เปิดบทลงโทษ กลิ่น-ควัน"กัญชา กัญชง" เป็นเหตุรำคาญ

15 มิ.ย. 2565 | 02:55 น.

“กัญชาถูกกฎหมาย” เเล้ว เเต่การควบคุมเหตุรำคาญจากกลิ่นและควัน “กัญชา-กัญชง” ฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำทั้งปรับ พาไปดูลงโทษว่ามีอะไรบ้าง

“ปลดล็อกกัญชาเสรี” หรือ “กัญชาถูกกฎหมาย” ล่าสุดมีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ.2565 สาระสำคัญระบุว่า การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ

เพราะการใช้กัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด ในทางที่ไม่เหมาะสม เช่น สันทนาการ อาจส่งผลกระทบต่อสภาวะความเป็นอยู่โดยปกติสุขหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ของผู้อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียงหรือผู้ที่ต้องประสบกับเหตุ จึงกำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข

 

อาศัยอำนาจในมาตรา 25(5) แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  ซึ่งการควบคุมเหตุรำคาญจากกลิ่นและควัน “กัญชา-กัญชง” ฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำทั้งปรับ

 

กำหนดให้ราชการส่วนท้องถิ่นใช้อำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ดังนี้

  1. ควบคุมการใช้กัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใดในทำนองเดียวกัน โดยไม่ก่อเหตุรำคาญจากกลิ่น หรือ ควันรบกวนประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง
  2. เมื่อได้รับแจ้งเรื่องร้องเรียนเหตุรำคาญ เรื่อง กลิ่นหรือควันจากการสูบกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด ให้เจ้าพนักงานดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย โดยศึกษาข้อมูลเบื้องต้น เช่น สถานที่หรือบริเวณที่ถูกประชาชนร้องเรียน แหล่งกำเนิดกลิ่นหรือควัน ลักษณะกลิ่น ช่วงเวลาที่ได้รับผลกระทบ เป็นต้น
  3. ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบว่าเรื่องร้องเรียนไม่เป็นเหตุรำคาญตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นแจ้งผู้ร้องเรียนทราบ และยุติเรื่อง กรณีพบว่า เรื่องร้องเรียนนั้น เข้าข่ายเป็นเหตุรำคาญตามมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้เจ้าพนักงานพิจารณาออกคำแนะนำ เพื่อให้ผู้ก่อเหตุปรับปรุงแก้ไขปัญหาเหตุรำคาญ โดยให้ระบุข้อเท็จจริงที่ตรวจพบ รวมทั้งระบุมาตรการหรือวิธีการที่ใช้ในการแก้ไข หรือปรับปรุงให้เหตุรำคาญนั้น ระงับไปภายในระยะเวลาที่กำหนด
  4. ให้เจ้าพนักงานติดตามตรวจสอบการดำเนินการตามคำแนะนำของเจ้าพนักงาน ที่กำหนดให้ผู้ถูกร้องเรียนต้องปฏิบัติ หากผู้ถูกร้องเรียนไม่ดำเนินการตามคำแนะนำ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น ออกคำสั่งทางปกครอง โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 27 หรือ มาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี เพื่อให้ผู้ก่อเหตุดำเนินการปรับปรุงแก้ไข หรือระงับเหตุรำคาญ ภายในระยะเวลาที่กำหนด

ขั้นตอนการดำเนินการ กรณีที่เกิดเหตุรำคาญขึ้น

 

โทษความผิดของผู้ก่อเหตุรำคาญ

  • เหตุรำคาญเป็นเรื่องที่ต้องการควบคุม ให้ชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข และป้องกันไม่ให้มีการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน จึงให้ความสนใจ ต่อการกระทำอันอาจทำให้ เกิดสภาวะที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ หรือกล่าวในอีกนัยหนึ่ง คือ ทำให้เกิดสภาวะที่บุคคล เกิดความรำคาญ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพทางจิตใจ
  • ความผิดจึงเน้นไปที่การขัดคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น การก่อเหตุรำคาญใดๆ ต้องได้รับการวินิจฉัยจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นเสียก่อน โดยทั่วไปต้องอาศัย เจ้าพนักงานสาธารณสุขที่มีความรู้ ด้านการสาธารณสุข หรือการสุขาภิบาล หรือการอนามัยสิ่งแวดล้อม
  • เมื่อพบว่า บุคคลใดได้ก่อเหตุรำคาญขึ้น เจ้าพนักงานท้องถิ่นก็จะออกคำสั่ง ให้ปรับปรุงแก้ไข หรือระงับเหตุรำคาญนั้น
  • หากไม่ปรับปรุงแก้ไข โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร จึงจะมีโทษความผิด ตามมาตรา 74 กล่าวคือ มีความผิดฐานขัดคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น โดยไม่มีเหตุ หรือข้อแก้ตัวอันสมควร ก็จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • รวมทั้งกรณีที่ขัดคำสั่ง ห้ามมิให้ใช้ หรือยินยอมให้ใช้สถานที่เอกชน ที่เกิดเหตุรำคาญ ที่เป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพ ก็มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • กรณีเกิดเหตุรำคาญในที่ หรือทางสาธารณะ และเหตุรำคาญนั้น มิได้ก่อให้เกิดสภาวะอันตรายอย่างร้ายแรง ต่อสุขภาพ กฎหมายก็ไม่ได้บัญญัติให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น ต้องดำเนินการอย่างไร เพียงแต่ลงโทษผู้กระทำ หรือก่อเหตุแล้วจะไม่ปฏิบัติ ตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นดังกล่าว

 

ข้อมูลอ้งอิง : สำนักที่ปรึกษา กรมอนามัย  พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535  คู่มือการปฎิบัติงานด้านอนามัยสิ่งเเวดล้อมสำหรับสาธารณสุขอำเภอ