วันนี้ 16 พฤษภาคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หมอเจด หรือ นพ.เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หมอเจด ว่า รีบป้องกันตัวเองก่อนป่วย! เข้าสู่หน้าฝนทีไร หลายคนก็คงรู้สึกชุ่มฉ่ำ สดชื่น แต่อย่าลืมว่าหน้าฝนมาพร้อมกับความชื้นนี่แหละเป็นตัวช่วยที่ทำให้เชื้อโรคหลายชนิดแพร่กระจายง่ายขึ้น ยิ่งช่วงนี้เปิดเริ่มเปิดเทอมแล้ว ยิ่งต้องระวังโดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ซึ่ง 3 โรคที่ต้องระวังมากๆ ในช่วงนี้ก็คือ
- ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)
- โควิด-19 (COVID-19)
- RSV (Respiratory Syncytial Virus)
โรคเหล่านี้คืออะไร อาการเป็นยังไง ป้องกันยังไง แล้วถ้าเป็นแล้วควรทำยังไงต่อ
1. ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)
- ไข้หวัดใหญ่ก็คือโรคติดเชื้อไวรัสที่พบบ่อยมากในช่วงหน้าฝน เพราะอากาศชื้นๆ แบบนี้มันเหมาะกับการแพร่ระบาดของไวรัสเจ้าไวรัสตัวนี้แพร่ผ่านละอองฝอยเวลาที่คนไอหรือจาม หรือแม้แต่การสัมผัสพื้นผิวที่มีเชื้อแล้วเผลอเอามือไปจับหน้าตัวเอง
อาการของไข้หวัดใหญ่
- ไข้สูงเฉียบพลัน (38-40 องศาเซลเซียส)
- ปวดเมื่อยตามตัวแบบหนักมาก
- ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล
- อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
- บางคนอาจมีคลื่นไส้หรืออาเจียนด้วย
กลุ่มที่เสี่ยงมากที่สุด
- เด็กเล็ก โดยเฉพาะต่ำกว่า 5 ขวบ
- ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปี
- คนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด
- คุณแม่ตั้งครรภ์
- บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องเจอผู้ป่วยทุกวัน
ป้องกันยังไงดี?
- ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี เพราะเชื้อมันชอบกลายพันธุ์
- ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนกินข้าวหรือสัมผัสหน้า
- ใส่หน้ากากอนามัย ช่วยป้องกันทั้งตัวเองและคนอื่น
- เลี่ยงคนที่มีอาการป่วย โดยเฉพาะคนที่ไอหรือจาม
2. โควิด-19 (COVID-19)
- โควิด-19 นี่หลายคนคงรู้จักกันดีอยู่แล้ว มันเป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่เกิดจากไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งแพร่กระจายได้ง่ายมาก ทั้งทางละอองฝอยที่ออกมาจากการไอหรือจาม หรือแม้แต่การสัมผัสพื้นผิวที่มีเชื้อแล้วเอามือไปจับตา จมูก หรือปาก
อาการของโควิด-19
- ไข้ต่ำหรือไข้สูง
- ไอแห้ง เจ็บคอ
- อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
- สูญเสียการรับรสหรือกลิ่น (อันนี้คือลักษณะเฉพาะเลย)
- ปวดหัว ปวดเมื่อยตัว
- ท้องเสีย (ในบางคน)
ใครบ้างที่เสี่ยงอาการหนัก?
- ผู้สูงอายุ
- คนที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอด
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
ป้องกันยังไงดี?
- ฉีดวัคซีนตามคำแนะนำ วัคซีนช่วยลดความรุนแรงของโรค
- ใส่หน้ากากอนามัย โดยเฉพาะในที่ชุมชน
- ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ หรือสเปรย์แอลกอฮอล์
- เว้นระยะห่าง เลี่ยงการอยู่ใกล้คนเยอะๆ
3. ไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus)
- หลายคนชอบคิดว่า ระบาดแค่ไหนในกลุ่มเด็ก RSV แต่จริงๆมันสามารถติด ผู้สูงอายุ หรือคนที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอได้เหมือนกัน มันแพร่ผ่านละอองฝอยได้เหมือนไข้หวัดใหญ่หรือโควิด-19 และมักระบาดหนักในช่วงที่อากาศชื้นๆ แบบหน้าฝนนี่แหละ
อาการของ RSV
- ไข้ต่ำถึงสูง
- ไอ น้ำมูกไหล
- หายใจลำบาก หอบเหนื่อย
- ในเด็กเล็กอาจมีอาการหายใจเสียงดังแบบ “หวีดๆ”
- บางรายอาจพัฒนาไปเป็นปอดบวมหรือหลอดลมอักเสบ
ใครเสี่ยงที่สุด?
- เด็กทารก โดยเฉพาะที่คลอดก่อนกำหนด
- ผู้สูงอายุ
- คนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอดเรื้อรัง โรคหัวใจ
ป้องกันยังไงดี?
- ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนสัมผัสเด็กเล็ก
- รักษาความสะอาดของของเล่น เพราะเด็กชอบเอาของเข้าปาก
- เลี่ยงการอยู่ใกล้คนที่มีอาการไอหรือจาม
ดูแลสุขภาพยังไงให้ปลอดภัยช่วงหน้าฝน
- กินอาหารที่มีประโยชน์ เน้นผักผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น ส้ม ฝรั่ง
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ น้ำเปล่านี่แหละดีที่สุด
- พักผ่อนให้เพียงพอ: นอนอย่างน้อยวันละ 7-8 ชั่วโมง
- ออกกำลังกาย: แม้จะฝนตกก็ทำโยคะในบ้านได้รักษาความสะอาด: เช็ดพื้น โต๊ะ หรือของใช้ที่อาจมีเชื้อโรค
- เสริมอาหารเสริมที่ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน เช่น แอสตาแซนธิน วิตามินซี วิตามินดี
เพราะฉะนั้นถ้าคุณหรือคนใกล้ตัวมีอาการ เช่น ไข้สูงไม่ลด ไอรุนแรง หายใจลำบาก หรืออาการผิดปกติที่น่าสงสัย ควรรีบไปหาหมแทันที อย่ามัวรอดูอาการเอง เพราะการรักษาเร็วช่วยลดความรุนแรงของโรคได้มาก
หน้าฝนนี่นอกจากจะชุ่มฉ่ำแล้ว ก็ยังเป็นช่วงที่เชื้อโรคหลายชนิดแพร่กระจายได้ง่ายมาก การป้องกันที่ดีที่สุดคือการใส่ใจสุขภาพของตัวเองและคนที่คุณรัก ไม่ว่าจะเป็นการล้างมือ ใส่หน้ากาก หรือดูแลสุขภาพให้แข็งแรง
อย่าลืมว่าการป้องกันดีกว่าการรักษา และที่สำคัญที่สุด อย่าลืมมีความสุขกับสายฝนไปพร้อมๆ กับการรักษาสุขภาพ.