ผู้ต้องขังเข้าหลักเกณฑ์ได้รับพระราชทานอภัยโทษ 103,613 ราย

12 ส.ค. 2565 | 08:12 น.

ราชทัณฑ์เผยผู้ต้องขังเข้าหลักเกณฑ์ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ตามพระราชกฤษฎีกา 2565 มีจำนวน 103,613 ราย โดย 80,000 รายได้ลดวันต้องโทษ ทั้งถูกปล่อยตัวทันที 22,822 ราย

วันนี้(วันที่ 12 ส.ค.2565) นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 70 พรรษา 28 กรกฎาคม 2565 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พ.ศ.2565 นับเป็นอภิลักขิตกาลสำคัญ

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตราพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ แก่ผู้ต้องราชทัณฑ์เพื่อให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดี อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติสืบไป

 

โดยในครั้งนี้ ผู้ต้องราชทัณฑ์ที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษ ต้องเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นดี หรือชั้นดีมาก หรือชั้นเยี่ยมเท่านั้น และต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกำหนดโทษตามคำพิพากษา หรือไม่น้อยกว่า 8 ปี แล้วแต่ระยะเวลาใดจะเป็นคุณมากกว่า 

ตามพระราชกฤษฎีกาฯ จะมีทั้งกลุ่มผู้ต้องราชทัณฑ์ส่วนหนึ่งที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป และกลุ่มที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษจำคุกตามสัดส่วนที่กำหนด โดยแตกต่างกันตามประเภทความร้ายแรงของคดี และตามชั้นของนักโทษเด็ดขาด

 

ทั้งนี้กรมราชทัณฑ์ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน ได้ร่วมกันบำบัดฟื้นฟู พัฒนาพฤตินิสัยให้กับผู้ต้องราชทัณฑ์ ในระหว่างที่ถูกควบคุมตัวอยู่ภายในเรือนจำและทัณฑสถาน ตั้งแต่การให้การศึกษา การอบรมพัฒนาจิตใจ การฝึกทักษะอาชีพ ไปจนถึงการแนะแนวการประกอบอาชีพ

 

โดยเฉพาะการเข้ารับการฝึกอบรมเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย โครงการพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว “โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์” ซึ่งเป็นหลักสูตรฝึกปฏิบัติการเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ขนาดเล็กให้แก่ผู้ต้องขัง เพื่อให้มีความรู้ติดตัว เป็นพื้นฐานในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ สามารถนำไปประกอบอาชีพสุจริตเลี้ยงตนเองและครอบครัวภายหลังพ้นโทษได้

 

นอกจากนี้กรมราชทัณฑ์ยังได้ประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับเครือข่ายภาคสังคมและชุมชนในการติดตามดูแลให้ความช่วยเหลือ โดยหวังว่าสังคม ตลอดจนผู้ประกอบการ หรือห้างร้าน บริษัทต่าง ๆ จะให้โอกาสผู้พ้นโทษเข้าทำงาน ร่วมให้กำลังใจและเปิดใจยอมรับผู้ก้าวพลาด ให้ได้กลับตัวเป็นพลเมืองดีของสังคม ไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก อันถือเป็นการปกป้องและคุ้มครองสังคมให้มีความปลอดภัยอย่างยั่งยืนต่อไป

 

สำหรับจำนวนผู้ต้องขังที่ได้เข้าหลักเกณฑ์ปล่อยตัว และลดโทษแล้วปล่อยตัวออกจากเรือนจำมีจำนวน 22,822 คน และได้รับการลดโทษแต่ยังคงต้องจำคุกต่อในเรือนจำมีจำนวน 80,791 ราย รวมมีผู้ต้องขังที่ได้รับการพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกา 2565 ฉบับนี้จำนวน 103,613 ราย

 

ส่วนกลุ่มนักโทษเด็ดขาดที่ไม่อยู่ในข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้ ได้แก่

 

1.นักโทษเด็ดขาด ลงโทษประหารชีวิตที่เคยได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้ว และได้รับโทษจำคุกมาแล้วยังไม่เกินสิบห้าปี และมิใช่นักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม

 

2.ผู้ต้องโทษคดียาเสพติดตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเกินแปดปี หรือจำคุกตลอดชีวิต ภายหลังพระราชกฤษฎีกา 2565 บังคับใช้ 

 

3.ผู้ต้องขังที่กระทำความผิดซ้ำและมิใช่นักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม 

 

4.นักโทษเด็ดขาดชั้นกลาง ชั้นต้องปรับปรุง หรือชั้นต้องปรับปรุงมาก

 

อย่างไรก็ตามขณะนี้กรมราชทัณฑ์มีผู้ต้องขังเด็ดขาดที่ควบคุมในเรือนจำทั่วประเทศ จำนวน 213,092 ราย จากผู้ต้องขังทั้งหมด 269,267 ราย จากข้อมูลกรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2565