แม้จะผ่านจุดพีคมาแล้วหลายปี แต่โควิด-19 ยังไม่จางหายไปจากชีวิตประจำวันของผู้คน ล่าสุดหลายประเทศในเอเชียกลับมาเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 อีกครั้ง โดยมีลักษณะเป็นการระบาดเป็นวงกว้างแต่ส่วนใหญ่มีอาการเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม หน่วยงานสาธารณสุขยังคงย้ำเตือนว่าอย่าประมาท โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว
ในประเทศไทย ข้อมูลล่าสุดจากกรมควบคุมโรคระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 พบผู้ป่วย 71,067 ราย ผู้เสียชีวิต 19 ราย โดยกรุงเทพมหานครพบผู้ติดเชื้อมากที่สุด โดยเฉพาะในสัปดาห์ระหว่างวันที่ 27 เมษายน ถึง 3 พฤษภาคม ที่ยอดพุ่งทะลุ 14,000 ราย ก่อนจะลดลงในสัปดาห์ถัดมา
สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ไม่ควรตื่นตระหนกกับการระบาดครั้งนี้ เพราะโควิด-19 ถูกจัดให้เป็นโรคประจำถิ่นแล้ว โดยส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อแบบไม่รุนแรง พร้อมทั้งอธิบายว่าแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อเกิดจากปัจจัยตามฤดูกาลและกิจกรรมรวมกลุ่มจำนวนมากช่วงเทศกาลสงกรานต์ พร้อมแนะนำให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย ตรวจ ATK เมื่อมีอาการ และหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้มีความเสี่ยงหากผลเป็นบวก
นอกจากกรุงเทพฯ แล้ว จังหวัดชลบุรี นนทบุรี และระยอง ก็พบจำนวนผู้ติดเชื้อสูงเช่นกัน โดยการเพิ่มขึ้นของสายพันธุ์ย่อย XBB.1.16 และแพร่ได้ง่ายแต่ยังไม่มีหลักฐานว่าอาการรุนแรงขึ้น เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์ในไทยต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
สิงคโปร์ก็เป็นอีกประเทศที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จาก 11,100 รายในสัปดาห์ก่อนหน้า เพิ่มขึ้นเป็น 14,200 รายในช่วงวันที่ 27 เมษายน ถึง 3 พฤษภาคม แม้จำนวนผู้ป่วยหนักในห้อง ICU จะลดลงจาก 3 เหลือ 2 ราย แต่จำนวนผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นจาก 102 เป็น 133 ราย ทางการสิงคโปร์ระบุว่าเป็นสถานการณ์ตามวงรอบคล้ายกับโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ โดยสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ขณะนี้คือ LF.7 และ NB.1.8 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของ JN.1 ที่มีวัคซีนรองรับอยู่
รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของสิงคโปร์ ย้ำว่าระบบสาธารณสุขต้องพร้อมรับมือกับการระบาด และแนะนำให้ประชาชนอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มเปราะบาง บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยง ฉีดวัคซีนกระตุ้นโดสใหม่ปีละครั้ง ส่วนประชาชนทั่วไปที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป สามารถรับวัคซีนได้หากต้องการ
ทางด้านจีนแผ่นดินใหญ่ ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา โดยอัตราการตรวจพบเชื้อในผู้มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่เพิ่มจาก 7.5% เป็น 16.2% ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึง 4 พฤษภาคม และในกลุ่มผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจรุนแรงเพิ่มจาก 3.3% เป็น 6.3% ทำให้โควิดกลายเป็นสาเหตุหลักของอาการคล้ายไข้หวัดในคลินิกและห้องฉุกเฉิน โดยเฉพาะในมณฑลทางตอนใต้ของประเทศที่พบอัตราการตรวจพบสูงกว่าภาคเหนือ แม้สถานการณ์จะเริ่มชะลอตัวในบางพื้นที่
