มูลนิธิหยุดพนัน ยก 7 ประเด็น "ต้านกาสิโน" ในสถานบันเทิงครบวงจร

16 เม.ย. 2568 | 06:24 น.
อัปเดตล่าสุด :16 เม.ย. 2568 | 06:41 น.

"เลขาธิการมูลนิธิหยุดพนัน" โพสต์เตือนรัฐบาล ชี้การผลักดันกาสิโนขัดกับหลักธรรมาภิบาล 7 ประการ ทั้งความซื่อสัตย์ กาลเทศะ และการรับฟังเสียงประชาชน จี้ให้ทบทวนก่อนสร้างตัวอย่างไม่ดีแก่เยาวชน

นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน โพสต์เฟซบุ๊กถึง 7 ประเด็นถึงรัฐบาล ที่มีความพยายามผลักดันสถานบันเทิงครบวงจรที่มีกาสิโน แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศเลื่อนการเสนอร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร ออกไปแล้ว เป็นสมัยประชุมหน้าของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่จะมีการนำร่าง พ.ร.บ.มาพิจารณา  

 

นายธนากร ระบุว่า อยากเสนอมุมมองเรื่องนี้ในอีกด้านหนึ่ง ประเด็นที่อยากให้ผู้นำรัฐบาลพึงระมัดระวัง เนื่องจากอากัปกิริยาการผลักดันเรื่องนี้ในช่วงที่ผ่านมาอาจเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีแก่ผู้พบเห็น โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน  มีประเด็นที่อยากพูดถึงอย่างน้อย 7 ประการ 

1. ความไม่ซื่อสัตย์ การผลักดันกาสิโนอันหมายถึงแหล่งพนันถูกกฎหมายขนาดใหญ่ ทั้งที่ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งไม่ได้มีการนำเสนอนโยบายเช่นนี้ แต่ครั้นพอได้เป็นรัฐบาลกลับทำในสิ่งที่ตนไม่ได้พูดเอาไว้  ขณะเดียวกันบางอย่างที่เสนอไว้ในตอนหาเสียงกลับไม่แสดงความจริงจังว่าจะทำให้สำเร็จ ถือเป็นความไม่ซื่อสัตย์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น   

 

2. การไม่รู้กาลเทศะ การผลักดันกฎหมายสถานบันเทิงครบวงจร ในขณะที่ประเทศชาติเพิ่งผ่านพ้นเหตุการณ์ภัยพิบัติ และกำลังเผชิญการคุกคามด้วยมาตรการการค้าระหว่างประเทศ เป็นการแสดงถึงความไม่สำนึกว่าสิ่งใดควรทำก่อนสิ่งใดควรทำหลัง ไม่รู้ว่าเรื่องใดสำคัญและเร่งด่วน และเรื่องใดไม่สำคัญและไม่เร่งด่วน

3. การเอาแต่ได้ อากัปกิริยาของรัฐบาลขณะนี้เปรียบเหมือนอาการของเด็กที่กำลังอยากได้ของเล่น ที่พยายามทำทุกวิถีทางที่จะให้ได้สิ่งที่ตนต้องการ   พฤติการณ์ของพรรครัฐบาลที่พยายามใช้เสียงข้างมากลากพาไปสู่เป้าหมายของตน  หวังเพียงผลประโยชน์ระยะสั้น ไม่คำนึงถึงสิ่งที่จะเกิดตามมาจากสิ่งที่ตนได้กระทำลงไป เป็นการกระทำที่ไร้วุฒิภาวะอย่างยิ่ง  

 

4. การไม่ศึกษาหาความรู้ การพยายามผลักดันให้ร่างพ.ร.บ.นี้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาก่อน โดยไม่มีการศึกษาความเป็นไปได้ทางการปฏิบัติและการศึกษาผลกระทบต่าง ๆ ที่มากพอ   อาศัยแต่การลอกเลียนความสำเร็จของประเทศอื่น เหมือนการลอกการบ้านจากเด็กเรียนเก่ง โดยไม่สนใจลอกเลียนวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสม  เพียงเห็นเขาทำสำเร็จก็อยากทำตาม โดยไม่ประเมินตนเองว่ามีความสามารถเพียงพอจะทำอย่างเขาได้หรือไม่ เป็นการไม่ทำงานบนฐานของปัญญา  

 

5. การทำผิดเป็นถูก รัฐบาลกำลังหักหาญพยายามทำสิ่งผิดให้กลายเป็นสิ่งถูกด้วยการบัญญัติกฎหมาย  เป็นการใช้อำนาจสร้างความถูกต้องบนความไม่ชอบธรรม  เป็นแบบอย่างของการใช้กำลังหรือพลังอำนาจเพื่อสร้างความชอบให้กับสิ่งที่ตนอยากทำ ทั้งที่ความจริงสิ่งนั้นคือสิ่งที่ผิดบาปต่อส่วนรวม  

 

6. การไม่เคารพผู้อื่น ปัจจุบันมีเสียงติติง คัดค้านทัดทานจากประชาชนหลายฝ่าย  ทั้งผู้อาวุโสในสังคม คณาจารย์  ผู้นำศาสนา  แพทย์  ซึ่งล้วนเป็นอาชีพที่ถือเป็นบุพพการีของสังคมที่คู่ควรแก่การรับฟัง แต่รัฐบาลกลับแสดงอาการไม่ยี่หระ และพยายามด้อยค่าเสียงคัดค้านเหล่านั้น ถือเป็นการไม่เคารพและให้เกียรตืผู้อื่น ปราศจากความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่เหมาะแก่การกล่าวอ้างว่าตนมีที่มาจากความเป็นประชาธิปไตย  

 

7. การไม่ละอายใจ การที่รัฐบาลหวังหารายได้เข้าจากกิจการสีเทาอย่างการพนัน คือการสื่อสารต่อเด็กเยาวชนว่า การทำทุกอย่างให้ได้เงินแม้สิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ เป็นสิ่งที่ไม่น่าละอายแก่ใจ ลักษณะนี้เท่ากับเป็นการส่งเสริมค่านิยมรวยเร็วด้วยเล่ห์เหลี่ยม ปฏิเสธค่านิยมการทำงาน ที่หากต้องการความสำเร็จย่อมต้องทุ่มเทและพยายามอย่างหนัก          

 

นี่คือ 7 แบบอย่างไม่ดีที่อยากให้รัฐบาลทบทวนตนเอง ทั้งในฐานะที่คณะรัฐมนตรีแต่ละท่านล้วนมีบุตรหลานของตนเอง และล้วนเป็นผู้ที่ได้รับการนับถือยกย่องจากประชาชนจำนวนไม่น้อย ... น่าจะคิดดีได้มากกว่านี้

 

ที่มา Facebook ธนากร คมกฤส