ตำรวจฟัน 17 ราย คดีตึกสตง.ถล่ม “เปรมชัย กรรณสูต” ติดร่างแหด้วย

15 พ.ค. 2568 | 11:10 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ค. 2568 | 11:21 น.

ตำรวจเคาะดำเนินคดี 3 กลุ่มบริษัทใหญ่-ผู้เกี่ยวข้อง 17 ราย ปมตึกสตง. ถล่ม คร่า 89 ศพ ชี้แบบแปลนผิดหลักวิศวกรรม-วัสดุก่อสร้างต่ำกว่ามาตรฐาน “เปรมชัย กรรณสูต”ติดร่างแห

วันที่ 15 พฤษภาคม 2568 แหล่งข่าวจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยความคืบหน้าคดีอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ถล่ม โดย พล.ต.ท.สยาม บุญสม ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ได้ลงนามแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนชุดใหญ่ ภายใต้การนำของ พล.ต.ต.สมควร พึ่งทรัพย์ และ พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ เพื่อคลี่คลายข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่สั่นสะเทือนวงการก่อสร้างไทย 
จากการสอบสวนและตรวจสอบพยานหลักฐานทั้งในเชิงเอกสารและคำให้การของผู้เชี่ยวชาญ พบข้อบกพร่องร้ายแรงหลายประการ ทั้งในขั้นตอนการออกแบบ การควบคุมการก่อสร้าง รวมถึงคุณภาพวัสดุที่ใช้

สรุปสาระสำคัญของผลสอบ

แบบแปลนวิศวกรรม ไม่เป็นไปตามกฎกระทรวง และ ตำแหน่งของกำแพงปล่องลิฟต์ ไม่ได้อยู่ตรงกลางอาคารตามหลักวิศวกรรม ส่งผลต่อ “ศูนย์กลางของการบิดตัว” เมื่อเกิดแผ่นดินไหว

คอนกรีตไม่ผ่านค่ามาตรฐาน KSC ที่ใช้วัดความแข็งแรงของโครงสร้าง

เหล็กเส้นบางส่วนไม่เป็นไปตามแบบแปลน และลายเซ็นวุฒิวิศวกรถูกปลอม จากผลตรวจสอบโดยกองพิสูจน์หลักฐานกลาง

ทั้งหมดนี้ คือ ปัจจัยหลักที่นำไปสู่การถล่มแบบพังทลายรวดเดียว ของตัวอาคาร ทำให้ผู้ใช้แรงงาน และเจ้าหน้าที่ภายในเสียชีวิตทันทีถึง 89 ราย บาดเจ็บสาหัส 1 ราย บาดเจ็บเล็กน้อย 8 ราย และ ยังสูญหายอีก 11 ราย

แบ่งกลุ่มผู้ถูกดำเนินคดีเป็น 3 กลุ่ม รวม 17 ราย

กลุ่มที่ 1 บริษัทผู้ออกแบบ ได้แก่

บริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด

และ บริษัท ไมนฮาร์ท (ประทศไทย)

ทำสัญญาระหว่างสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน โดยผู้มีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคล 1 ราย และมีกลุ่มวิศวกรผู้ลงนามในแบบแปลนซึ่งเป็นวิศวกรโครงสร้าง จำนวน 5 ราย รวมผู้กระทำความผิดทั้งหมด 6 ราย

กลุ่มที่ 2 บริษัทผู้รับจ้างควบคุมการก่อสร้าง

ได้แก่ กิจการร่วมการค้า PKW จำนวน 1 รายในฐานะส่วนตัว เนื่องจากเป็นผู้แทนลงนามในสัญญา ซึ่งทั้ง 3 บริษัท ตกลงยินยอมรับผิดร่วมกัน และ แทนกันต่อผู้ว่าจ้างในทุกกรณี โดย 3 บริษัท ประกอบด้วย

1.บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด

2.บริษัท เคพี คอนซัลแทนส์ แอนด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด

3.บริษัท ว.และสหาย คอนซัลแตนตส์ จำกัด

รวมผู้กระทำความผิดทั้งหมด 5 ราย

กลุ่มที่ 3 บริษัทผู้รับจ้างก่อสร้าง ได้แก่

1.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)

2.บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด

และ ผู้มีอำนาจกระทำการแทนกินการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี รวมผู้กระทำความผิดทั้งหมด 6 ราย

รวมผู้ถูกดำเนินคดีทั้งสิ้น 17 ราย โดย 1 ใน 17 รายที่ถูกดำเนินคดีนั้น ปรากฎชื่อ นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานกรรมการบริหาร "อิตาเลียนไทยฯ" และผู้ถือหุ้นใหญ่สุดใน "อิตาเลียนไทยฯ" 11.90% ด้วย


ตำรวจแจ้งข้อหา–ละเมิดกฎหมายอาญาร้ายแรง

คณะพนักงานสอบสวนได้ตั้งข้อกล่าวหาครอบคลุมตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 227 (ละเลยโดยประมาทจนเป็นเหตุให้สิ่งปลูกสร้างถล่ม) และ มาตรา 238 (ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยประมาท จากการก่อสร้างไม่ถูกต้องตามหลักวิชาชีพ)