ลุ้นพิสูจน์กำลังคอนกรีต"ตึกสตง." โอกาสค้นหาคำตอบตึกถล่ม

05 พ.ค. 2568 | 10:55 น.

การเก็บลูกปูนพิสูจน์คอนกรีตตึก สตง. โอกาสสุดท้ายไขปริศนาตึกถล่ม ชี้ต้องเร่งเก็บข้อมูลอย่างรอบด้านก่อนทุกอย่างกลายเป็นอดีต

การถล่มของอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ยังคงเป็นปริศนา แม้จะผ่านมาแล้วกว่าหนึ่งเดือน เหตุใดอาคารขนาดใหญ่จึงพังครืนลงมาได้อย่างง่ายดาย โดยยังไร้ข้อสรุปอย่างเป็นทางการ แม้มีการคาดการณ์หลายประเด็น ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2568 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เริ่มเจาะเก็บตัวอย่าง “ลูกปูน” จากบริเวณที่ยังคงหลงเหลือโครงสร้างบางส่วน เพื่อนำไปทดสอบกำลังอัดว่าตรงตามมาตรฐานออกแบบหรือไม่ ท่ามกลางกระแสวิจารณ์ว่าการเก็บตัวอย่างอาจเลือกเก็บเฉพาะจุดที่ดูสมบูรณ์เท่านั้น

ศาสตราจารย์ ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย และอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม และระบุว่าการรื้อถอนซากอาคารได้ดำเนินไปจนถึงชั้นใต้ดิน

แต่ยังเหลือเพียงบางส่วนของผนังปล่องลิฟต์ที่ยังไม่ถูกรื้อ ซึ่งเป็นจุดต้องสงสัยว่าอาจเป็นต้นตอของการพังถล่ม การตรวจสอบกำลังอัดของคอนกรีตบริเวณดังกล่าวจึงถือเป็น “โอกาสสุดท้าย” ที่จะไขความจริง และหากปล่อยผ่านไป จะไม่สามารถย้อนกลับมาทำซ้ำได้อีก

ศ.ดร.อมร ยังตั้งข้อสังเกตจากภาพข่าวที่เผยแพร่ พบว่าลูกปูนที่เก็บมีขนาดใหญ่ (เส้นผ่านศูนย์กลาง 75-100 มม.) และนำมาจากบริเวณที่ดูสมบูรณ์ ซึ่งอาจไม่สะท้อนภาพรวมที่แท้จริงของคุณภาพวัสดุ โดยเสนอแนะแนวทางเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ 5 ข้อสำคัญ ได้แก่

  1. วางแผนล่วงหน้า ควรกำหนดวัน เวลา และตำแหน่งการเก็บลูกปูนจากโครงสร้างประเภทต่างๆ อย่างชัดเจน พร้อมถ่ายภาพประกอบเป็นหลักฐาน
  2. เก็บกระจายทั่วถึง ต้องมีการสุ่มตัวอย่างตามหลักสถิติจากทั้งจุดที่สมบูรณ์และไม่สมบูรณ์ เพื่อให้ได้ข้อมูลหลากหลายและวิเคราะห์เปรียบเทียบได้
  3. ใช้เทคโนโลยีร่วม เช่น เก็บลูกปูนขนาดเล็กตามมาตรฐานญี่ปุ่น NDST 3439 หรือเก็บผงปูนเพื่อตรวจวิเคราะห์ตามงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยโตเกียว ปี 2566
  4. เชิญผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ ร่วมให้คำแนะนำด้านการพิสูจน์วัสดุและโครงสร้างจากซากอาคาร เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือและมุมมองวิชาการระดับนานาชาติ
  5. เก็บรักษาหลักฐาน ซากที่เก็บแล้วไม่ควรถูกทำลายทันที ควรเก็บไว้ในลักษณะที่สามารถวิเคราะห์ซ้ำได้ในภายหลัง

หากแนวทางข้างต้นไม่ถูกนำไปปฏิบัติ ศ.ดร.อมร เตือนว่า ข้อมูลวัสดุที่ได้อาจไร้น้ำหนักเพียงพอในการอธิบายสาเหตุ และเปิดช่องให้เกิดข้อโต้แย้งตามมาได้ พร้อมย้ำว่า “มีเวลาเหลือไม่มากนัก” หน่วยงานที่รับผิดชอบควรเร่งดำเนินการให้รอบคอบและครบถ้วน ก่อนหลักฐานสำคัญเหล่านี้จะสูญหายไปอย่างถาวร