เปิดศึกชิงสินทรัพย์ปิโตรเลียม2.8แสนล้าน

05 มิ.ย. 2559 | 02:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

กระทรวงพลังงาน เร่งร่างทีโออาร์เปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมหมดอายุ ให้ทันภายในสิ้นปีนี้ หวังรักษากำลังผลิตให้ต่อเนื่อง ขณะที่เอกชนทั้งในและต่างประเทศเกือบ 10 ราย เปิดศึกชิงสินทรัพย์มูลค่า 2.8 แสนล้านบาท แต่ขอดูความชัดเจนราคาหลังหักค่าเสื่อมราคาลงมา ด้านเชฟรอน และปตท.สผ.ประกาศศักดาพร้อมเข้าร่วมประมูล มีโอกาสคว้าชัยชนะ กำข้อมูลต้นทุนอยู่ในมือ ส่วนคปพ.ยังไม่พอใจ ยื่นหนังสือถึง"ประยุทธ์"ต้องเป็นระบบพีเอสซี

[caption id="attachment_58869" align="aligncenter" width="700"] สินทรัพย์ของแหล่งสัมทานเอรวัณและบงกช สินทรัพย์ของแหล่งสัมทานเอรวัณและบงกช[/caption]

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เห็นชอบแนวทางบริหารจัดการแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดสัญญาปี 2565-2566 ในแหล่งเอราวัณ ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ที่จะหมดอายุในวันที่ 23 เมษายน 2565 และแหล่งบงกช ของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท.สผ. แปลง 15 จะหมดอายุในวันที่ 23 เมษายน 2565 และแปลง 16 และ17 จะหมดอายุในวันที่ 7 มีนาคม 2566 โดยเลือกแนวทางการเปิดประมูลเพื่อหาผู้รับสัมปทานรายใหม่ เข้ามาดำเนินการ หลังจากที่สินทรัพย์ทั้งหลายตกเป็นของรัฐนั้น

ทั้งนี้ การดำเนินงานหลังจากนี้ไป กรมจะไปเร่งจัดทำร่างทีโออาร์ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์คุณสมบัติ และผลตอบแทน ของผู้ที่จะเข้าร่วมประมูล ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน สอดคล้องกับการรอประกาศใช้พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาขั้นสุดท้าย ก่อนเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

รวมทั้งอยู่ระหว่างรอผลสรุปการประเมินสินทรัพย์ และปริมาณสำรองปิโตรเลียม ที่กรมได้จ้างที่ปรึกษาเข้ามาดำเนินการ เพื่อใช้เปรียบเทียบกับข้อมูลที่เจ้าของสัมปทานเดิมทั้ง 2 ราย ต้องส่งรายการทรัพย์สินให้กรมนพิจารณาด้วย

เร่งประมูลให้ทันในปีนี้

โดยมองว่าขั้นตอนการเปิดประมูลได้ผู้รับสัมปทานรายใหม่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ เป็นอย่างช้า เพื่อให้ผู้ผลิตรายใหม่สามารถไปวางแผนในการผลิตก๊าซธรรมชาติทั้ง 2 แห่งในประมาณ 2.2 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แยกเป็นแหล่งเอราวัณราว 1.24 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และแหล่งกงกช 870 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ให้ดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง หลังจากแหล่งสัมปทานสิ้นสุดสัญญาแล้ว

"การเปิดประมูลแหล่งสัมปทานทั้ง 2 แหล่งนั้น จะต้องรอรายละเอียดเงื่อนไขที่ออกมาว่าจะเป็นอย่างไร จูงใจหรือไม่ เพราะหากรัฐต้องการรายได้มากๆ แต่ไม่คำนึงถึงแหล่งปิโตรเลียมและราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ก็อาจไม่มีผู้รับสัมปทานต้องการเข้ามาประมูลมากนัก แม้ว่าจะมีหลายบริษัทที่มีขนาดใหญ่และศักยภาพใกล้เคียงกับเชฟรอนและปตท.สผ. โดยเฉพาะบริษัทของจีน เนื่องจากอาจมองว่าไม่คุ้มค่า อย่างไรก็ตามคงต้องรอทีโออาร์ชัดเจนก่อน รวมทั้งประเมินราคาน้ำมันในปีนี้จะสูงกว่า 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลหรือไม่"

