ค่ายรถโหมขยายโรงงานดันไทยฮับผลิตโลก

18 พ.ค. 2559 | 00:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ค่ายรถดันไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์โลก เอ็มจีประกาศแผนเปิดโรงงานใหม่ที่ชลบุรี ทดแทนโรงงานเดิม"ธนินท์ เจียรวนนท์"ประกาศใช้ความแข็งแกร่งซีพี ดันขึ้นผู้นำตลาดเมืองไทย ด้านฮอนด้าเปิดโรงงานใหม่สุดล้ำที่ปราจีนบุรี มูลค่า 1.7 หมื่นล้าน "นิสสัน"ผุดศูนย์วิจัยพัฒนาอาเซียนในไทย บีเอ็มประกอบ X3,X5 ส่งออกไปจีน เล็งเปิดศูนย์ จัดซื้อชิ้นส่วนส่งโรงงานทั่วโลก

หลังจากที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล มีความต่อเนื่องในการเดินหน้าตามโรดแมปและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบและโครงการการลงทุนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะเริ่มก่อสร้างไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 จะสามารถเรียกความเชื่อมั่นต่อไทยได้ และคาดว่าผลักดันให้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวตามได้กอปรกับมาตรการเร่งรัดการลงทุนภาคเอกชน ทั้งเรื่องมาตรการช่วยเหลือทางการเงินเอสเอ็มอี และมาตรการเร่งรัดการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์ในการลงทุนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เริ่มกลับมาได้เร็วกว่าคาด ถือเป็นอีกแรงกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว

เอ็มจีเตรียมผุดโรงงานใหม่

นายหวู่ ฮวน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด บริษัทผู้ผลิตรถยนต์เอ็มจีในประเทศไทย ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างเซี่ยงไฮ้ ออโตโมทีฟ อินดัสทรี คอร์ปอเรชั่นกับกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี เปิดเผยว่าทางบริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพีฯและ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายรถยนต์ "เอ็มจี" แบรนด์รถยนต์ชั้นนำจากประเทศอังกฤษ ประกาศยืนยันแผนการขยายโรงงานแห่งใหม่ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ เอ็มจี ที่ต้องการดำเนินธุรกิจรถยนต์ในประเทศไทยอย่างจริงจัง

"การสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ เอ็มจี แห่งใหม่นี้ นับเป็นการก้าวย่างทางธุรกิจที่สำคัญอย่างยิ่งของเอ็มจีในประเทศไทย ปัจจุบันโรงงานผลิตรถยนต์ เอ็มจี แห่งใหม่นี้ อยู่ในระหว่างขั้นตอนการออกแบบทั้งในส่วนการก่อสร้างตัวอาคาร การติดตั้งอุปกรณ์ และการจัดวางระบบสายงานการผลิตต่างๆ เพื่อให้โรงงานดังกล่าวเป็นหนึ่งในโรงงานผลิตรถยนต์ที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเอ็มจี โดยการออกแบบและก่อสร้างจะคำนึงให้เป็นไปตามหลัก "การยศาสตร์" เพื่อเอื้อต่อสภาพการทำงานที่เหมาะสมของพนักงานและเจ้าหน้าที่เอ็มจี"นายหวู่ ฮวนกล่าวและว่า

เมื่อโรงงานผลิตรถยนต์เอ็มจี แห่งใหม่นี้ สร้างเสร็จสมบูรณ์จะกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวารุ่นต่างๆ ภายใต้แบรนด์ "เอ็มจี" เพื่อผลิตและจำหน่ายภายในประเทศไทย และเพื่อการส่งออกไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก และ เราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยมีศักยภาพด้านอุตสาหกรรมยานยนต์และและชิ้นส่วนที่เกี่ยวเนื่องมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้ อีกทั้ง เอ็มจี ยังต้องการช่วยสนับสนุนเพื่อการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยควบคู่ไปกับการสร้างความสำเร็จทางธุรกิจของเอ็มจี"

