"อาหารเป็นพิษ" เกิดจากการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีการปนเปื้อนจากเชื้อโรค เช่น แบคทีเรีย ไวรัส หรือสารพิษในอาหาร โดยการปนเปื้อนอาจเกิดจากกระบวนการผลิต การเก็บรักษา หรือการปรุงอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ อาหารบางชนิดมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอาหารเป็นพิษ เช่น อาหารทะเล เนื้อสัตว์ นม และไข่ที่ไม่ได้ผ่านการปรุงให้สุกอย่างเหมาะสม
อาการของอาหารเป็นพิษ
อาการที่เกิดขึ้นจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนมีหลายประเภท ซึ่งอาจแตกต่างกันไปตามชนิดของเชื้อโรคที่ทำให้เกิดอาการเหล่านั้น แต่โดยทั่วไปสามารถสังเกตอาการดังนี้:
- มีไข้ ร่วมกับการปวดศีรษะ
- คลื่นไส้ อาเจียน และปวดท้อง
- ท้องเสีย ถ่ายอุจจาระบ่อย เกินวันละ 3 ครั้ง
- ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว หรือเหนื่อยล้า
- สูญเสียน้ำ เช่น อ่อนเพลีย กระหายน้ำมากกว่าปกติ
วิธีการดูแลตนเองเมื่อเกิดอาหารเป็นพิษ
ส่วนใหญ่แล้วอาการอาหารเป็นพิษมักจะหายได้เองภายใน 24-48 ชั่วโมง หากไม่มีอาการรุนแรง แต่สามารถดูแลตนเองเพื่อบรรเทาอาการได้ตามนี้
- ดื่มน้ำเกลือแร่ (ORS) เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำและเกลือแร่
- รับประทานยาแก้คลื่นไส้ ที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป
- งดอาหารเผ็ด-เปรี้ยวจัด และหลีกเลี่ยงอาหารประเภทนม ผลไม้สด และอาหารสุกๆ ดิบๆ หรืออาหารหมักดอง
- รับประทานอาหารปรุงสุก และเลือกทานอาหารเหลวที่ย่อยง่าย เช่น ซุป น้ำข้าวต้ม
- ดื่มน้ำสะอาดมากๆ และพักผ่อนให้มากขึ้น งดการทำกิจกรรมหนัก
- หากอาการไม่ดีขึ้น เช่น ท้องร่วงรุนแรง หรือ มีไข้สูง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
หมายเหตุ: เมื่อมีอาการท้องเสีย ควรเลือกดื่ม เกลือแร่สำหรับท้องเสีย (ORS) ซึ่งแตกต่างจากเกลือแร่สำหรับนักกีฬา
เมนูอาหารที่เสี่ยงต่อการเป็นอาหารเป็นพิษ
บางเมนูอาหารมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการปนเปื้อนจากเชื้อโรคหรือสารพิษ เนื่องจากวิธีการเก็บรักษาและการปรุงไม่ถูกสุขลักษณะ เมนูที่ควรระวังมีดังนี้:
- อาหารที่มีกะทิ เช่น แกงต่างๆ หรือขนมหวานที่ใส่กะทิ ซึ่งมักจะบูดง่ายหากเก็บไว้นาน
- ส้มตำและยำต่างๆ บางร้านอาจใช้ปลาร้า หรือถั่วลิสงขึ้นรา ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดท้องหรือท้องเสีย
- ขนมจีนน้ำยาต่างๆ เส้นขนมจีนมักทำจากแป้งและบูดง่าย รวมถึงน้ำยากะทิที่เก็บได้ไม่นาน
- อาหารทะเล เช่น กุ้ง หอย หรือปลาที่ไม่สด หรือไม่ได้รับการปรุงให้สุกเต็มที่ มักจะมีความเสี่ยงจากแบคทีเรียหรือพยาธิ
- สลัดผักสด แม้จะดีต่อสุขภาพ แต่หากไม่ได้ล้างให้สะอาด หรือเก็บรักษาไม่ดี อาจมีเชื้อโรคปนเปื้อน
- น้ำและน้ำแข็ง ควรระวังการใช้น้ำแข็งที่ไม่สะอาด ซึ่งอาจมีเศษฝุ่นหรือเชื้อโรคติดมาจากกระบวนการผลิตน้ำแข็ง
เคล็ดลับป้องกันอาหารเป็นพิษ
ในช่วงที่อากาศร้อนและมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางอาหาร ควรปฏิบัติตามหลักการ "สุก ร้อน สะอาด" และ ล้างมือให้สะอาด ก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง เพื่อป้องกันการปนเปื้อนจากเชื้อโรคที่อาจเกิดขึ้นจากการสัมผัสหรือการปรุงอาหารที่ไม่สะอาด
หากเกิดอาการอาหารเป็นพิษและไม่สามารถรับมือได้เอง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อการรักษาที่เหมาะสม