เอกชนไทย/เทศสนใจ

แหล่งข่าวจากระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า หลังจากมติกพช.ได้เห็นชอบแนวทางการเปิดประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่หมดอายุทั้ง 2 แหล่งนั้น ส่งผลให้บรรดาผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เกิดการตื่นตัวอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่เคยซื้อซองที่จะยื่นขอสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในรอบ 21 เกือบ 10 ราย มีความสนใจเป็นอย่างมากที่จะเข้าร่วมประมูล ไม่ว่าจะเป็น ผู้ประกอบการรายเดิมอย่างเชฟรอน และปตท.สผ. นอกจากนี้ยังมี บริษัท มูบาดาลา จากสหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์, บริษัท ซีเอ็นพีซีเอชเค (ไทยแลนด์) จำกัด จากจีน, บริษัท ซาลามานเดอร์ เอนเนอร์ยี่ (บัวหลวง) ลิมิเต็ด จากอังกฤษ, บริษัท สยามไมเอโกะ จำกัด จากญี่ปุ่น , รวมถึงบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และยังมีผู้ประกอบการจากมาเลเซียและแคนาดา ที่ยังไม่เคยเข้ามาสำรวจขุดเจาะได้ให้ความสนใจเช่นกัน

"สำหรับปตท.สผ. นอกจะเข้าประมูลในแหล่งบงกช แล้ว ยังสนใจที่จะเข้าประมูลแข่งกับเชฟรอนในแหล่งเอราวัณอีกด้วย "

ชิงสินทรัพย์2.8แสนล้าน

ในขณะที่สินทรัพย์ของทั้ง 2 บริษัท ที่มีการลงทุนตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงปัจจุบัน คิดเป็นมูลค่าราว 7.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 2.8 แสนล้านบาท(อัตราแลกเปลี่ยน 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ) แยกเป็นแหล่งเอราวัณ ของบริษัท เชฟรอน ประมาณ 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งประกอบไปด้วยแท่นหลุมผลิต จำนวน 28 แท่น แท่นผลิตกลางและแท่นผลิต 5 แท่น แท่นอุปกรณ์เพิ่มแรงดัน 1 แท่น แท่นที่พักอาศัย 2 แท่น และแท่นชุมทางท่อ 1 แท่น ขณะที่แหล่งบงกช สินทรัพย์มีมูลค่าราว 3.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ประกอบไปด้วย แท่นหลุมผลิต 25 แท่น แท่นแท่นผลิตกลางและแท่นผลิต 2 แท่น แท่นที่พักอาศัย 1 แท่น และแท่นชุมทางท่อ 1 แท่น

แต่ทั้งนี้ มูลค่าสินทรัพย์ดังกล่าว ยังไม่ได้มีการหักค่าเสื่อมราคา ที่จะต้องมีคณะกรรมการขึ้นมาประเมินว่าสุดท้ายแล้ว มูลค่าสินทรัพย์หักค่าเสื่อมราคาแล้วจะอยู่ในระดับใดกันแน่ เพื่อที่จะได้ทราบราคากลางประมูลออกมา ซึ่งคาดว่ามูลค่าสินทรัพย์จะลดลงมาก เนื่องจากมีการใช้งานมาหลายปี ประกอบกับตั้งสินทรัพย์ในราคาที่สูง เกรงว่าจะดึงดูดหรือสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ที่จะเข้ามาประมูลน้อย เพราะอย่าลืมว่า ทางผู้ประกอบการจะต้องกันเงินไว้ก้อนหนึ่งสำหรับการรื้อถอนแท่นที่หมดอายุลงด้วย ซึ่งต้องใช้เงินในส่วนนี้อีกประมาณ 7-10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อแท่น

อีกทั้ง ผู้ที่สนใจจะร่วมประมูลมองว่า ปริมาณสำรองก๊าซที่มีอยู่ ยังสามารถพัฒนาขึ้นมาได้ไม่ต่ำกว่า 10 ปี โดยจะเห็นได้จากข้อมูลกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ที่ระบุอยู่ในรายงานประจำปี 2557 แหล่งเอราวัณ มีปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้ว 2,800 พันล้านลูกบาศก์ฟุต และแหล่งบงกช มีประมาณ 1,474 พันล้านลูกบาศก์ฟุต

โอกาสรายเดิมชนะสูง

อย่างไรก็ตาม มองว่าการเปิดประมูลครั้งนี้ ผู้ที่มีโอกาสจะได้แหล่งสัมปทานทั้ง 2 แหล่งนี้ไป จะเป็นผู้ประกอบการรายเดิม เนื่องจากทราบต้นทุนของมูลค่าทรัพย์สิน ต้นทุนการผลิตในแต่ละแปลง ปริมาณสำรองที่จะขุดพบ และมีความชำนาญที่อยู่กับแหล่งผลิตมาเป็นระยะเวลานาน เมื่อเทียบกับรายใหม่ที่จะเข้ามา โดยไม่ทราบข้อมูลต้นทุนทั้งหมด ถือเป็นการเสี่ยงที่จะคว้าแหล่งสัมปทานมาได้

