แตะเบรกแคมเปญระดมเงินฝาก ธนาคารรุดคุมต้นทุน/รอจังหวะสินเชื่อฟื้นครึ่งหลังประคองNIM

17 ส.ค. 2559 | 01:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

แบงก์ประสานเสียง “คุมต้นทุนการเงินรอดูสถานการณ์” ไม่แข่งระดมเงินฝาก เหตุสินเชื่อปล่อยใหม่ฝืด ด้าน “กรุงไทย” ลั่นปี 60 ดอกเบี้ยส่งสัญญาณปรับขึ้น เศรษฐกิจผงกหัว ส่วน “กสิกรไทย” หั่นดบ.ครบกำหนดเน้นฝากระยะสั้น ฟาก “ไทยพาณิชย์” ชูโปรดักต์ยืดหยุ่น คอยสินเชื่อฟื้น ขณะที่ศูนย์วิจัยฯ ชี้ครึ่งหลังทั้งระบบประคอง NIM

[caption id="attachment_85892" align="aligncenter" width="700"] สัดส่วนเงินฝาก 6 ธนาคารพาณิชย์ สัดส่วนเงินฝาก 6 ธนาคารพาณิชย์[/caption]

นายชัยณรงค์ เอื้อสิทธิชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกลยุทธ์และผลิตภัณฑ์รายย่อย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มการระดมเงินฝากในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ธนาคารยังมองว่าไม่แตกต่างไปจากช่วงแรกของปีมากนัก เพราะสภาพคล่องในระบบค่อนข้างมาก ประกอบกับการปล่อยสินเชื่อใหม่ยังขยายตัวได้ไม่ดีนัก จึงไม่เห็นการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากใหม่ที่แข่งขันเรื่องราคา เช่นเดียวกับธนาคารกรุงไทยที่ไม่แข่งระดมเงินฝากปีนี้ คาดว่าทั้งปียังทรงตัวไม่เพิ่มขึ้น โดยธนาคารจะเน้นรักษาฐานเงินฝากที่มีอยู่ในต้นทุนการเงินที่เหมาะสม ส่วนลูกค้าที่เงินฝากครบกำหนดจะมีการออกโปรดักต์มาทดแทน หรือเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนอื่นที่เหมาะสม

ดังนั้น ทิศทางเงินฝากในช่วงที่เหลือของปีนี้ ทุกสถาบันการเงินในระบบจะเป็นการรอดูสถานการณ์ของเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ย ทำให้ช่วงนี้โปรดักต์เงินฝากที่ออกมาในตลาดส่วนใหญ่จะเป็นเงินฝากประจำระยะสั้นไม่เกิน 7-8 เดือน อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 1.25-1.35% เพื่อควบคุมต้นทุนการเงิน เพราะถ้าหากออกโปรดักต์ระยะยาวจะมีต้นทุนการเงินที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ดี ธนาคารคาดว่าภายในไตรมาส 3 และ 4 ธนาคารจะเริ่มออกโปรดักต์เงินฝากระยะยาวมากขึ้น หากแนวโน้มเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น และอัตราดอกเบี้ยนโยบายเริ่มส่งสัญญาณจะปรับขึ้นในปี 2560 จะทำให้ความเชื่อมั่นดีขึ้น และภาคธุรกิจเริ่มฟื้นตัว ทำให้ความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้น จึงจะเริ่มมีการระดมเงินฝากเกิดขึ้น

“ภาพเงินฝากในช่วงที่เหลือของปียังไม่แตกต่างจากครึ่งปีแรกมากนัก เพราะสภาพคล่องในระบบยังล้น สินเชื่อขยายตัวไม่ดี แบงก์ตอนนี้อยู่ระหว่างดูสถานการณ์ ประกอบกับคนที่มีเงินก็ออมไว้เยอะ ไม่ได้มาฝากเงิน เพราะผลตอบแทนต่ำ แต่จะไปเห็นการเติบโตในกองทุนรวมค่อนข้างมาก ซึ่งเฉพาะของกรุงไทยเติบโตสูงถึง 18% หรือประมาณ 2.5 แสนล้านบาทเพราะให้ผลตอบแทนดีกว่าฝากเงิน”

นางสาวพรรณพร คงยิ่งยง รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดลูกค้าบุคคล บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า แม้ว่าสภาพคล่องในระบบจะมีค่อนข้างมาก ทางธนาคารยังคงมีความจำเป็นต้องระดมเงินฝาก เพื่อให้สอดคล้องกับการปล่อยสินเชื่อที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การเสนออัตราดอกเบี้ยในการระดมเงินฝากอาจจะไม่สูงมากเหมือนที่ผ่านมา เพราะธนาคารจะต้องบริหารจัดการต้นทุนเงินฝากควบคู่กันให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะไม่แพง แต่จะเน้นเรื่องของความยืดหยุ่นของผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้ามากขึ้น

ปัจจุบันธนาคารมี 2 โปรดักต์ คือ เงินฝากจัดเต็ม ที่จะให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นตามยอดเงินฝากคงเหลือในบัญชี โดยยอดวงเงิน 10 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 1.49% ซึ่งลูกค้าสามารถฝากถอนได้ทุกวันไม่มีจำกัด เพื่อสร้างความคล่องตัวให้กับลูกค้า และโปรดักต์เงินฝากประจำได้กับได้ ฝากขั้นต่ำ 5 หมื่นบาท อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได 2.2% เฉลี่ยทั้งโครงการอยู่ที่ 1.6% นอกจากนี้ธนาคารยังเพิ่มความคุ้มครองอุบัติเหตุตามวงเงินคงเหลือในบัญชี เพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าในช่วงอัตราผลตอบแทนต่ำ โดยปัจจุบันสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ 99.5% จากฐานเงินฝากรวมอยู่ที่ 1.9 ล้านล้านบาท

