พ.ร.บ.คู่ชีวิต vs สมรสเท่าเทียม ต่างกันยังไง เมื่อความรักเป็นสิทธิของทุกคน

30 มี.ค. 2565 | 04:12 น.

สรุปสาระสำคัญระหว่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต vs สมรสเท่าเทียม มีความเเตกต่างต่างกันยังไง หลัง ครม.มีมติไม่รับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม

หลัง คณะรัฐมนตรี (มติ ครม.)ไม่รับ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม แต่ให้เร่งผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต สาเหตุเพราะหลักการใกล้เคียงกัน ตามที่สภาผู้แทนราษฎร ได้เห็นชอบให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณารับหลักการ

 

ซึ่งมีสาระเป็นการกำหนดให้ชาย หญิง หรือบุคคล 2 คน ซึ่งเป็นเพศเดียวกันสามารถหมั้นหรือสมรสกันได้ตามกฎหมาย โดยขณะนี้มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ได้ดำเนินการศึกษาเพิ่มเติม ตามที่คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรเสนอ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายนนี้  

ไอลอว์ อธิบายว่า แม้ ครม. จะไม่รับร่างกฎหมายที่เสนอโดย ส.ส.พรรคก้าวไกล แต่ไม่ได้ส่งผลให้ร่างกฎหมายดังกล่าวตกไปในทันที ร่างกฎหมายนี้ยังต้องเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระหนึ่ง ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 118 

ซึ่ง ครม. จะนำร่างกฎหมายนั้นไปพิจารณาก่อนได้นั้น ต้องอาศัยเสียงอนุมัติ จากสภาผู้แทนราษฎร หากอนุมัติ สภาจะรอการพิจารณาร่างกฎหมายนั้นไว้ แต่ไม่เกิน 60 วันนับแต่วันที่สภามีมติ เท่ากับว่าระหว่าง 60 วันนี้ ครม. สามารถนำร่างกฎหมายดังกล่าวไปศึกษา ไปให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ความเห็นทางกฎหมายได้

 

ถ้าสภาผู้แทนอนุมัติให้ ครม. นำร่างกฎหมายไปพิจารณาศึกษาก่อน 60 วันแล้ว สภาจะยังพิจารณาลงมติร่างกฎหมายนั้นต่อในวาระหนึ่งไม่ได้ ในทางปฏิบัติสภาก็จะพิจารณาร่างกฎหมายอื่นๆ ที่อยู่ในลำดับถัดไป

 

เมื่อครบ 60 วัน ครม. ต้องนำร่างพระราชบัญญัติคืนประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่กรณีที่พ้นเวลา 60 วันไปแล้วประธานสภายังไม่ได้รับร่างกฎหมาย ให้ประธานสภาบรรจุร่างกฎหมายเป็นเข้าระเบียบวาระการประชุมเป็นเรื่องด่วน ซึ่งจะอยู่ลำดับต้นๆ และได้พิจารณาก่อนร่างกฎหมายอื่นๆ

 

เท่ากับว่าท้ายที่สุดแล้ว เมื่อพ้นเวลา 60 วัน ร่างกฎหมายดังกล่าวก็จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรก็จะพิจารณา อภิปรายร่างกฎหมาย และลงมติในวาระหนึ่ง ว่าจะรับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าวหรือไม่

 

ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562  ร่างกฎหมายดังกล่าวจะต้องเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งในสมัยประชุมหน้า  จึงต้องรอเสียงการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป

 

ฐานเศรษฐกิจจะพามาทบทวนว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิต vs พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ต่างกันยังไง

 

ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต

  • ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ร่างแรกเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2556 ในยุครัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารย์ เพราะสิทธิ์ที่ได้รับจาก พ.ร.บ.คู่ชีวิตมันน้อยมาก แตกต่างจากการสมรส ของชาย-หญิงอย่างสิ้นเชิง

 

สาระสำคัญ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต

  • “คู่ชีวิต” หมายความว่า บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด และได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตาม พ.ร.บ. นี้
  • กำหนดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัว มีอำนาจ พิจารณาพิพากษาคดีตาม พ.ร.บ. นี้
  • กำหนดให้การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายยินยอม มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และทั้งสองฝ่ายมีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย
  • กำหนดให้ในกรณีที่ผู้เยาว์จะจดทะเบียนคู่ชีวิต ต้องได้รับความยินยอมของบิดา มารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครอง หรือศาล รวมทั้งกำหนดให้ผู้เยาว์ย่อมบรรลุ นิติภาวะเมื่อจดทะเบียนคู่ชีวิต
  • กำหนดให้คู่ชีวิตมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา (มาตรา 3 และ 5 (2) และมีอำนาจดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา (มาตรา 29 วรรคหนึ่ง) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
  • กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต โดยแบ่งเป็นสินส่วนตัว และทรัพย์สินร่วมกัน
  • คู่ชีวิตสามารถรับบุตรบุญธรรมได้ รวมทั้งคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งจะจดทะเบียน รับผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมาเป็นบุตรบุญธรรมของตน ด้วยก็ได้
  • เมื่อคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย ให้คู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิและหน้าที่ เช่นเดียวกับคู่สมรสตามบทบัญญัติใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก
  • กำหนดให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยคู่สมรส (มาตรา1606 1652 1563) ครอบครัว และบุตรบุญธรรม มาใช้บังคับแก่คู่ชีวิตด้วยโดยอนุโลม

 