อีกทั้ง การที่รัฐบาลเลือกเปิดประมูล แทนที่จะเจรจากับเจ้าของสัมปทานรายเดิม ถือว่าเข้าทางเชฟรอนและปตท.สผ. เนื่องจากการเจรจาผู้รับสัมปทานรายเดิม อาจจะมีความเสียเปรียบ เพราะจะต้องใช้การแบ่งปันผลประโยชน์ตอบแทนรัฐในระบบไทยแลนด์ ทรีพลัส ซึ่งต้องจ่ายสูงกว่าเมื่อเทียบกับการประมูล ที่มีราคากลางออกมา และผลประโยชน์ตอบแทนจะไม่สูงมากนัก ทำให้นักลงทุนต่างๆ สนใจที่จะเข้ามาประมูลในครั้งนี้

ปตท.สผ.พร้อมสู้ศึก

ด้านนายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ภายหลังจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) มีมติเลือกแนวทางการเปิดประมูล เพื่อบริหารจัดการแหล่งสัมปทานที่หมดอายุในปี 2565-2566 ยืนยันว่า ปตท.สผ.มีความพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลแหล่งสัมปทานดังกล่าว แต่ยังรอความชัดเจนเงื่อนไขการเปิดประมูลจากทางภาครัฐ ซึ่งที่ผ่านมาไม่ว่ารัฐจะประกาศใช้แนวทางใด ทั้งการเจรจาโดยตรงกับผู้รับสัมปทานเดิม และแนวทางการเปิดประมูล ปตท.สผ.ก็มีความพร้อม

นายปรัชญา ภิญญาวัธน์ ประธานคณะกรรมการ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ปตท.สผ.เห็นด้วยกับแนวทางการเปิดประมูลแหล่งสัมปทานที่จะหมดอายุสัญญาในปี 2565-2566 และมีความพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลแข่งขัน แต่คงต้องรอดูเงื่อนไขของภาครัฐก่อนว่าจะเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยเฉพาะแหล่งปิโตรเลียมในทะเล ซึ่งไม่เหมือนธุรกิจอื่นๆ เนื่องจากต้องใช้เงินสำรวจล่วงหน้า เพื่อจะได้ทราบแน่ชัดว่าจะผลิตอย่างไร จึงมีความเสี่ยงสูง ดังนั้นก็น่าเป็นห่วงว่าช่วงรอยต่อสัมปทาน หากประมูลได้ผู้รับสัมปทานรายใหม่เข้ามาผลิต อาจส่งผลให้กำลังการผลิตก๊าซหายไปได้

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ปตท.สผ.มองว่าแนวทางการเจรจากับผู้รับสัมปทานรายเดิม โดยรัฐต้องการให้ผลตอบแทนประเทศเพิ่มขึ้น เป็นเรื่องที่ดีที่สุด เพื่อรักษากำลังการผลิตก๊าซฯให้คงเดิม แต่เมื่อรัฐเลือกแนวทางเปิดประมูล ก็พร้อมดำเนินการตาม แต่ต้องดูว่ารัฐจะพิจารณาในส่วนของภาษีการลงทุนและการรื้อถอนแท่นขุดเจาะเดิม หากไม่ได้ผลิตต่อจะทำอย่างไร

แหล่งข่าวจากบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เปิดเผยว่า เชฟรอนจะยังคงทำงานและประสานความร่วมมือกับรัฐบาลในเรื่องสัมปทานที่จะหมดอายุต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อความมั่นคงทางพลังงานในอนาคต และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการหยุดชะงักในการจัดหาก๊าซฯให้กับประเทศ

คปพ.ส่งหนังสือค้าน

ด้านนางสาวรสนา โตสิตระกูล เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงาน(คปพ.) เปิดเผยว่า กรณีที่ กพช. มีมติให้เอกชนสามารถต่ออายุสัมปทาน แม้ว่าจะเป็นแนวทางเปิดประมูลก็ตาม เพราะนั่นคือการทำผิดกฎหมาย เพราะในพ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 ระบุชัดเจนว่าหากหมดอายุสัญญาแล้ว ทรัพย์สินทั้งหมดจะต้องตกเป็นของรัฐเท่านั้น แต่กระทรวงพลังงานกลับใช้วิธีการเอื้อผลประโยชน์ให้กับเอกชน ทำให้ประเทศเกิดความเสียหาย โดยการอ้างว่าจะทำให้กำลังการผลิตก๊าซหายไปจนส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า

โดยเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 ทาง คปพ.ยื่นหนังสือคัดค้านต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ยังต้องการให้พิจารณาเรื่องการแต่งตั้งองค์กรก๊าซแห่งชาติหรือบรรษัทพลังงานแห่งชาติเข้ามา เพื่อเข้ามากำกับดูแลระบบพีเอสซี หรือระบบจ้างผลิตต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,162 วันที่ 2 - 4 มิถุนายน พ.ศ. 2559