"กราดยิงที่อุบล-ไฟไหม้ผับชลบุรี" แนะ วิธีเอาตัวรอดจากเหตุไม่คาดคิด

05 ส.ค. 2565 | 08:50 น.

เปิดวิธีเอาตัวรอดจากเหตุ "กราดยิงที่จังหวัดอุบล-ไฟไหม้ผับชลบุรี" 2 เหตุการณ์สะเทือนขวัญครั้งล่าสุดที่มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

เหตุการณ์สะเทือนขวัญสองเหตุการณ์ล่าสุด "เหตุกราดยิงที่จังหวัดอุบลราชธานี" และ "เหตุไฟไหม้ผับในจังหวัดชลบุรี" ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นในบ้านเราแต่หากต้องอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น เราจะมีวิธีเอาตัวรอดจากสถานการณ์นั้น ๆ ได้อย่างไร 

 

เริ่มกันที่ เหตุเพลิงไหม้สถานบันเทิง Mountain B ในพื้นที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมากนั้น ข้อมูลโดยอาจารย์ นพ.พงศศิษฏ์ สิงหทัศน์ สาขาวิชาศัลยศาสตร์อุบัติเหตุและเวชบำบัดวิกฤตศัลยกรรม ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้คำแนะนำวิธีเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ดังกล่าวเอาไว้ ดังนี้

1.ตั้งสติแล้วรีบพาตัวเองออกมาจากที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด

2.พยายามหลีกเลี่ยงการสูดควันต่าง ๆ เข้าไป เพราะอาจทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน ทั้งยังได้รับสารเคมีต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ

3.เอาผ้าชุบน้ำปิดปากปิดจมูก หรือหาผ้าห่มชุบน้ำแล้วห่มตัว จากนั้นรีบหาทางออกมาจากที่เกิดเหตุ

4.หากอยู่ในห้อง อย่าเพิ่งรีบเปิดประตู ควรจับประตูก่อนเพื่อดูว่าร้อนหรือไม่ หากรู้สึกร้อนนั่นหมายถึงอาจมีไฟอยู่หลังประตู จึงไม่ควรเปิดเพราะจะทำให้ควันไฟเข้าห้อง ควรหาผ้าหรืออื่น ๆ มาอุดตรงประตู เพื่อป้องกันไม่ให้ควันไฟเข้ามาในห้องได้

5.หากติดอยู่ในห้องพยายามส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ เช่น ส่องไฟมือถือออกไปทางหน้าต่าง เพื่อให้ภายนอกรู้ว่ามีคนต้องการความช่วยเหลืออยู่

6.หลีกเลี่ยงการใช้ลิฟต์ ควรใช้บันไดหนีไฟแทน

7.หลีกเลี่ยงการวิ่งหนีเข้าจุดอับ

8.ระหว่างหาทางออกจากที่เกิดเหตุ หากมีควันมากพยายามก้มต่ำหรือคลาน เพราะออกซิเจนจะลอยอยู่ที่ต่ำ

อีกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ คือ กรณีเหตุ "กราดยิงที่อุบล" ที่กลุ่มคนยกพวกทำร้ายร่างกายกัน โดยใช้อาวุธปืนในการก่อเหตุ บริเวณลานจอดรถแห่งหนึ่ง ต.ในเมือง อ.เมืองอุบลราชธานี เมื่อช่วงกลางดึกวันที่ 3 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย

 

จากบทความชื่อ บอกเล่า ก้าวทันหมอ ในหัวข้อ เอาตัวรอดอย่างไร เมื่อตกอยู่ใน สถานการณ์ความรุนแรง เกี่ยวกับ เหตุกราดยิง ซึ่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยได้เคยจัดทำขึ้นในช่วงเกิดจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 แนะวิธีการเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ลักษณะนี้เอาไว้ว่า 

 

หากประสบเหตุอยู่ท่ามกลางการกราดยิง สิ่งที่ควรปฏิบัติเป็นอย่างยิ่งและโดยเร็วที่สุด คือการหลบหนี การหลบซ่อน และการต่อสู้ (Run – Hide – Fight) โดยการหลบหนีมีข้อควรปฏิบัติดังนี้

 

การหลบหนี (RUN)

1.หนีจากที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด รวมถึงสังเกตและจดจำทางเข้าออกให้แม่นยำ

2.วางแผน และเตรียมพร้อมในการหลบหนีออกจากสถานที่นั้นอย่างรวดเร็วที่สุด โดยหลีกเลี่ยงเส้นทางหนีที่คับแคบ

