“วราวุธ”ชี้อนุรักษ์“โลมาอิรวดี”อยู่ในขั้นตอนวิจัย เร่งประสานขยายพันธุ์

19 ก.ค. 2565 | 10:16 น.

“วราวุธ ศิลปะอาชา”ชี้อนุรักษ์ “โลมาอิรวดี” อยู่ในขั้นตอนวิจัย เร่งประสานงานขยายสายพันธุ์ พร้อมเจรจากับทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบ

วันนี้(19 ก.ค.65) นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงการอนุรักษ์ "โลมาอิรวดี" ที่เหลืออยู่ 14 ตัว ว่า ขณะนี้เบื้องต้นหนัง The last 14 ตอนนี้ในพื้นที่ได้ประสานกับทางกระทรวงวัฒนธรรมเพื่อเร่งผลิตหนังเรื่องนี้ นอกจากนี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ประสานงานกับพื้นที่เรื่องการขยายสายพันธุ์ เพื่อไม่ให้เลือดชิดกันจนเกินไป และสร้างความเข้มแข็งให้กับสายพันธุ์โลมาอิรวดีที่เหลืออยู่ในประเทศไทยนั้น กำลังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยอยู่


“ไม่สามารถทำได้เร็ว เพราะว่ามีความละเอียดอ่อนและใช้เวลาพอสมควร ประเด็นสำคัญอีกหนึ่งอย่างคือ พื้นที่หากินของโลมาต่างๆ ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนยิ่งกว่า เพราะล้วนแล้วแต่กระทบความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวประมงที่อยู่ในพื้นที่” 

นายวราวุธ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้กำลังเป็นไปตามขั้นตอนและกำลังเจรจาในแต่ละฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง โดยขณะนี้ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการกำลังเร่งประสานงานกับทุกฝ่าย ทั้งภาควิชาการและภาคปฏิบัติในการรักษา 14 ชีวิตของโลมาอิรวดี

 

วันเดียวกัน นายวราวุธ ศิลปอาชา ได้เป็นประธานเปิดงาน “ชุมชนไม้มีค่า-ป่าครอบครัว 2565 : 15 ปี BEDO ตำรับเศรษฐกิจชีวภาพชุมชน” โดยมีกลุ่มเครือข่าย “ชุมชน BEDO กว่า 100 ชุมชน” จากทั่วประเทศ เข้าร่วมแสดงผลงาน ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ

นายวราวุธ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 15 ปีของการจัดตั้งสำนักงาน และด้วยหลักการทำงานที่สะท้อนความยั่งยืน และการใช้ทรัพยากรอย่างชาญฉลาด ดังกล่าวนั้น ทำให้ BEDO เป็นพี่เลี้ยงให้กับชุมชนที่สามารถนำเศรษฐกิจมาเป็นเครื่องมือในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติได้เป็นอย่างดี สามารถสร้าง สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และกระตุ้นให้เกิดผู้ประกอบการใหม่

 

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านที่ 5 การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงได้กำหนดค่าเป้าหมายพื้นที่ป่าและพื้นที่สีเขียวไว้ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO มี Concept 3 ประการ ได้แก่ 1) ใช้วัตถุดิบหลักในพื้นที่สร้างเศรษฐกิจ 2) บริหารจัดการทรัพยากรและการผลิตอย่างเป็นมิตรต่อความหลากหลายทางชีวภาพ 3 ) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ คือ นำรายได้และผลประโยชน์ที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพนั้น กลับมาดูแลฟื้นฟู


นายวราวุธ กล่าวอีกว่า สิ่งที่เราทำอยู่นี้เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจจากรากหญ้า การเพิ่มมูลค่าให้กับทรัพยากรที่เรามีอยู่ เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนระดับรากหญ้า เมื่อต่อยอดไประดับนานาชาติรายได้ที่เกิดขึ้นจะนำกลับมารักษาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร ดังนั้นจึงอยากเชิญชวนหน่วยงานราชการทุกหน่วยงานที่อยู่ในศูนย์ราชการแห่งนี้และพี่น้องประชาชนที่มาใช้บริการได้มาเยี่ยมชมสิ่งที่เราทำกันมาตลอด 15 ปี