โอมิครอน BA.5 รุนแรงกว่า BA.2 ถึง 1.65 เท่า ดูจากอะไร อ่านเลย

22 ก.ค. 2565 | 02:35 น.

โอมิครอน BA.5 รุนแรงกว่า BA.2 ถึง 1.65 เท่า ดูจากอะไร อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ หมอธีระเผยผลวิจัยล่าสุดจากประเทศเดนมาร์ก โดย Hansen CH และคณะ

ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความ

 

อัพเดตความรู้โควิด-19

 

1."BA.5 มีความรุนแรงกว่า BA.2 ถึง 1.65 เท่า"

 

งานวิจัยล่าสุดจากประเทศเดนมาร์ก โดย Hansen CH และคณะ เผยแพร่ใน SSRN เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2022 ที่ผ่านมา

 

ทำการศึกษาในประชากรทั่วประเทศ อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งติดเชื้อโรคโควิด-19 ในช่วง 10 เมษายนถึง 20 มิถุนายน 2022

 

สาระสำคัญพบว่า Omicron (โอมิครอน) สายพันธุ์ย่อย BA.5 (ซึ่งระบาดทั่วโลกขณะนี้) มีความรุนแรงจนทำให้ป่วยจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลมากกว่าสายพันธุ์ย่อย BA.2 (ซึ่งระบาดมาก่อน BA.5) ถึง 65% (หรือ 1.65 เท่า)
 

ผลการศึกษานี้อธิบายปรากฏการณ์ปัจจุบัน ที่เราพบว่านอกจาก BA.5 จะแพร่เชื้อติดเชื้อกันได้ง่ายกว่าเดิมแล้ว ยังทำให้มีคนป่วยจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลมากขึ้นทั่วโลก เพราะ BA.5 มี severity มากกว่า BA.2

 

อย่างไรก็ตาม คงต้องติดตามผลการศึกษาจากที่อื่นๆ ด้วยว่าได้ผลสอดคล้องกับที่เดนมาร์กหรือไม่ หากสอดคล้องกัน ก็จะมีความมั่นใจมากขึ้น

 

ทั้งนี้ การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอเวลาใช้ชีวิตประจำวัน 

 

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องนั้นสำคัญมาก

 

โอมิครอน BA.5 รุนแรงกว่า BA.2 ถึง 1.65 เท่า

 

2. "Long COVID is real"

 

Sorensen AIV และคณะจากประเทศเดนมาร์ก ทำการสำรวจในประชากรทั่วประเทศจำนวน 430,173 คน อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป เกี่ยวกับอาการผิดปกติหลังการติดเชื้อโรคโควิด-19 (Long COVID or PASC)

 

เผยแพร่ในวารสาร Nature Communications วันที่ 21 กรกฎาคม 2022 ที่ผ่านมา

 

สาระสำคัญพบว่า ความผิดปกติหลังติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้นพบได้มากมายหลากหลายอาการ แม้ในผู้ที่ติดเชื้อโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลก็ตาม และผู้ที่มีอาการผิดปกตินั้นก็มีอาการคงค้างยาวนานไปถึงอย่างน้อย 1 ปีในสัดส่วนที่สูง

คนที่เป็นเพศหญิง และคนที่อยู่ในช่วงวัยกลางคนขึ้นไป จะเสี่ยงต่อปัญหา Long COVID มากกว่ากลุ่มอื่น

 

กลุ่มที่ติดเชื้อพบว่าประสบปัญหาเรื่องสมรรถนะทางกายอ่อนล้า สมรรถนะทางจิตใจอ่อนล้า ไม่มีสมาธิ ปัญหาด้านความจำ และปัญหาการนอนหลับ มากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ติดเชื้ออย่างมีนัยสำคัญ โดยมีความเสี่ยงสูงกว่าถึง 40.45%, 32.58%, 28.34%, 27.25%, และ 17.27% ตามลำดับ

 

ดังนั้น การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด

 

การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นมีความจำเป็น และวัคซีนจะช่วยป้องกัน Long COVID ได้ราว 15%

 

การใส่หน้ากากสำคัญมาก และจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไปได้มาก