รอชม “ครอบพระเศียรทองคำ” เตรียมจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

14 มิ.ย. 2565 | 03:28 น.

นายกฯ รับมอบครอบพระเศียรทองคำ และเครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรีจากแหล่งเตาจังหวัดบุรีรัมย์ 164 รายการ มูลค่า 83 ล้านบาท เป็นสมบัติของชาติ มรดกล้ำค่า กรมศิลปากรเตรียมจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กระทรวงวัฒนธรรมได้นำ “ครอบพระเศียรทองคำ” ที่รับคืนมาจากสหรัฐอเมริกา และโบราณวัตถุ “เครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรีจากแหล่งเตาจังหวัดบุรีรัมย์” เพื่อประชาสัมพันธ์การรับมอบโบราณวัตถุเป็นมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ

 

โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เยี่ยมชม “ครอบพระเศียรทองคำ” และโบราณวัตถุ จากนั้น ได้รับมอบสมุดบัญชีโบราณวัตถุเครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรีจำนวน 164 รายการ 

 

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

 

พร้อมทั้งมอบประกาศเกียรติคุณผู้มอบโบราณวัตถุแก่กรมศิลปากรให้กับนายโยธิน ธาราหิรัญโชติ ซึ่งเป็นผู้ประสงค์มอบโบราณวัตถุให้แก่นายกรัฐมนตรีในนามของรัฐบาล เพื่อเป็นสมบัติของชาติ ประกอบด้วยโบราณวัตถุชิ้นเอกและหนังสือบัญชีโบราณวัตถุ เครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรีจากแหล่งเตาโบราณในจังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 164 รายการ มูลค่า 83 ล้านบาท 

 

โดยจากนี้กรมศิลปากรจะนำไปจัดแสดงในนิทรรศการถาวร ห้องประวัติศาสตร์โบราณคดีสมัยลพบุรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าชมและศึกษาหาความรู้ตามเจตนารมณ์ของผู้มอบ
 

นายกรัฐมนตรี ชมโบราณวัตถุที่กระทรวงวัฒนธรรมนำมาจัดแสดง

นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณในนามของรัฐบาลและคนไทยทั้งประเทศ ที่ได้รับมอบโบราณวัตถุไว้เพื่อให้เป็นสมบัติของคนไทยต่อไปเพราะเป็นมรดกอันล้ำค่า และเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาโบราณคดีและประวัติศาสตร์ชาติไทย มีคุณค่าทั้งทางวิชาการและทางจิตใจที่ได้เก็บรักษาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ นำไปสู่การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของบรรพชนไทยในอดีตรวมถึงอัตลักษณ์ชาติไทย 

 

อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นคนละเอียดอ่อน ละเมียดละไม ความเพียร ความพยายามซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยมีชื่อเสียงมาตั้งแต่สมัยอดีต ขอให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ศึกษาเรียนรู้เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นชาติ ความเป็นคนไทยที่ใช้เวลาเรียนรู้พัฒนาสะสมผ่านหลายช่วงเวลา 

 

นอกจากนี้ยังแสดงถึงอารยธรรมไทยที่มีความเจริญมาอย่างยาวนาน และยังสร้างความภาคภูมิใจและเป็นแบบอย่างที่ดี กระตุ้นเตือนให้ประชาชนและคนรุ่นหลังรักและหวงแหนในมรดกของชาติ ไม่หลงลืมประวัติศาสตร์ชาติไทย ความเป็นมา วัฒนธรรมประเพณีที่ทำให้คนไทยและประเทศไทยอยู่ได้จนทุกวันนี้ 

 

โบราณวัตถุที่นำมาจัดแสดงที่ทำเนียบรัฐบาล

ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม ยังได้รายงานผลการทำงานของคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทยต่อนายกรัฐมนตรี ตลอดระยะเวลา 5 ปีของการดำเนินงาน โดยใช้วิธีทางการทูตผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ประสานความร่วมมือกับรัฐบาลประเทศต่าง ๆ สามารถติดตามและรับมอบโบราณวัตถุได้รวม 9 ครั้ง จำนวน 611 รายการ 

 

เป็นผลของการดำเนินงานของคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุในครั้งแรก จำนวน 2 รายการ ได้แก่ ทับหลังจากปราสาทเขาโล้น จังหวัดสระแก้ว และทับหลังจากปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ รับกลับคืนจากสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 

 

ส่วนอีก 8 ครั้ง จำนวน 609 รายการ เป็นการประสานงานร่วมกันของกระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงการต่างประเทศกับส่วนราชการประเทศต่าง ๆ ช่วยตรวจสอบและแจ้งส่งมอบโบราณวัตถุไทยกลับคืน ได้แก่ โบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และโบราณวัตถุประเภทรูปเคารพ 

 

รวมถึงครอบพระเศียรพระพุทธรูปทองคำ และโบราณวัตถุเครื่องปั้นดินเผา ศิลปะลพบุรี จำนวน 164 ชิ้น ซึ่งผลการดำเนินงานของคณะกรรมการฯได้สร้างกระแสความเข้าใจแก่ประชาชนทั้งในและนอกประเทศ ให้เห็นคุณค่าของโบราณวัตถุหากได้กลับคืนสู่ประเทศต้นกำเนิด โดยมีผู้ครอบครองโบราณวัตถุทั้งในประเทศและนอกประเทศ แจ้งความประสงค์ที่จะมอบโบราณวัตถุแก่รัฐบาลไทย ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา 

 

สำหรับครอบพระเศียรทองคำ มูลค่า 1 ล้านบาท กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้แทนรับมอบจากชาวอเมริกัน ครอบพระเศียรทองคำนี้มีเนื้อทองคำ 95 เปอร์เซ็นต์ ใช้เป็นเครื่องประดับพระเศียรพระพุทธรูป ประกอบด้วยส่วนครอบพระเศียรกว้าง 14 เซนติเมตร ยาว 17.6 เซนติเมตร น้ำหนัก 12.7 กรัม 

 

ครอบพระเศียรทองคำ

 

ส่วนพระรัศมีสูง 12.7 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 4 เซนติเมตร น้ำหนัก 28.9 กรัม เทคนิคดุนทองและตีทอง ในเบื้องต้นสันนิษฐานว่าเป็นโบราณวัตถุศิลปะล้านนา อายุราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา โดยนิยมใช้ประดับพระเศียรพระพุทธรูปแกะสลักจากหิน และนำส่งมอบให้กรมศิลปากรเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา