'แมนพาวเวอร์' แนะองค์กรบูรณาการเพิ่มประสิทธิภาพ "แรงงาน 4.0"

11 เม.ย. 2562 | 01:50 น.


"แมนพาวเวอร์กรุ๊ป" เจาะพฤติกรรมการใช้ชีวิต "แรงงาน ยุค 4.0" พร้อมแนะ HR 4.0 ปรับตัวรับเทรนด์แรงงานยุคใหม่ เสริมสร้างแรงจูงใจและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

หากวิเคราะห์เจาะลึกถึงพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ "แรงงาน 4.0" ซึ่งอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้รูปแบบวิธีการทำงานและการดำเนินชีวิตแตกต่างไปจากอดีต ... "แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย" ได้ทำการเผยผลวิจัยในการศึกษาพฤติกรรม "การดำเนินชีวิตของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ยุค 4.0" ซึ่งชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมการดำเนินชีวิตไลฟ์สไตล์ในด้านต่าง ๆ ของแรงงานยุค 4.0 ท่ามกลางโลกที่หมุนอย่างรวดเร็ว และสะท้อนให้เห็นวิถีการดำเนินชีวิตเชื่อมต่อยุคดิจิทัล พร้อมแนะองค์กรปรับตัวรับเทรนด์แรงงานยุคใหม่ เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพการทำงานและขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโต

ในยุคดิจิทัล บทบาทของการใช้งานสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์สื่อสารทำให้มีการพัฒนาแอพพลิเคชันเพื่อมาตอบโจทย์กลุ่มคนทุกวัย ซึ่งจากผลการศึกษาวิจัย พบว่า แอพพลิเคชันที่ใช้ในชีวิตประจำวัน 7 ลำดับแรก มีดังนี้ เฟซบุ๊ก ร้อยละ 36 รองลงมาไลน์ ร้อยละ 31 รองลงมาอินสตาแกรม ร้อยละ 10 ตามด้วย โมบาย แบงกิ้ง กับยูทูบ ร้อยละ 4, Joox กับ Shopee ร้อยละ 3, เกม กูเกิล และทวิตเตอร์ ร้อยละ 2 สุดท้าย ลาซาด้า - ทรู มันนี่ วอเลต ร้อยละ 1 ตามลำดับ

 

'แมนพาวเวอร์' แนะองค์กรบูรณาการเพิ่มประสิทธิภาพ "แรงงาน 4.0"

 

ในส่วนของการใช้สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) พบว่า Facebook ร้อยละ 98 มากที่สุด รองลงมา Youtube ร้อยละ 82, Instagram ร้อยละ 60, Twitter ร้อยละ 30 ตามลำดับ

 

'แมนพาวเวอร์' แนะองค์กรบูรณาการเพิ่มประสิทธิภาพ "แรงงาน 4.0"

 

จากผลการศึกษาวิจัยที่น่าสนใจ นอกเหนือจากการใช้แอพพลิเคชัน Facebook, Line, Instagram, YouTube, Twitter และ Google ในการเข้าถึงข่าวสาร การพูดคุยกับเพื่อน พบว่า คนรุ่นใหม่ยุค 4.0 มีการใช้แอพพลิเคชัน Mobile Banking และ True Money Wallet เพื่อทำธุรกรรมทางการเงิน ซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ e-Commerce ด้วยแอพพลิเคชัน Shopee, Lazada และใช้แอพเพื่อความบันเทิง ประเภทแอพพลิเคชัน Game ฟังเพลงผ่านแอพพลิเคชัน Joox ซึ่งจะเห็นได้ว่า การใช้แอพพลิเคชันดังกล่าวข้างต้นของคนรุ่นใหม่ ทำให้ข้อจำกัดเรื่องเวลาและระยะทางกลายเป็นเรื่องที่เล็กลงเรื่อย ๆ ในทุกวันนี้
 


พฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่ตรงกับตัวผู้ตอบแบบสอบมากที่สุด พบว่า ชอบความสนุกสนานและความบันเทิง (Entertainment) ร้อยละ 28 รองลงมา ชอบการมีอิสระทางความคิดและการดำเนินชีวิต (Freedom) ร้อยละ 20 มีการวางแผนการใช้ชีวิตในอนาคตของตนเอง (Future Plan) และชื่นชอบเทคโนโลยี (Techno-Computer) ร้อยละ 13 เท่ากัน ตามลำดับ

 

'แมนพาวเวอร์' แนะองค์กรบูรณาการเพิ่มประสิทธิภาพ "แรงงาน 4.0"

 

จากผลการวิจัย พบว่า คนรุ่นใหม่ยุค 4.0 ส่วนใหญ่นิยมกีฬาเดิน/วิ่ง ชมภาพยนตร์ ค้นหาความรู้ผ่านการท่องอินเทอร์เน็ต ชอบท่องเที่ยวภายในประเทศ ทำบุญตามวัด สิ่งของที่ชอบไป Shopping คือ ของกิน/อาหาร สถานที่ Shopping ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า, ซูเปอร์มาร์เก็ต, ไฮเปอร์มาร์เก็ต, ซื้อผ่านออนไลน์ e-Commerce และทานอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ โดยสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ที่ใช้มากที่สุด ยังคงเป็น Facebook รองลงมา Youtube และส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่ชอบความสนุกสนานและความบันเทิง (Entertainment) รองลงมา คือ ชอบการมีอิสระทางความคิดและการดำเนินชีวิต (Freedom) ซึ่งจะเห็นได้ว่า ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่นั้น เลือกที่จะใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและมีความสุข โดยไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่นั้นให้ความสำคัญกับการใส่ใจดูแลสุขภาพ ต่างก็หันมาให้เวลากับการดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกายและนิยมทานอาหารเสริมเพื่อสุขภาพให้ร่างกายแข็งแรง และมีการผ่อนคลายด้วยกิจกรรมบันเทิงเริงรมย์ เช่น ชมภาพยนตร์ เดินทางเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวมากมายที่เกิดขึ้นใหม่ในวันหยุด เป็นต้น

ไลฟ์สไตล์ดังกล่าวก็สอดคล้องกับแนวโน้มของโลกและสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐต่าง ๆ ที่ออกมาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนลงลึกในเชิงโครงสร้างพฤติกรรมด้านต่าง ๆ เช่น การส่งเสริมการออกกำลังกาย, การส่งเสริมการท่องเที่ยว, การทำนุบำรุงศาสนา, การกระตุ้นการใช้จ่าย เป็นต้น นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ค้นหาความรู้ผ่านการท่องอินเทอร์เน็ต ภาครัฐอาจต้องส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ซึ่งเป็นสื่อที่ทรงอิทธิพลอย่างเป็นระบบ และให้สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย ร่วมกับการพัฒนามาตรฐานอาชีพ เพื่อพัฒนาศักยภาพคนทำงาน ยกระดับให้เป็นคนไทย 4.0 ที่มีสรรถนะความสามารถสูงตามเป้าหมายที่วางไว้

บทบาทของ HR4.0 ในยุคปัจจุบันนั้น มีความท้าทายเป็นอย่างมากในการหากลยุทธ์บริหารทรัพยากรบุคคลที่สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของคนทำงานรุ่นใหม่ และสอดรับกับวัฒนธรรมองค์กรที่พนักงานจะสามารถทำงานได้ และก็ยังสามารถรักษาพนักงานเอาไว้ในองค์กรได้ต่อไป ดังจะเห็นจากแนวโน้มขององค์กรต่าง ๆ ที่เริ่มมี การปรับเปลี่ยนองค์กรให้เรื่องงานเรื่องไลฟ์สไตล์เป็นเรื่องเดียวกัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่สอดรับกับไลฟ์สไตล์ เช่น การดีลกับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ในการให้ส่วนลดกับพนักงาน เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่า ในยุคนี้ HR ยุค 4.0 ต้องบูรณาการรวมกันเป็นหนึ่งเดียว คือ เป็นทั้งนักพัฒนา, นักประชาสัมพันธ์ (PR), นักการตลาด (Marketing), นักสื่อสารผ่านสื่อ Social Media และนักวางแผนทางการเงินหรือที่ปรึกษาทางการเงินร่วมด้วย

อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษาและวิจัยในหัวข้อ Employee Perspective 4.0 "พฤติกรรมการใช้เงิน การดำเนินชีวิต และความคิดเห็นที่มีต่อการทำงานของคนรุ่นใหม่ 4.0" ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรม แนวโน้มของแรงงานยุคใหม่ ที่สามารถนำมาปรับประยุกต์ให้สอดคล้องทั้งในแง่ของการทำงานและการวางแผนบริหารจัดการด้านบุคลากรของ HR 4.0 โดยสรุปได้ ดังนี้ ในส่วนขององค์กรควรมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้มีลักษณะเหมือนองค์กร Startup ที่มีความสะดวก รวดเร็ว มีภาพลักษณ์แปลกใหม่ และมีความยืดหยุ่นด้านเวลาทำงาน รวมถึงจัดอบรมให้มีการเรียนรู้ใหม่ ๆ ในการพัฒนาบุคลากร

นอกจากนี้ องค์กรจะต้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพนักงานในการใส่ใจเรื่องสุขภาพกาย สุขภาพจิต และการให้ความรู้ในการบริหารจัดการด้านการเงิน การออมเงิน และการลงทุน เพื่อสร้างความสุขและยกระดับคุณภาพชีวิตพนักงานให้มีความเป็นอยู่ที่ดี มีความมั่นคง อีกทั้งองค์กรอาจร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคธนาคาร หรือ หากมีงบประมาณมากพอ ก็ดำเนินการในการปล่อยกู้ให้กับพนักงานเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติทางการเงิน ตลอดจนการวางแผนจัดสรรเงินออมและการลงทุนอย่างเป็นระบบให้กับพนักงาน

หากจะสรุปในแง่ของแรงงาน ซึ่งเป็นกลุ่มคนทำงานในปัจจุบัน ผลการวิจัยพบว่า การเลือกเข้าทำงานในประเภทองค์ธุรกิจกิจการเจ้าของคนเดียวที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับธุรกิจ Startup คนทำงานรุ่นใหม่จำเป็นต้องมีทักษะการทำงานและความสามารถใหม่ (Re-Skill) ในยุคดิจิทัล ที่เน้นคล่องตัว ตัดสินใจได้เร็ว ทักษะด้านไอที ทักษะความสามารถในการค้นหาและวิเคราะห์ข้อมูล ทักษะการสื่อสาร ทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ เป็นต้น

ทั้งนี้ จากผลการวิจัย Employee Perspective 4.0 "พฤติกรรมการใช้เงิน การดำเนินชีวิต และความคิดเห็นที่มีต่อการทำงานของคนรุ่นใหม่ 4.0" ทั้งในด้านความสนใจและความต้องการที่มีต่อการเข้าทำงานในองค์กรของกลุ่มคนรุ่นใหม่ยุค 4.0 กับแนวโน้มการประกอบอาชีพของกลุ่มคนรุ่นใหม่ยุค 4.0 และพฤติกรรมการใช้เงินและการออมเงินของกลุ่มคนรุ่นใหม่ยุค 4.0 และปิดท้ายด้วย พฤติกรรมการดำเนินชีวิตของกลุ่มคนรุ่นใหม่ยุค 4.0 ที่แสดงและสะท้อนให้เห็นถึง การ "เปลี่ยนแปลง" ที่จะนำไปสู่การ "ปรับเปลี่ยน" ทั้งแรงงานและองค์กร เพื่อสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาศักยภาพ คุณภาพชีวิต สู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศต่อไปในอนาคต
 

'แมนพาวเวอร์' แนะองค์กรบูรณาการเพิ่มประสิทธิภาพ "แรงงาน 4.0"