3.มีสติอยู่เสมอขณะหลบหนี ที่สำคัญควรสละสิ่งของหรือสัมภาระทั้งหมดเพื่อการหลบหนีที่คล่องตัว และหากเป็นไปได้ควรช่วยเหลือคนรอบตัวให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้

 

การหลบซ่อน (HIDE)

ทั้งนี้ กรณีที่ไม่สามารถหลบหนีได้นั้นแนะนำให้หาที่หลบซ่อน เพื่อให้พ้นสายตาของผู้ก่อเหตุ โดยสิ่งที่ควรทำ มีดังนี้

1.ปิดไฟมืด ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือเครื่องมือติดต่อที่ทำให้เกิดเสียง เช่นทีวี วิทยุ เปลี่ยนเสียงโทรศัพท์ให้เป็นระบบสั่น

2.หากมีหน้าต่างหรือประตู ให้ปิดม่าน และล็อคประตูให้แน่นหนา

3.พยายามหาวัตถุที่หนักและมั่นคง เช่น โต๊ะ ตู้ กั้นประตูไว้

4.การหลบซ่อนที่ดี ควรแอบอยู่หลังหรือใต้โต๊ะ ตู้ที่แข็งแรง

5.พยายามหลีกเลี่ยงที่อับปิดตาย และไม่ควรอยู่ใกล้ที่เสี่ยงอันตราย เช่น ริมหน้าต่างกระจก

6.หากหลบซ่อนอยู่หลายคน พยายามกระจายพื้นที่หลบซ่อนให้มากที่สุด และพยายามขอความช่วยเหลือโดยไม่ต้องใช้เสียง เช่น ขอความช่วยเหลือผ่านช่องทาง SMS หรือ LINE เป็นต้น

 

การต่อสู้ (FIGHT)

หากอยู่ที่สถานการณ์คับขัน ไม่สามารถหลบหนีหรือซ่อนตัวได้ วิธีการสุดท้ายในการเอาตัวรอด คือ การต่อสู้ด้วยสติ และกำลังทั้งหมดที่มีและสิ่งที่หลายคนอาจไม่ทราบคือ ในสถานการณ์ซึ่งหน้านั้น ไม่ควรพูดเพื่ออ้อนวอน ขอร้องหรือเพื่อเกลี้ยกล่อมคนร้าย เพราะวิธีการเหล่านี้มักไม่ได้ผล และในทางกลับกันอาจยิ่งกระตุ้นคนร้ายให้ตื่นตัวมากขึ้น

 

การเตรียมพร้อมเพื่อรับมือสถานการณ์การกราดยิงเป็นสิ่งจำเป็นเพราะสามารถเกิดขึ้นได้เสมอเมื่ออยู่ในที่สาธารณะควรพึงมีสติเสมอ หากมีเสียงดังผิดปกติ เสียงปืน หรือเสียงระเบิด ขอให้สังเกตทิศทางและแหล่งที่มาของเสียง หากได้ยินเสียงประกาศเตือน หรือเกิดความสับสนของกลุ่มคน ขอให้พึงระวังตนเองและหาที่หลบหนี หรือหลบซ่อนโดยเร็วเปลี่ยนการสื่อสารให้เป็นแบบไม่ต้องใช้เสียง

 

รวมถึงหาช่องทางในการแจ้งเหตุกับเจ้าหน้าที่เพื่อบอกตำแหน่งของมือปืนต้นเหตุ จำนวนผู้ก่อเหตุ  ลักษณะ และการแต่งตัวของผู้ก่อเหตุ จำนวนและประเภทอาวุธ และจำนวนผู้ที่ต้องสงสัยว่าบาดเจ็บ

 

การเตรียมพร้อมที่ทุกคนพึงมีคือ

1.ควรทราบเบอร์โทรศัพท์ที่จำเป็นเช่น เบอร์ 191, 1669 หรือดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นช่วยเหลือฉุกเฉิน เช่น จส.100 เพื่อแจ้งเหตุฉุกเฉินในหลายๆ ช่องทาง

2.ควรรับการฝึกอบรมปฐมพยาบาลสำหรับอุบัติเหตุ หรือการอบรมการห้ามเลือดเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ไม่คาดคิด

3.ก่อนออกจากบ้าน ควรชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือให้เต็ม มีแบตเตอรี่สำรองพร้อมสายชาร์จเสมอ

4.บอกที่มาที่ไปและเวลากลับให้คนที่บ้าน หรือเพื่อนสนิททราบเพื่อสามารถช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน

 

ที่มา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย