เทียบประสิทธิภาพยาต้านโควิดโอมิครอน BA.5 ที่ไทยใช้ ชนิดไหนได้ผลดี เช็คเลย

21 ก.ค. 2565 | 06:02 น.

เทียบประสิทธิภาพยาต้านโควิดโอมิครอน BA.5 ที่ไทยใช้ ชนิดไหนได้ผลดี เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ หมอนิธิพัฒน์รวบรวมประสิทธิภาพแต่ละชนิดไว้ให้แล้ว

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล (หมอนิธิพัฒน์) หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความระบุว่า 

 

วันที่สี่หลังช่วงหยุดยาวครั้งที่หนึ่งของเดือน ตัวเลขของประเทศวันนี้ยังทรงตัว แต่สถานการณ์ที่บ้านริมน้ำวันนี้แนวโน้มดีขึ้น 

 

การตรวจพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งในบุคลากรเองและประชาชนภายนอกเริ่มลดลงต่อเนื่อง 

 

ที่น่าดีใจกว่าคือ ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาลแล้วรอการหมุนเวียนเตียง ลดลงจากจุดสูงสุดมากว่าครึ่งหนึ่งแล้ว 

 

ทำเอาทุกฝ่ายโล่งอก เพราะไม่ต้องไปขยายศักยภาพเตียงโควิด โดยลดเตียงผู้ป่วยทั่วไปเหมือนที่เคยทำมาในอดีต 

 

สำหรับผู้ป่วยที่รอเตียงส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ป่วยล้างไตต่อเนื่องแต่ติดเชื้อเสียก่อน 

 

หรือไม่ก็เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ญาติไม่สามารถดูแลที่บ้านได้

เมื่อวานกล่าวถึงความรุนแรงของโอมิครอนที่รวม BA.5 ด้วย ว่าลดลงไปกว่าช่วงเดลตาราว 15 เท่า 

 

ทั้งนี้น่าจะเป็นผลจากการปกป้องด้วยวัคซีนโควิด 

 

วันนี้ลองมาดูอาวุธที่เรามีไว้ใช้รับมือ กรณีที่พลาดพลั้งติดเชื้อขึ้นมาหลังจากป้องกันและระวังเต็มที่ (อย่าไปเชื่อใครให้ท้ายถอดหน้ากากในที่สาธารณะ) จะมีตัวช่วยป้องกันไม่ให้โรครุนแรงได้มากแค่ไหน 

 

ทีมนักวิจัยจากญี่ปุ่นได้ทดลองยากับเชื้อ BA.5 ในห้องทดลอง 

 

แต่ต้องระวังว่าผลในห้องทดลองอาจไม่ไปด้วยกันดีกับการใช้รักษาผู้ป่วยจริง 

 

เริ่มจากแอนติบอดี้ผสมที่บ้านเรากำลังจะมีใช้ปลายเดือนนี้แล้ว คือ Evusheld (tixagevimab/cilgavimab) เป็นยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อครั้งเดียวอยู่นานไป 6 เดือน 

 

เทียบประสิทธิภาพยาต้านโควิดโอมิครอน BA.5 ที่ไทยใช้ ชนิดไหนได้ผลดี

 

จะใช้สำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ล้างไตต่อเนื่องและผู้ป่วยเปลี่ยนอวัยวะ เนื่องจากกลุ่มนี้ภูมิขึ้นไม่ดีหลังฉีดวัคซีนตามปกติ 

 

จึงต้องมีการเสริมภูมิทางอ้อม ผลต่อ BA.5 ของยานี้ลดลงราว 30 เท่าเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ต้นกำเนิดที่ใช้เป็นตัวเปรียบเทียบในการทดลองนี้ 

 

แม้ผลจะลดลงแต่ก็ยังดีกว่ายาในกลุ่มเดียวกันอีกหลายชนิด และคงช่วยบรรเทาความรุนแรงได้ในกลุ่มเปราะบางมาก
 

ลองมาดูยาที่ใช้รักษาเมื่อมีการติดเชื้อแล้ว ไล่เรียงไปจาก Molnupiravir, Paxlovid, และ Remdesivir ตามลำดับ 

 

พบว่ายาทั้งสามชนิดมีประสิทธิภาพลดลง 1.5, 1.6, และ 1.2 เท่าตามลำดับ 

 

ดังนั้นยังมั่นใจได้ว่าหากป่วยจากสายพันธุ์ย่อย BA.5 ที่เป็นเจ้าตลาดอยู่ตอนนี้ ยาที่บ้านเรามียังเอาอยู่ 

 

ที่สำคัญต้องเตรียมยาไว้ให้มีเพียงพอใช้ตามราคาคุย และต้องมีการใช้อย่างสมเหตุสมผลในทางวิชาการด้วย

 

เราไม่อยากให้สังคมเห็นดีเห็นงามกับการไต่เต้าสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นโดยความสัมพันธ์ 

 

แต่เราอยากเห็นการใช้ความสามารถที่ได้จากการฝึกฝนภายใต้การยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรม และความเชี่ยวชาญในทางวิชาชีพ