svasdssvasds
logo-pwa

เพิ่ม thansettakij

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด
thansettakij

ผวา! ฝีดาษลิงยังมีกลุ่มเสี่ยงอีกมากในไทย เพราะอะไร น่ากลัวแค่ไหน เช็คเลย

04 สิงหาคม 2565

ผวา! ฝีดาษลิงยังมีกลุ่มเสี่ยงอีกมากในไทย เพราะอะไร น่ากลัวแค่ไหน เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ หมอเฉลิมชัยมัดรวมข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับฝีดาษลิง

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

ข่าวล่าสุด !! ไทยพบฝีดาษลิงรายที่ 3 แล้ว ที่จังหวัดภูเก็ต

 

จากกรณีที่ไทยได้พบฝีดาษลิงมาแล้ว 2 ราย โดยรายแรกเป็นชายไนจีเรียที่จังหวัดภูเก็ต และรายที่สองเป็นชายไทยที่กรุงเทพมหานครนั้น

 

ขณะนี้ทางกรมควบคุมโรคได้ออกมาแถลงว่า ได้พบฝีดาษลิงยืนยันเป็นรายที่ 3 ของประเทศไทย

 

เป็นชายเยอรมันอายุ 25 ปี เข้ามาเที่ยวที่จังหวัดภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2565

 

มีอาการไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต และมีตุ่มขึ้นทั้งที่อวัยวะเพศและนอกร่มผ้า ทำให้สามารถวินิจฉัยว่าเป็นฝีดาษลิงจริง

 

ขณะนี้อยู่ในระหว่างการสอบสวนโรค เพื่อจัดทำไทม์ไลน์ และดูแลผู้สัมผัสเสี่ยงต่อไป

ฝีดาษลิงเป็นโรคที่เกิดจากไวรัสคนละตัวกับฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษ แต่เป็นไวรัสที่อยู่ในกลุ่มใกล้เคียงกัน มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

 

  • พบฝีดาษลิงเป็นครั้งแรกในทวีปแอฟริกา เมื่อกว่า 60 ปีมาแล้ว และเป็นโรคประจำถิ่นเป็นหลัก

 

  • ในปีนี้ พบเคสแรกที่อังกฤษ และมีลักษณะพิเศษคือ ติดต่อกันเองโดยไม่ต้องเกี่ยวข้องกับ การเดินทางไปทวีปแอฟริกา

 

  • มีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 20,000 ราย ใน 75 ประเทศ เสียชีวิต 5 ราย

 

ฝีดาษลิงยังมีกลุ่มเสี่ยงอีกมากในไทย

 

  • ส่วนใหญ่ 98% จะเป็นผู้ชาย และจำนวนมาก เป็นชายที่มีความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้ชายด้วยกัน (MSM)

 

  • พบตุ่มที่เปลี่ยนแปลงไปจากนอกร่มผ้า มาเป็นในร่มผ้า บริเวณอวัยวะเพศและรอบทวารหนักมากขึ้น

 

  • ตรวจพบไวรัสในน้ำอสุจิได้ด้วย ทำให้มีความสงสัยว่าอาจจะติดเชื้อผ่านทางเพศสัมพันธ์
     
  • สามารถใช้วัคซีนป้องกันไข้ทรพิษหรือฝีดาษคนมาป้องกันฝีดาษลิงได้ และขณะนี้ประเทศไทยได้เตรียมจองซื้อไว้แล้ว นอกจากที่มีวัคซีนรุ่นเก่าที่องค์การเภสัชฯเก็บไว้ และมีคุณภาพดี 500,000 โดส

 

  • ใช้ยารักษาไวรัสชนิดอื่น มารักษาฝีดาษลิงได้ด้วย

 

  • อาการเด่นคือ มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต และมีตุ่มที่มีลักษณะหลากหลาย ตั้งแต่ตุ่มผื่นแดง ตุ่มน้ำใส และตุ่มหนอง

 

กล่าวโดยสรุป 

 

ประเทศไทยมีผู้วินิจฉัยแล้วว่าเป็นฝีดาษลิง 3 ราย โดยเป็นชาวต่างชาติ 2 ราย ชาวไทย 1 ราย

 

และคาดว่า น่าจะมีผู้ติดฝีดาษลิงที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยอีกจำนวนหนึ่ง

 

อย่างไรก็ตามการติดฝีดาษลิงนั้น ไม่ได้ติดง่ายแบบโควิด-19 แต่ก็ต้องระมัดระวัง เพราะการติดโดยสัมผัสตุ่มในบริเวณอวัยวะเพศหรือทวารหนัก จะทำให้การสืบค้นผู้สัมผัสเสี่ยงเป็นไปได้ยาก