“เรายังคงระดมเงินฝากอยู่ แต่ดอกเบี้ยคงไม่แพงมาก เน้นโปรดักต์ที่ดึงดูดลูกค้าแต่ไม่ใช่เรื่องของผลตอบแทน จะเป็นความยืดหยุ่นของโปรดักต์ และไม่เน้นเงินฝากระยะยาวไม่เกิน 12 เดือน เฉลี่ยอยู่ที่ 7-8 เดือน เพราะแบงก์ต้องพยายามบริหารต้นทุนควบคู่กัน ซึ่งเชื่อว่าเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังดีขึ้น ภาครัฐมีการลงทุน ทำให้ความต้องการสินเชื่อเพิ่ม การระดมทุนเงินฝากก็จะกลับมาแข่งขันกันอีกครั้ง”

นางกิตติยา ฤกษ์ภูริทัต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่าบรรยากาศการระดมเงินฝากในระบบยังทรงตัว ไม่มีการแข่งขันที่รุนแรง เพราะธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ยังคงมีสภาพคล่องที่เพียงพอ เมื่อเทียบอัตราการปล่อยสินเชื่อที่ไม่ได้ขยายตัวมากนัก ดังนั้น จะเห็นว่าธนาคารพาณิชย์ในช่วงนี้ไม่ได้มีแคมเปญเงินฝากพิเศษออกมาแต่อย่างใด โดยธนาคารกสิกรไทยยังคงกลยุทธ์เดิม จะเป็นการรักษาฐานลูกค้ารายเดิม ส่วนลูกค้ารายใหม่ที่เข้ามาจะเป็นรายย่อย ไม่ได้เป็นรายใหญ่ที่มีวงเงินจำนวนสูง โดยธนาคารไม่ได้ออกแคมเปญพิเศษเพื่อหาลูกค้าใหม่ เพราะปัจจุบันแคมเปญที่ออกมาส่วนใหญ่ไม่ได้ช่วยดึงลูกค้ามากนัก เพราะอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์การลงทุนประเภทอื่น ทำให้ไม่ได้ดึงดูดลูกค้าแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี แคมเปญที่จะเห็นในช่วงที่เหลือจะเป็นเงินฝากระยะสั้น เพราะต้นทุนทางการเงินไม่สูงมาก เนื่องจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มจะปรับลง ทำให้ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่เน้นออกแคมเปญระยะสั้น 5-10 เดือน อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 1.3% เพื่อช่วยล็อกต้นทุนการเงิน ประกอบกับลูกค้าปัจจุบันนิยมฝากเงินระยะสั้น เพื่อรอดูทิศทางผลตอบแทนในตลาด รวมถึงมีลูกค้าบางรายหันไปลงทุนในผลิตภัณฑ์อื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝาก ซึ่งจะเห็นว่าสินทรัพย์ภายใต้บริหารจัดการ (AUM) ในส่วนของตลาดการเงินของธนาคารเพิ่มขึ้น 4-5% จากปีก่อน ขณะที่กองทุนรวมมีอัตราการเติบโตสูงถึง 9% สะท้อนว่าผู้ออมเริ่มหาผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝาก

สำหรับลูกค้าเงินฝากครบกำหนด ธนาคารจะออกผลิตภัณฑ์เงินฝากมาทดแทน แต่อัตราดอกเบี้ยจะมีการปรับลดลงตามภาวะตลาด หรืออาจจะมีการแนะนำผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเสนอลูกค้าทดแทน ส่วนเป้าหมายการเติบโตเงินฝากสอดคล้องกับภาพรวมการขยายตัวสินเชื่อทั้งปี โดยเงินฝากโดยรวมของธนาคาร ณ เดือนมิถุนายน ขยายตัวอยู่ที่ 2.2%

อนึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปข้อมูลเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 พบว่า เงินฝากยังคงปรับลดลงอยู่ที่ 2.9 หมื่นล้านบาท ทั้งระบบตัวเลขภาพรวมลดลงเล็กน้อยมาที่ระดับ 11.226 ล้านล้านบาท เติบโต 0.27% เมื่อเทียบสิ้นปีก่อน โดยเงินฝากเดือนมิถุนายนมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 1.56% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ทิศทางเงินฝากคาดว่ายังคงขยายตัวในระดับต่ำเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการสินเชื่อที่ยังคงเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับการให้ความสำคัญในเรื่องการบริหารต้นทุนการระดมทุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีผลต่อทิศทางสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (L/D) ที่คาดว่าจะทรงตัวสูงใกล้เคียงกับระดับปัจจุบัน (ณ มิ.ย.59) อยู่ที่ 91.41% ส่งผลดีต่อการประคองผลตอบแทนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ในระยะที่เหลือของปีนี้ ส่วนแนวโน้มสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าธุรกิจหลัก เช่น เงินให้สินเชื่อมีโอกาสฟื้นตัวจากช่วงครึ่งแรกของปี โดยเฉพาะสินเชื่อภาคธุรกิจในกลุ่มสินเชื่อเพื่อการลงทุนระยะยาว ที่ได้รับอานิสงส์จากความก้าวหน้าในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ ซึ่งจะทยอยเข้าสู่ระบบมากขึ้น ขณะที่สินเชื่อรายย่อยน่าจะเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,183 วันที่ 14 - 17 สิงหาคม พ.ศ. 2559