 โรงงานใหม่ทดแทนโรงงานเดิม

ด้านนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับเอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี และ เอ็มจี กับการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และขอชื่นชมในความมุ่งมั่นในการทำงานแข่งขันกับสภาวะตลาดรถยนต์เมืองไทยที่มีความท้าทายเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ทั้งนี้เราจะร่วมเดินทางและเติบโตไปพร้อมๆ กัน ด้วยความเชื่อมั่นในวิสัยทัศน์ เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี และ เอ็มจี ที่จะสามารถก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดรถยนต์ของเมืองไทยในเร็วๆ นี้ โดยมีกลุ่มธุรกิจในเครือเจริญโภคภัณฑ์ช่วยสนับสนุนและเสริมความแข็งแกร่ง

นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ทั้งนี้ โรงงานผลิตรถยนต์ เอ็มจี แห่งใหม่ จะถูกก่อสร้างบนที่ดินจำนวน 437.5 ไร่ ภายในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด 2 จังหวัดชลบุรี ส่วนงบในการลงทุนยังไม่อาจสรุปได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างกำหนดในรายละเอียดว่า จะมีกี่เฟส แต่มีกำหนดแล้วเสร็จไม่เกินปี 2562 โดยโรงงานแห่งนี้ จะมาทดแทนโรงงานในปัจจุบันที่ตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด บนพื้นที่ 17,280 ตารางเมตร ซึ่งเริ่มเดินสายการผลิตครั้งแรกเมื่อต้นปี 2557 ใช้เงินลงทุนประมาณ 9 พันล้านบาท มีกำลังการผลิตเต็มที่ 5 หมื่นคันต่อปี ส่วนศูนย์สร้างประสบการณ์การขับขี่หรือศูนย์ขับขี่ปลอดภัยที่ถนนศรีนครินทร์มีกำหนดเปิดตัวอย่างเป็นทางการภายในเดือนมิถุนายนนี้ ใช้เงินลงทุนประมาณ 10 ล้านบาท

 ฮอนด้าเปิดโรงงานปราจีนบุรี

ขณะเดียวกันทางบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งค่ายรถยนต์ที่พร้อมเปิดโรงงานผลิตรถยนต์แห่งใหม่ในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.ปราจีนบุรี อย่างเป็นทางการแล้ว โดยใช้เงินลงทุนกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท มีกำลังการผลิตรวมทั้งหมด 1.2 แสนคันต่อปี (อ่านรายละเอียดหน้า 28 )

 นิสสันเปิดศูนย์อาร์แอนด์ดี

สอดรับกับนายฮิโรชิ นากาโอกะ รองประธานบริหาร บริษัท นิสสัน มอเตอร์ จำกัด ที่ระบุว่า บริษัท นิสสัน มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด สำนักงานใหญ่ของนิสสันในภูมิภาคเอเชีย- แปซิฟิก ยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ขยายขอบข่ายการดำเนินงานของศูนย์วิจัยพัฒนายานยนต์ในประเทศไทย ให้ครอบคลุม และเพิ่มศักยภาพการออกแบบและพัฒนารถยนต์ โดยเมื่อเร็วๆนี้ได้เปิดศูนย์วิจัยพัฒนายานยนต์ (Nissan Motor Asia Pacific R&D Test Center) พร้อมห้องทดสอบยานยนต์ล้ำสมัย เป็นแห่งแรก ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ด้วยเงินลงทุนกว่า 1 พันล้านบาท พร้อมดูแลการวิจัยและพัฒนาใน 5 ประเทศ ในภูมิภาคอาเซียน

ปัจจุบันนิสสัน มีฐานการวิจัยพัฒนา อยู่ใน 13 ประเทศทั่วโลก โดยศูนย์วิจัยพัฒนายานยนต์แห่งใหม่ในประเทศไทยนี้ จะทำหน้าที่สนับสนุนฐานการผลิตของนิสสัน 7 แห่ง ใน 5 ประเทศภูมิภาคอาเซียน คือ ประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนาม รองรับการพัฒนารถยนต์ เพื่อตอบสนองตลาดในกว่า 90 ประเทศทั่วโลก