สมรสเท่าเทียม 

  • การแก้ไขถ้อยคำในหลายมาตราที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่า “สามีและภรรยา” เป็น “คู่สมรส”
  • มีการปรับถ้อยคำจากคำว่า “ชาย” หรือ “หญิง” เป็น “บุคคล” เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการสมรสระหว่างบุคคล
  • ข้อวิจารณ์หลักที่มีการแสดงความไม่เห็นด้วยต่อร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต คือ การไม่ครอบคลุมการเข้าถึงสวัสดิการ และสิทธิประโยชน์บางประการของคู่ชีวิต เช่น การลดหย่อนภาษีของคู่สมรส
  • ไอลอว์ ชี้ว่า ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต กำหนดถ้อยคำที่แยกออกมาเป็น “คู่ชีวิต” ทำให้คู่ชีวิตขาดโอกาส ในการเข้าถึงสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์ที่รัฐได้กำหนดไว้ให้คู่สมรส เช่น การลดหย่อนภาษีของคู่สมรสตามประมวลรัษฎากร

 

การแก้ไขรายละเอียดเกี่ยวกับการสมรส จากเดิมที่ระบุ ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา เป็น ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส

  • ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา เป็น ทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส รวมถึงการแบ่งมรดกของผู้ตายที่มีคู่สมรส โดยได้ขอแก้ไขถ้อยคำในหลายมาตราที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่า สามีและภรรยา เป็น คู่สมรส

การหมั้น

  • ให้บุคคลเพศเดียวกัน หรือต่างเพศ ซึ่งมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ ทำการหมั้นกันได้
  • เสนอกำหนดคำศัพท์ขึ้นใหม่เป็น ผู้หมั้น และ ผู้รับหมั้น แทนคำว่า ชาย และ หญิง
  • แบบของการหมั้นให้ผู้หมั้นส่งมอบ หรือโอนทรัพย์สินให้กับผู้รับหมั้น ในส่วนของเรื่องสิทธิ และหน้าที่ ระหว่างคู่หมั้นยังคงตามหลักการเดิม เพียงแต่ปรับถ้อยคำเป็น ผู้หมั้น และ ผู้รับหมั้น

 

การสมรส

  • ให้บุคคลเพศเดียวกัน หรือต่างเพศ ซึ่งมีอายุ 18 บริบูรณ์ สามารถสมรสกันได้ หรือหากมีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้
  • สำหรับเงื่อนไขการสมรสยังคงหลักการเดิม แต่มีการปรับถ้อยคำจากคำว่า ชาย หรือ หญิง เป็น บุคคล เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการสมรสระหว่างบุคคล เช่น
  • บุคคลซึ่งเป็นญาติ สืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไป หรือลงมา จะทำการสมรส กันมิได้
  • บุคคลจะทำการสมรส ในขณะที่ตนมีคู่สมรสไม่ได้
  • การสมรสจะทำได้ ต่อเมื่อบุคคลทั้งสอง ยินยอมเป็นคู่สมรส
  • คู่สมรสต้องอยู่กินกันฉันคู่สมรส และช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดู ตามความสามารถ และฐานะของตน
  • การจัดการทรัพย์สิน หนี้สินของคู่สมรส สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน ระหว่างคู่สมรส
  • การหย่า เหตุหย่า การฟ้องหย่าระหว่างคู่สมรส สิทธิได้รับค่าทดแทน การแบ่งสินสมรส
  • การเป็นผู้อนุบาลคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง กรณีศาลสั่งให้เป็น คนไร้ความสามารถ

 

การรับบุตรบุญธรรม

  • การรับมรดก กรณีผู้ตายมีคู่สมรส ต้องมีการแบ่งทรัพย์สิน ระหว่างผู้ตาย กับคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยให้นำเรื่อง ส่วนแบ่งทรัพย์สิน ระหว่างคู่สมรส และคู่สมรสที่ร้างกัน หรือแยกกันอยู่ โดยยังมิได้หย่ากันตามกฎหมาย ยังคงมีสิทธิโดยธรรม ในการสืบมรดก ซึ่งกันและกัน
  • การ สมรสเท่าเทียม จะเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลเพศเดียวกัน สามารถสมรสกันได้ตามกฎหมาย เพื่อให้สามารถได้รับสิทธิในการสมรส
  • สิทธิในการใช้นามสกุล
  • สิทธิในการเซ็นยินยอมในการรักษาพยาบาล เช่น การผ่าตัด ให้ยา หรือหยุดรักษาในกรณีเร่งด่วน
  • สิทธิในการรับรู้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการรักษา
  • สิทธิในการกู้เงินซื้อบ้านและทำประกันชีวิตร่วมกันในฐานะคู่สมรส
  • สิทธิทางมรดก คู่สมรสมีสิทธิรับมรดกก่อนทายาทลำดับอื่น
  • สิทธิในการรับบุตรบุญธรรม
  • สิทธิในการจัดการศพ เช่น การรับศพออกจากโรงพยาบาล การรับเงินสงเคราะห์ค่าทำศพ การขอออกใบมรณบัตร
  • สิทธิในการใช้สถานะสมรสเพื่อลดหย่อนภาษี
  • สิทธิในการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน
  • สิทธิเข้าเยี่ยมในเรือนจำกรณีที่นักโทษป่วย ในฐานะคู่สมรส
  • สิทธิในการขอวีซ่าเดินทาง กรณีบางประเทศต้องตรวจสอบยอดเงินในบัญชี คู่สมรสสามารถยื่นบัญชีของอีกฝ่ายเป็นหลักฐานได้

อ้างอิงข้อมูล : iLaw ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