เตือน! ระวังยาต้านโควิดปลอม อันตรายแค่ไหน อ่านเลยที่นี่

02 ส.ค. 2565 | 02:04 น.

เตือน! ระวังยาต้านโควิดปลอม อันตรายแค่ไหน อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ หมอธีระชี้การเข้าถึงยารักษาที่มีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานการแพทย์สากลสำคัญมาก

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความ

 

การเข้าถึงยารักษาที่มีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานการแพทย์สากลนั้นสำคัญมากในการควบคุมป้องกันโรคระบาด และดูแลรักษา
ยามวิกฤติ ที่ใดที่ระบบบริการไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการจำเป็นได้ ก็จะเกิดปัญหาเรื่องการเข้าถึงบริการ

 

ความล่าช้า ความไม่เป็นธรรม และอื่นๆ จนนำมาซึ่งการต้องดิ้นรนหากันเอง
ขอให้ระมัดระวังเรื่องยาปลอมให้ดี เพราะจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ 

 

การใช้ยาใดๆ ควรปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์เพื่อให้คำแนะนำจนมีความรู้ความเข้าใจดีเกี่ยวกับสรรพคุณ วิธีการใช้ เรื่องที่ควรระมัดระวัง และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม แม้การซื้อหายามากินเองจะมีความอันตราย หากไม่มีความรู้ดีพอ ก็คงต้องช่วยกันเตือน 

พร้อมกับการปรับปรุง พัฒนา จัดระบบบริการให้ดีเพื่อตอบสนองต่อความต้องการจำเป็นของสังคม

 

แต่สิ่งสำคัญที่สุด ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ในแต่ละสังคมแต่ละประเทศคงทราบดีว่า "อะไร"ที่อันตรายที่สุด 

 

และวิกฤติความสูญเสียที่เกิดขึ้นมากมายนั้นมาจาก"เหตุ"ใด

 

ระวังยาต้านโควิดปลอม อันตรายแค่ไหน

 

อนาคตต้องช่วยกัน"ป้องกัน"ไม่ให้เกิดขึ้นอีก 

 

อัพเดต Omicron สายพันธุ์ย่อย BA.2.75 (ชื่อเล่น: Centaurus)
Wang Q และทีมงานจาก Columbia University ของสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลการวิจัยล่าสุดใน bioRxiv เมื่อวานนี้ 1 สิงหาคม 2565

 

หากจำกันได้ BA.2.75 นี้พบครั้งแรกในอินเดีย มีการระบาดในประเทศมาก โดยค่อยๆ มีการกระจายไปหลายประเทศทั่วโลก และเป็นที่จับตามองว่าอาจมาเบียด BA.5 ได้ในอนาคต เพราะมีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่ง

ผลการวิจัยประเมินสมรรถนะของ BA.2.75 พบว่า

 

  • ดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากกว่า BA.2 ราว 1.8 เท่า (สมรรถนะการดื้อพอๆ กับ BA.2.12.1 ที่เคยระบาดมากในสหรัฐอเมริกา)
  • ดื้อต่อภูมิคุ้มกันน้อยกว่า BA.5 ที่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน 1.6 เท่า
  • จับกับตัวรับที่ผิวเซลล์ได้แน่นกว่าทุกสายพันธุ์ย่อยของ Omicron ที่มีมา (ซึ่งในทางคลินิกแล้ว สมรรถนะการจับกับตัวรับที่ผิวเซลล์ได้ดีอาจสัมพันธ์กับความรุนแรงของโรคได้เช่นกัน)

 

ดังนั้น จึงสะท้อนให้เห็นว่า การกลายพันธุ์ของไวรัสนั้นยังทำนายได้ค่อนข้างยากว่าจะไปในทิศทางใด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรุนแรง สมรรถนะการแพร่เชื้อ รวมถึงการดื้อต่อภูมิคุ้มกัน จำเป็นต้องมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอยังเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

 

สำหรับคำถามว่า BA.2.75 จะระบาดมากขึ้นจนเบียด BA.5 ได้หรือไม่นั้น ขณะนี้ยังต้องติดตามกันต่อไป ประเทศต่างๆ ที่มี BA.2.75 อยู่นั้นมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ยังไม่พรวดพราด