ด้านนายคะซุทากะ นัมบุ ประธาน บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การเปิดของศูนย์วิจัยและพัฒนายานยนต์ในครั้งนี้ นับเป็นการยกระดับศักยภาพของนิสสัน จากเดิมที่เป็นศูนย์กลางทางการผลิต ก้าวสู่ศูนย์กลางด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าในระดับภูมิภาคได้ดีมากยิ่งขึ้น ด้วยการวิจัยและพัฒนาทั้งในด้านชิ้นส่วน และการผลิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้นำไปสู่นวัตกรรมของเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าในภูมิภาคนั้นๆได้ โดยปัจจุบัน เรามีวิศวกรชาวไทยมากกว่า 300 คน ปฏิบัติงานในศูนย์วิจัยและพัฒนาแห่งนี้ และเพื่อรองรับต่องานวิจัยพัฒนาในก้าวต่อไปของนิสสัน เราได้ส่งวิศวกรชาวไทยประมาณ 100 คน ไปร่วมงานกับทีมวิศวกรของนิสสันทั่วโลก ซึ่งบุคลากรของไทย ได้รับการยอมรับถึงศักยภาพและทักษะด้านวิศวกรรมที่สูงมาก

สำหรับศูนย์วิจัยพัฒนายานยนต์นิสสัน ภายใต้ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด (NMAP) ตั้งอยู่บนพื้นที่ 6,600 ตารางเมตร บนถนนบางนา-ตราด กม. 22 ก่อตั้งขึ้นด้วยเงินลงทุนกว่า 1,087 ล้านบาท โดยมีขอบข่ายการทำงานครอบคลุมตั้งแต่การวางแผนวิจัยพัฒนา ทดสอบผลิตภัณฑ์ที่ครบวงจร รวมถึงการมุ่งให้เกิดการพัฒนาชิ้นส่วนภายในประเทศ

 บีเอ็มส่งออกไปจีน

นายเจฟฟรีย์ กอดิอาโน ประธานกรรมการบริหาร บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ บริษัทได้จัดส่งรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยูรุ่น X5 และ X3 ซึ่งผลิตและประกอบในประเทศไทย ออกสู่ตลาดในประเทศจีนเป็นครั้งแรก ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2559 เพื่อสนองความต้องการของลูกค้าในประเทศจีนได้มากขึ้น ด้วยการขนส่งที่รวดเร็วและออพชันเสริมที่หลากหลาย นอกจากนี้ ด้วยการปรับอุปกรณ์เสริมต่างๆตามความต้องการของตลาดได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญของแบรนด์ระดับพรีเมียม เราจึงมีความยินดีที่ได้ตอบสนองความต้องการดังกล่าวให้แก่ลูกค้า เรามั่นใจว่ารถยนต์ทั้ง 2 รุ่นจะได้รับความนิยมในตลาดประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย เป็นโรงงานแห่งแรกและแห่งเดียวของบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ที่มีสายการผลิตรองรับการประกอบยนตรกรรมของทั้ง 3 แบรนด์ ได้แก่ บีเอ็มดับเบิลยู มินิ และบีเอ็มดับเบิลยู มอเตอร์ราด รองรับกำลังการผลิตรถยนต์ได้มากถึง 2 หมื่นคันต่อปี และรถจักรยานยนต์ 1 หมื่นคันต่อปี

นอกจากนี้ การที่บริษัทต้องจัดซื้อชิ้นส่วนยานยนต์จากประเทศไทยในแต่ละปี เป็นจำนวนมากเพื่อป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตในประเทศและเพื่อส่งออก คิดเป็นมูลค่ากว่า 4 พันล้านบาทต่อปี บีเอ็มดับเบิลยูจึงเตรียมจัดตั้งสำนักงานจัดหาชิ้นส่วนยานยนต์ขึ้นในประเทศไทยด้วย เพื่อจัดหาชิ้นส่วนยานยนต์จากซัพพลายเออร์ในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน เพื่อรองรับเครือข่ายการผลิตของบีเอ็มดับเบิลยู 30 แห่ง ใน 14 ประเทศทั่วโลก"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,157 วันที่ 15 - 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559