณบ้าง ลาออกบ้าง การแก้ไขปัญหาได้รับคำแนะนำจากผู้รู้ แพทยสภา แนะนำให้แพทย์จังหวัดอื่นไปเป็นพี่เลี้ยง เช่น อุดรธานี หนองคาย นครพนม เข้าไปเป็นแพทย์ เฉพาะทาง เพื่อให้ครบตามจำนวน" นายสมศักดิ์ กล่าว
เมื่อถามว่า ปัญหาแพทย์ลาออกเพราะมีภาระงานมากขึ้นกระทรวงจะลดภาระงานมากอย่างไรนั้น นายสมศักดิ์ กล่าวว่า จะลดให้ได้ 30 % แต่ต้องใช้เวลา ขอเวลา 2 ปี ทำ NCDs ให้รณรงค์นับคาร์บจะลดลงแน่นอนและเทเลเมดิซีนจะลดแออัด ขอ สปสช.เร่งรัดให้มีจำนวนตู้ห่วงใยมากขึ้น
ส่วนกรณีมีการตั้งข้อสังเกตว่า ร่างพ.ร.บ.อสม.ทำเร็วกว่า พ.ร.บ.อื่น นั้น นายสมศักดิ์ กล่าวว่า อำนาจตนเองสุดแล้ว ทำออกจากกระทรวงไปแล้ว สำหรับ พ.ร.บ.อสม.ผ่าน ครม. ไปแล้ว ส่วน พ.ร.บ.ก.สธ.กำลังจะเข้าครม. ยังไม่ได้ถามกลับ อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการกลั่นกรองมีรองนายกฯ เป็นประธาน ผ่านชุดนี้ก็เข้าครม. ยังไม่มีใครสอบถามกลับมา แสดงว่า เนื้อในดีแล้ว ส่วนจะทันใช้ปี 68 นี้หรือไม่นั้น อยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ รมว.สธ.ตามอำนาจหน้าที่ทำไปสุดแรงแล้วและปัญหาเชื่อว่าแก้ได้เกือบหมด อะไรที่ทำไม่ได้บ้าง ถามมา ยินดีตอบได้หมด