เฮ รัฐลดค่าธรรมเนียมรายปีค้าของเก่า "โบราณวัตถุ เพชร พลอย ทอง รถยนต์"

04 มี.ค. 2565 | 22:25 น.

ข่าวดี รัฐบาลไฟเขียวปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมในการออกใบอนุญาตประกอบอาชีพขายทอดตลาด และค้าของเก่า ครอบคลุมทั้ง โบราณวัตถุ เพชร พลอย ทอง เงิน และรถยนต์ กลุ่มไหนได้ลดท่าไหร่ เช็คเลยที่นี่

การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีมีติเห็นชอบให้ปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมในการออกใบอนุญาตประกอบการอาชีพขายทอดตลาด และค้าของเก่า ตามกฎกระทรวงมหาดไทย ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พ.ศ. 2474 (ฉบับที่ 2) 

 

การดำเนินการครั้งนี้เป็นไปตามแนวทางของสำนักงาน ก.พ.ร. โดยมีความเห็นว่า สมควรปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมในการออกใบอนุญาตประกอบอาชีพขายทอดตลาดและค้าของเก่าให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากได้นำแนวทางการให้บริการประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้กับการอนุญาต

 

โดยมีผลเป็นการลดต้นทุนการดำเนินการของภาครัฐและลดภาระต้นทุนใน การประกอบอาชีพของประชาชน และยังเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบข้อมูลของผู้กำกับดูแล รวมทั้งสร้างความโปร่งใสและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนอีกด้วย

สำหรับการปรับลดค่าธรรมเนียมรายปีครั้งนี้ ประกอบด้วย

 

1.การขายทอดตลาด

  • เดิมจัดเก็บปีละ 15,000 บาท ลดเหลือ 7,500 บาท

2.การค้าของเก่า แบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้

  • โบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุ ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เดิมจัดเก็บปีละ 1,250 บาท ลดเหลือ 6,250 บาท
  • เพชร พลอย ทอง นาก เงิน หรืออัญมณี เดิมจัดเก็บปีละ 10,000 บาท ลดเหลือ 5,000 บาท
  • รถยนต์ตามกฎมายว่าด้วยรถยนต์ เดิมจัดเก็บปีละ 7,500 บาท ลดเหลือ 3,750 บาท
  • อื่น ๆ เดิมจัดเก็บปีละ 5,000 บาท ลดเหลือ 2,500 บาท

 

ทั้งนี้กระทรวงมหาดไทยแจ้งว่า ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวมีสาระสำคัญเป็นการปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบอาชีพขายทอดตลาดและค้าของเก่า ซึ่งจะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้เฉลี่ยประมาณปีละ 117,065,000 บาท (พิจารณา จากจำนวนใบอนุญาตประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 24,485 ฉบับ และรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตจำนวน 234,130,000 บาท) 

 

อย่างไรก็ตาม การปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะเป็นการช่วยลดภาระต้นทุนในการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยที่มีเงินทุนจำนวนน้อยในการเริ่มต้นประกอบธุรกิจ ซึ่งจะเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคธุรกิจขายทอดตลาดและค้าของเก่า 

 

ประกอบกับการปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมจะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการในการเข้ามาอยู่ในระบบการกำกับดูแลของภาครัฐ อีกทั้ง ยังเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

 

ทั้งนี้ในขั้นตอนต่อไป ที่ประชุมครม.ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย รับความเห็นของสำนักงบประมาณไปพิจารณา ก่อนดำเนินการตามขั้นตอน เพื่อประกาศใช้ต่อไป

สำหรับ การขอใบอนุญาตขายทอดตลาดและค้าของเก่า มีวิธีการดังนี้

สถานที่ติดต่อ

  • กรุงเทพฯ ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง (วังไชยา)
  • ต่างจังหวัด ที่ทำการปกครองอำเภอ 

 

เอกสาร/หลักฐานที่ใช้

  • 1บัตรประจำตัวประชาชน
  • หนังสือเดินทาง/หนังสือสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว - เอกสารต้องเปลเป็นภาษาไทย - หนังสือเดินทางสำหรับชาวต่างชาติ ต้องออกโดยประเทศเจ้าของสัญชาติ)
  • ใบอนุญาตให้ทำงาน
  • ทะเบียนพาณิชย์
  • หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล(กรณีนิติบุคคล)
  • หนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่ทำการค้า หรือหลักฐานการเป็นเจ้าของสถานที่ทำการค้าหรือสัญญาเช่า
  • รูปถ่ายหน้าตรงขนาด 2 นิ้ว 3 รูป
  • ใบอนุญาตจากกรมศิลปากร (กรณีประกอบอาชีพขายทอดตลาด หรือ ค้าของเก่า ประเภทโบราณวัตถุ หรือศิลปวัตถุ ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ)
  • ใบอนุญาตให้ประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (กรณีประกอบการซื้อขายเศษวัสดุ (วัสดุรีไซเคิล))

 

ระยะเวลา

  • 12 วันทำการ

 

คุณสมบัติ

  • มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
  • มีความรู้หนังสือไทยพออ่านออกเขียนได้
  • เป็นผู้ไม่เคยต้องโทษจำคุกในความผิดเกี่ยวกับเงินตรา ความผิดเกี่ยวกับดวงตราแสตมป์ และตั๋ว ความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ความผิดเกี่ยวกับการค้า ความผิดฐานลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชกทรัพย์ รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอกทรัพย์ และรับของโจร

 

คำเตือน

  • ผู้ประกอบการอาชีพขายทอดตลาดและค้าของเก่าโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ใบอนุญาตขายทอดตลาดและค้าของเก่า ให้ใช้ได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม ของปีที่ออกใบอนุญาต
  • สามารถขอต่อใบอนุญาตได้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ของทุกปี
  • ใบอนุญาตขาดอายุต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000บาท