ติดเชื้อโควิดกินยาจนหายตรวจเจอผลบวกอีกคืออะไร น่ากลัวหรือไม่ อ่านเลย

02 ส.ค. 2565 | 21:11 น.

ติดเชื้อโควิดกินยาจนหายตรวจเจอผลบวกอีกคืออะไร น่ากลัวหรือไม่ อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ หมอเฉลิมชัยชี้รับยาครบคอร์สแล้ว อาจจำเป็นจะต้องตรวจดูผลทดสอบ รวมทั้งสังเกตอาการ

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

ติดโควิดและกินยาจนหายดี มีผลเป็นลบ แต่กลับมาเจอผลบวกใหม่ได้ ด้วย พบทั้ง Paxlovid (แพ็กซ์โลวิด) และ Molnupiravir (โมลนูพิราเวียร์)

 

จากกรณีที่ประธานาธิบดี Biden ติดโควิด ได้ทานยา Paxlovid ไป 5 วัน ครบตามขนาดการรักษา

 

มีผลตรวจเป็นลบ 4 วันติดต่อกัน พอวันที่ 5 เกิดมีผลเป็นบวกใหม่อีกครั้ง ซึ่งใช้ภาษาว่า “Rebound Infection “ นั้น

 

รายงานในสหรัฐฯ ที่มีมาอย่างต่อเนื่องนั้นพบว่า เกิดหลังจากใช้ยาต้านไวรัสที่ชื่อว่า Paxlovid

 

ขณะนี้ ในประเทศไทยก็พบเหตุการณ์เดียวกันแล้ว โดยทางกรมการแพทย์ได้ออกมาแจ้งว่า พบผู้ป่วยอย่างน้อย 2 ราย ที่ทานยาต้านไวรัส Molnupiravir แล้วกลับมามีผลเป็นบวกอีกครั้งหนึ่ง

 

วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจรายละเอียดเรื่องนี้กัน

คำว่า Rebound Infection หมายความว่า มีการติดโควิดที่ได้รับการวินิจฉัยยืนยันชัดเจน จากการตรวจหาแอนติเจน หลังจากนั้นได้รับยาต้านไวรัส เมื่อทานครบคอร์สจนหายดีแล้ว พบว่ากลับมาติดได้อีก

 

ซึ่งขณะนี้รายงานการศึกษาอย่างน้อย 3 ชิ้นด้วยกัน ได้แก่

 

ที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร MMWR 

 

วารสาร Clinical Infectious Diseases และรายงานการศึกษาของบริษัทยา Pfizer เอง

 

พบว่ามีโอกาสที่จะเจอ Rebound ประมาณ 1-2% โดยส่วนใหญ่จะมีอาการไม่ค่อยรุนแรงนัก และมักพบในคนที่มีอายุมากกว่า 65 ปี หรือมีโรคประจำตัว

 

อย่างไรก็ตาม มีส่วนหนึ่งที่อาการหนักจนต้องนอนโรงพยาบาล หรือต้องไปห้องฉุกเฉินด้วยเช่นกัน

 

ติดเชื้อโควิดกินยาจนหายตรวจเจอผลบวกอีกคืออะไร

 

ที่สำคัญมีรายงานชัดเจนว่า คนที่กลับมามีเชื้อใหม่ สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ อย่างน้อยก็มีรายงานว่า

 

ชายอายุ 67 ปี ได้ยาไป 5 วัน จนหายดีไป 7 วัน ได้นำเชื้อกลับมาติดให้หลานวัย 6 เดือน

 

อีกรายเป็นชาย 63 ปี หลังจากหายไปแล้ว 3 วัน ก็กลับมาแพร่เชื้อให้สมาชิกในครอบครัวอีก 2 คน

 

ขณะนี้ทางการของสหรัฐอเมริกาได้ให้คำแนะนำว่า เมื่อเกิดกรณี Rebound Infection จะต้องทำการกักตัวใหม่อย่างน้อย 5 วัน แล้วต้องใส่หน้ากากไปอีกอย่างน้อย 10 วันเพราะสามารถที่จะแพร่เชื้อได้
 

เรื่องทั้งหมดเป็นเรื่องของ Paxlovid ซึ่งมีประสิทธิผลเกือบ 90%

 

โดยได้มีนักวิชาการ ทำการศึกษาหาสาเหตุ พบว่าน่าจะเกิดจากการที่ปริมาณยาเข้าไปถึงเซลล์ที่มีไวรัสในจำนวนที่ไม่สูงพอที่จะฆ่าเชื้อไวรัสทั้งหมด ไม่ได้เกิดจากไวรัสดื้อต่อยา หรือเกิดจากผู้ติดเชื้อมีภูมิคุ้มกันที่ไม่สูงพอแต่อย่างใด

 

ส่วนประเทศไทย ซึ่งได้ใช้ Molnupiravir แล้ว ซึ่งมีประสิทธิผลน้อยกว่า Paxlovid ก็เพิ่งมีรายงานพบ Rebound Infection ด้วย 2 ราย

 

จึงเป็นข้อมูลใหม่ ที่จะต้องติดตามโดยใกล้ชิดต่อไป สำหรับผู้ที่ติดเชื้อจนมีอาการเข้าเกณฑ์ต้องได้รับยาต้านไวรัส

 

ก็คงประมาทไม่ได้ เมื่อรับยาครบคอร์สแล้ว อาจจำเป็นจะต้องตรวจดูผลทดสอบ รวมทั้งสังเกตอาการด้วยว่าจะมีอาการติดเชื้อกลับขึ้นมาใหม่หรือไม่