ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต คู่รักเพศเดียวกัน ต้องรู้ได้สิทธิอะไรหลังจดทะเบียน

07 มิ.ย. 2565 | 09:40 น.

ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต กฎหมายฉบับใหม่ ผ่านครม.เรียบร้อยรองรับความสัมพันธ์และการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวคู่รักเพศเดียวกัน ต้องรู้ กฎหมายฉบับนี้ได้สิทธิอะไรหลังจดทะเบียน หน้าที่ที่จะได้รับภายใต้กฎหมายมีอะไร และไปดูข้อกฎหมายชัด ๆ ว่า มีสาระสำคัญยังไงบ้าง

ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ได้ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปเป็นที่เรียบร้อย ถือเป็นกฎหมายฉบับใหม่ และเป็นกฎหมายที่รองรับความสัมพันธ์ของการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวระหว่างบุคคลเพศเดียวกัน โดยมีการอุปการะเลี้ยงดูและมีความสัมพันธ์ในด้านอื่น ๆ ไม่แตกต่างไปจากคู่สมรส (ชาย-หญิง)

 

ความสำคัญของกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต กำหนดให้สิทธิและหน้าที่คู่ชีวิต ดังต่อไปนี้ 

  • หน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน 
  • อำนาจจัดการแทนผู้เสียหายในคดีอาญาเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา 
  • สิทธิรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน 
  • สิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม 
  • สิทธิและหน้าที่ในการเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ หากอีกฝ่ายเป็นคนไร้ หรือเสมือนไร้ความสามารถ 
  • สิทธิเซ็นยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย 
  • สิทธิจัดการศพ 

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต มีด้วยกัน ดังต่อไปนี้

  • คู่ชีวิต หมายถึง บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด และได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตาม พ.ร.บ. นี้
  • กำหนดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัว มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตาม พ.ร.บ. นี้ 
  • การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายยินยอม มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และทั้งสองมีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย รวมทั้งกำหนดบุคคลต้องห้ามไม่ให้จดทะเบียนคู่ชีวิต เช่น ทั้งสองคนเป็นญาติสืบสายโลหิตกัน เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา เป็นต้น
  • กรณีที่ผู้เยาว์จะจดทะเบียนคู่ชีวิต ต้องได้รับความยินยอมของบิดา มารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครอง หรือศาล และเมื่อจดทะเบียนคู่ชีวิตแล้วผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะ
  • กำหนดบทบัญญัติเพื่อรองรับลักษณะความสัมพันธ์ของคู่ชีวิต เช่น ต้องอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวและช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน
  • คู่ชีวิตมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา และมีอำนาจดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปเช่นเดียวกับสามีหรือภริยาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป. วิ อาญา)
  • ทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต แบ่งเป็นสินส่วนตัวและทรัพย์สินร่วมกัน 
  • การสิ้นสุดการเป็นคู่ชีวิต คู่ชีวิตย่อมสิ้นสุดลงด้วยความตาย ศาลพิพากษาให้เพิกถอน หรือการเลิกการเป็นคู่ชีวิต รวมทั้งกำหนดเหตุฟ้องเลิกการเป็นคู่ชีวิต เช่น คู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันคู่ชีวิต ประพฤติชั่ว ทำร้าย ทรมานร่างกายหรือจิตใจ จงใจละทิ้งอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิน 1 ปี
  • บุตรบุญธรรม เมื่อคู่ชีวิตได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขใน พ.ร.บ. นี้ และ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แล้ว สามารถรับบุตรบุญธรรมได้ รวมทั้งคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งจะจดทะเบียนรับผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมาเป็นบุตรบุญธรรมของตนด้วยก็ได้ 
  • เมื่อคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย ให้คู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับคู่สมรสตามบทบัญญัติใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยมรดก 
  • กำหนดให้นำบทบัญญัติใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยคู่สมรส ครอบครัว และบุตรบุญธรรม มาใช้บังคับแก่คู่ชีวิตด้วยโดยอนุโลมในบางกรณี

 

ตามร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ประกอบด้วย 4 หมวด 46 มาตรา ดังนี้ 

 

อารัมภบท (มาตรา 1 - 5) 

  • กำหนดเงื่อนเวลาในการบังคับใช้กฎหมาย คำนิยามสำคัญต่าง ๆ โดยเฉพาะ คำว่า “คู่ชีวิต” รวมทั้งกำหนดรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ 

 

หมวด 1 การจดทะเบียนคู่ชีวิต (มาตรา 6 - 14)

  • กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ในการจดทะเบียนคู่ชีวิต

 

หมวด 2 การเป็นคู่ชีวิต (มาตรา 15 - 38) แบ่งเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 

 

ส่วนที่ 1 บททั่วไป (มาตรา 15 - 21) 

  • กำหนดให้นำบทบัญญัติแห่งประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัวมาใช้บังคับกับคู่ชีวิตหากไม่มีบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในหมวดนี้ รวมถึงเรื่องอื่นๆ เช่น ภูมิลำเนาของคู่ชีวิต อำนาจในการจัดการแทนผู้เสียหายและอำนาจดำเนินคดีต่างผู้ตายของคู่ชีวิต 

 

ส่วนที่ 2 ความสัมพันธ์ระหว่างคู่ชีวิต (มาตรา 22 - 23) 

  • กำหนดหน้าที่ของคู่ชีวิตต่อกัน และกรณีที่คู่ชีวิตไม่สามารถอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวโดยปกติสุขได้

 

ส่วนที่ 3 ทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต (มาตรา 24 - 27) 

  • กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการในการทำสัญญาเรื่องทรัพย์สินเป็นพิเศษก่อนการจดทะเบียนคู่ชีวิต สินส่วนตัว ทรัพย์สินร่วมกัน ของคู่ชีวิต รวมทั้งการจัดการทรัพย์สินร่วมกันของคู่ชีวิต

 

ส่วนที่ 4 ความเป็นโมฆะของการจดทะเบียนคู่ชีวิต (มาตรา 28 - 31) 

  • กำหนด หลักเกณฑ์ที่ทำให้การจดทะเบียนคู่ชีวิตเป็นโมฆะ และผลสืบเนื่องจากการที่การจดทะเบียนคู่ชีวิตนั้นเป็นโมฆะ 

 

ส่วนที่ 5 การสิ้นสุดการเป็นคู่ชีวิต (มาตรา 32 - 34) 

  • กำหนดเหตุที่ทำให้ การเป็นคู่ชีวิตสิ้นสุดลง หลักเกณฑ์การสมัครใจเลิกกันจากการเป็นคู่ชีวิต การขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอน การจดทะเบียนคู่ชีวิต และเหตุแห่งการฟ้องเลิกการเป็นคู่ชีวิต ตลอดจนผลสืบเนื่องการสิ้นสุดการเป็นคู่ชีวิต

 

หมวด 3 บุตรบุญธรรม (มาตรา 34 - 44) 

  • กำหนดเงื่อนไขการรับบุตรบุญธรรม ของคู่ชีวิต และให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยบุตรบุญธรรมมาใช้บังคับแก่คู่ชีวิตโดยอนุโลม 

 

หมวด 4 มรดก (มาตรา 45 - 46) 

  • กำหนดสิทธิและหน้าที่ในการรับมรดก ของคู่ชีวิตและให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในส่วนที่เกี่ยวกับคู่ชีวิตมาใช้บังคับกับคู่ชีวิตโดยอนุโลม

 

การเดินหน้ากฎหมายร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต จะทำยังไงต่อไป 

ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต คู่รักเพศเดียวกัน ต้องรู้ได้สิทธิอะไรหลังจดทะเบียน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่า หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต และร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ขั้นตอนต่อไปจะนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณา

 

โดยกฎหมายฉบับนี้ จะสอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลก เรื่องความเสมอภาคทางเพศและความหลากหลายทางเพศ และเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ต้องได้รับความคุ้มครองตามหลักสากล การหมั้นหรือสมรสในเพศเดียวกัน โดยได้รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นประชาชน ผู้แทนศาสนาจากทุกศาสนา เพื่อปิดทุกจุดอ่อนให้เป็นกฎหมายที่สร้างสรรค์สังคม และเป็นสากลอย่างแท้จริง

ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต คู่รักเพศเดียวกัน ต้องรู้ได้สิทธิอะไรหลังจดทะเบียน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า ที่ผ่านมา ได้นำความเห็นจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ ผู้นำศาสนาทุกศาสนา มาประกอบการพิจารณา พ.ร.บ.คู่ชีวิต ก่อนเสนอมายังครม. และขั้นตอนต่อไปจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในสมัยประชุมนี้ เพื่อประกบกับร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม โดยใช้ร่างของรัฐบาลเป็นหลัก แต่จะประกาศใช้ทันรัฐบาลชุดนี้หรือไม่นั้น ยังไม่ยืนยัน