ผู้เชี่ยวชาญจากกว่างโจว ระบุว่าสถานการณ์เป็นไปตามแบบจำลองที่เคยประเมินไว้ เพราะภูมิคุ้มกันในประชากรลดลงหลังการระบาดรอบใหญ่เมื่อ 10 เดือนก่อน
สถานการณ์ในฮ่องกงกลับน่าเป็นห่วงมากกว่า จากเดิมที่มีผู้เสียชีวิตเพียง 3 รายต่อเดือน ล่าสุดเดือนเดียวเพิ่มขึ้นเป็น 26 ราย โดย 85% ของผู้ป่วยรุนแรงในเดือนที่ผ่านมาเป็นผู้สูงอายุเกิน 65 ปี และ 64% อาศัยอยู่ในสถานดูแลผู้สูงอายุ อีกทั้งกว่า 95% ของผู้ป่วยรุนแรงมีโรคประจำตัวและไม่ได้รับวัคซีนกระตุ้นในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา
อัตราการตรวจพบเชื้อจากตัวอย่างระบบทางเดินหายใจในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ 11.42% สูงที่สุดในรอบเกือบ 1 ปี และมีการระบาดย่อยในสถานดูแลผู้สูงอายุถึง 32 แห่ง กระทบผู้อยู่อาศัย 177 ราย ซึ่งกว่า 60% ยังไม่เคยได้รับวัคซีน ฮ่องกงยังพบการระบาดใหม่ถึง 5 แห่งภายใน 2 วันแรกของสัปดาห์
ไต้หวันก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่แนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้น โดยในสัปดาห์ที่ 4 ถึง 10 พฤษภาคม พบว่ามีผู้เข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉินหรือคลินิกเกือบ 10,000 ราย เพิ่มขึ้นถึง 66% จากสัปดาห์ก่อนหน้า และเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องติดต่อกันถึง 5 สัปดาห์ แม้ยอดยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เจ้าหน้าที่เตือนว่าจุดสูงสุดของปีนี้อาจมาเร็วขึ้นในเดือนมิถุนายน แทนที่จะเป็นกรกฎาคมเหมือนปีที่แล้ว
ศูนย์ควบคุมโรคไต้หวันรายงานว่า ในสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม มีผู้เสียชีวิต 6 ราย และผู้ป่วยรุนแรง 34 ราย โดยจำนวนผู้ติดเชื้อในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 40% ของจุดพีคในปีที่แล้วซึ่งมีผู้ป่วยสูงถึง 134,000 รายต่อสัปดาห์
เวียดนามแม้จะมีสถานการณ์ที่เบากว่า แต่กระทรวงสาธารณสุขยังออกแถลงการณ์เตือนให้ระวัง โดยพบผู้ป่วยกระจายอยู่ใน 27 จังหวัดและเมือง ตั้งแต่ต้นปีรวม 148 ราย โดยนครโฮจิมินห์มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด 34 ราย รองลงมาคือไฮฟอง ฮานอย งาอาน และบั๊กนินห์ แม้จะไม่มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อน และไม่มีผู้เสียชีวิต แต่ทางการเวียดนามยังคงย้ำให้เฝ้าระวัง โดยเฉพาะหลังเทศกาลหยุดยาวในวันที่ 30 เมษายน และ 1 พฤษภาคม ซึ่งมีการเดินทางและรวมกลุ่มจำนวนมาก
กระทรวงสาธารณสุขเวียดนามจึงกำชับให้มีการเฝ้าระวังเชิงรุก เตรียมความพร้อมด้านการรักษา โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยเรื้อรัง พร้อมทั้งแนะนำให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ หลีกเลี่ยงที่ชุมนุมแออัด ล้างมือบ่อยๆ ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และรีบพบแพทย์หากมีอาการต้องสงสัย
แม้ภาพรวมระดับโลกจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตลดลงกว่าปีก่อน แต่ความเคลื่อนไหวในเอเชียสะท้อนว่า โควิด-19 ยังไม่จบ และยังคงต้องอยู่กับเราไปอีกนาน การตื่นรู้และการป้องกันตัวเองอย่างต่อเนื่องจึงยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม