#สมรสเท่าเทียม ย้อนดู 5 ประเทศกับการต่อสู้และการได้มาซึ่งชัยชนะ

08 มิ.ย. 2565 | 04:15 น.

#ไม่เอาพรบคู่ชีวิต กำลังเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างมากในทวิตเตอร์ วันนี้จะพาไปดู #สมรสเท่าเทียม ใน 5 ประเทศกับการต่อสู้และการได้มาซึ่งชัยชนะ

#ไม่เอาพรบคู่ชีวิต กำลังเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างมากในทวิตเตอร์ สะท้อนถึงการคัดค้านความพยายามของรัฐบาลในการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เพื่อใช้กับคู่รักกลุ่มเพศหลากหลาย หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา

 

เห็นชอบให้กระทรวงยุติธรรมนำร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่ร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่พรรคก้าวไกลผลักดัน หรือที่เรียกกันว่า ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม

กำลังกลับเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ในวันพุธ (8 มิ.ย.) ถือเป็นนัดชี้ชะตาของร่างกฎหมายที่กำหนดสิทธิก่อตั้งครอบครัวสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ 

แน่นอนว่าเมื่อเข้าไปดูในโลกออนไลน์ก็มีหลากหลายความเห็นของผู้คน ส่วนใหญ่ยังมองว่า ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ทำให้คู่รักกลุ่มเพศหลากหลายเป็นไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมายต่างๆ เท่ากับคู่รักชายหญิงที่จดทะเบียนสมรสกันด้วย

 

สำหรับประเทศไทยนั้น มีการเคลื่อนไหวอย่างยาวนานของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศทั้งในและนอกสภา เพื่อสิทธิที่เท่าเทียมและได้รับการปฏิบัติด้วยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

 

วันนี้จะพาไปดูอีกหลายประเทศทั่วโลกที่มีการเคลื่อนไหวและต่อสู้มาเกี่ยวกับ #สมรสเท่าเทียม

 

ญี่ปุ่น 

  • เดือนมีนาคม 2564 ศาลซับโปโรตัดสินว่า การปฏิเสธการแต่งงานของผู้ที่มีเพศกำเนิดเดียวกันไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 
  • รัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นระบุว่า การแต่งงานจะต้องได้รับการยินยอมร่วมกันของทั้งสองเพศเท่านั้น
  • การตีความของรัฐเสนอว่า คนที่มีเพศกำเนิดเดียวกันไม่สามารถแต่งงานตามกฎหมายได้
  • ทนายความที่ยื่นฟ้องตีความว่า มาตราดังกล่าวมุ่งหมายเพื่อป้องกันการแต่งงานโดยปราศจากความยินยอมและไม่มีอะไรที่ชัดเจนว่า มาตรานี้มุ่งหมายที่จะห้ามการแต่งงานของผู้มีเพศกำเนิดเดียวกัน
  • คดีนี้เป็นหนึ่งในหลายคดีที่ถูกกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศยื่นฟ้องต่อศาลของญี่ปุ่น
  • วันวาเลนไทน์ของปี 2562 คู่ชีวิตซึ่งมีเพศกำเนิดเดียวกัน 13 คู่ยื่นฟ้องต่อศาลญี่ปุ่นหลายแห่งเพื่อเรียกร้องสิทธิในการแต่งงานตามกฎหมาย
  • ก่อนหน้าคำตัดสินมีบางเมืองออกใบรับรองการแต่งงานให้กับคู่แต่งงานที่มีเพศเดียวกันแต่ไม่ได้มีผลผูกพันตามกฎหมาย
  • แม้ตอนนี้ศาลจะพิพากษาว่า การแต่งงานของผู้มีเพศกำเนิดเดียวกันเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แต่ยังไม่รับรองถึงกระบวนการออกกฎหมายรับรองสถานะคู่ชีวิตเพศกำเนิดเดียวกัน เนื่องจากเกี่ยวพันกับแนวโน้มทางการเมืองด้วย

 

 ไต้หวัน

  • พฤษภาคม 2560 ศาลรัฐธรรมนูญไต้หวันตัดสินว่า กฎหมายห้ามการแต่งงานของคู่ชีวิตที่มีเพศกำเนิดเดียวกันแต่งงาน ละเมิดหลักความเสมอภาคและไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 
  • รัฐสภาจะต้องแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับคำตัดสิน
  • ผลประชามติสะท้อนให้เห็นแรงต้านต่อการสมรสเท่าเทียมในสังคมไต้หวัน แต่รัฐบาลที่นำโดยไช่ อิงเหวินยังคงเดินหน้าแก้ไขกฎหมายตามคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ
  • ในปี 2562 รัฐสภาผ่านกฎหมายประกอบคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 748 ทำให้ไต้หวันเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ผ่านกฎหมายให้คู่ชีวิตเพศเดียวกันสามารถแต่งงานได้ตามกฎหมาย ที่ให้สิทธิเกือบเทียบเท่าคู่ชีวิตชายหญิง 

 

 ออสเตรีย

  • ธันวาคม 2560 ศาลรัฐธรรมนูญของออสเตรียเพิกถอนวลีต่างเพศในประมวลกฎหมายแพ่งว่าด้วยการสมรสและกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนคู่ชีวิต (The Registered Partnership Act)
  • มีผลหลังจากวันที่ 31 ธันวาคม 2561 เป็นต้นไปหรือวันที่ 1 มกราคม 2562 ทำให้หลังจากนี้คู่ชีวิตเพศเดียวกันสามารถทำการแต่งงานได้ตามกฎหมาย

 

 ฝรั่งเศส

  •  18 พฤษภาคม 2556 กฎหมายรับรองสิทธิให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ตามกฎหมาย
  • มีสิทธิในการรับอุปการะบุตรบุญธรรมเหมือนคู๋สมรสชายหญิง
  • ฝรั่งเศสจึงเป็นประเทศลำดับที่  9 ของยุโรปและลำดับที่ 14 ของโลกที่มีการอนุญาตให้มีการแต่งงานของเพศเดียวกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
  • หลังจากผ่านกฎหมายให้คนรักเพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้แล้ว ข้อความในประมวลกฎหมายแพ่งเปลี่ยนแปลงไป เฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของกฎหมายครอบครัวซึ่งได้มีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำและเพิ่มเติมบางมาตราขึ้น เช่น ในมาตรา 144 ได้ตัดคำบ่งบอกเพศในประเด็นอายุของชายและหญิงออก ให้ความหมายของการสมรสว่าเป็นสัญญาที่เกิดจากคนสองคนไม่ว่าจะเป็นเพศเดียวกันหรือต่างเพศกัน เกิดสิทธิในการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน

 

แคนาดา  

  • ในปี 2548 แคนาดาได้ผ่านกฎหมายสมรส รับรองสิทธิให้การสมรสกระทำได้ทั้งในบุคคลต่างเพศและบุคคลเพศเดียวกัน
  • กฎหมายนี้เป็นกฎหมายระดับประเทศที่ใช้ร่วมกัน ในการประกอบพิธีสมรสคู่สมรสสามารถเลือกประกอบพิธีได้ทั้งทางศาสนาและทางราชการ มีบาทหลวงและผู้พิพากษาเป็นผู้มีอำนาจในการประกอบพิธี
  • บาทหลวงจะยังคงสามารถปฏิเสธการดำเนินพิธีให้แก่คู่สมรสได้หากเห็นว่าเป็นการขัดต่อหลักศาสนาของตน
  • ผลของการจดทะเบียนสมรสยังส่งผลให้คู่สมรสเพศเดียวกันมีสิทธิและหน้าที่เท่ากันกับคู่สมรสต่างเพศ และสามารถหย่าขาดจากกันได้

ข้อมูล : ilaw