ฝีดาษลิง ล่าสุดไทยมีวัคซีนป้องกัน 1 หมื่นโดสจริงหรือไม่ เอามาจากไหน อ่านเลย

28 พ.ค. 2565 | 13:58 น.
อัพเดตล่าสุด :28 พ.ค. 2565 | 20:58 น.

ฝีดาษลิง ล่าสุดไทยมีวัคซีนป้องกัน 1 หมื่นโดสจริงหรือไม่ เอามาจากไหน อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ หมอเฉลิมชัยเผยข้อมูลจา่กองค์การเภสัชกรรมของไทยล่าสุด

ฝีดาษลิง ล่าสุดไทยมีวัคซีนป้องกัน 1 หมื่นโดสจริงหรือไม่ เป็นคำถามที่หลายคนกำลังให้ความสนใจ เนื่องจากเวลานี้โรคฝีดาษลิงพบผู้ป่วยแล้วในหลายประเทศ ทั้งในทวีปยุโรป สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลียนั้น

 

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

ไทยเก็บวัคซีนฝีดาษไว้นาน 40 ปี จำนวน 10,000 โดส นำมาเพาะเชื้อยังมีชีวิตอยู่

 

ตามที่ปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณะไปแล้วว่า องค์การเภสัชกรรมของไทย มีความสามารถในการเก็บวัคซีนเชื้อเป็นป้องกันฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษ ชนิดผงแห้งหรือแช่แข็งจำนวน 10,000 โดส ต่อเนื่องกันมา 40 ปี

 

และได้มีการนำไปตรวจสอบโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่ายังคงมีชีวิตอยู่ คือนำไปเพาะเชื้อไวรัสแล้วสามารถเพิ่มจำนวนได้ ซึ่งแปลว่าคุณภาพดี สามารถนำมาใช้ปลูกฝีต่อไปได้นั้น

 

เราจะมาเรียนรู้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษกันว่า มีความเป็นมาอย่างไรบ้าง

  • ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์

 

เชื่อกันว่า ฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษเคยเกิดขึ้นในโลกนี้มาแล้วอย่างน้อย 3000 ปี โดยมีหลักฐานจากมัมมี่ของอียิปต์ที่มีลักษณะตุ่มแผลเป็นคล้ายฝีดาษ

 

จีนโบราณเคยมีการเอาเข็มสะกิดตุ่มหนองของคนที่เป็นฝีดาษ แล้วเอาไปสะกิดผิวหนังคนปกติ เรียกว่า Variolation เพราะเชื้อไวรัสที่ก่อโรคฝีดาษคน (Smallpox) คือ Variola virus

 

มีอีกวิธีหนึ่งคือ นำสะเก็ดฝีจากคนเป็นฝีดาษ  ไปป่นให้แห้ง แล้วเป่าเข้าไปในจมูก

 

พบว่าทั้งสองวิธี ทำให้กลุ่มคนดังกล่าวจะไม่ติดฝีดาษ

 

ปี พ.ศ. 2264 ภรรยาทูตอังกฤษ (Lady Mary Wortley Montagu) ประจำกรุงคอนสแตนติโนเปิล ได้นำความรู้เกี่ยวกับวัคซีนฝีดาษของตะวันออกเข้าสู่ราชสำนักอังกฤษ

 

วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิงในไทยมี 1 หมื่นโดสจริงหรือไม่

 

ปี พ.ศ. 2339 ( ตรงกับสมัยรัชกาลที่หนึ่ง) เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner) พบว่า คนเลี้ยงวัวหรือหญิงรีดนมวัวซึ่งเป็นฝีดาษวัว (Cowpox) โดยมีตุ่มหนองขึ้นที่มือ มีอาการเล็กน้อยนั้น จะไม่เป็นฝีดาษหรือไข้ทรพิษ(Smallpox) ในช่วงที่มีการระบาด

 

จึงได้ทดลองเอาหนองฝีจากวัว ไปสะกิดผิวหนังคนปกติ พบว่าสามารถป้องกันฝีดาษหรือไข้ทรพิษได้

 

คำว่า วัคซีน (Vaccine) มาจากคำว่า Vacca ที่เป็นภาษาละติน แปลว่า วัว นั่นเอง

 

ปี พ.ศ. 2341 มีการพิมพ์หนังสือขนาด 75 หน้า อธิบายรายละเอียดตั้งแต่ไวรัสจากวัวมายังคน และจากคนไปสู่คน จนเกิดไวรัสสายพันธุ์ที่คุ้นกับคนและไม่ก่อโรค (Humanized vaccinia virus) ขึ้น

 

และแตกต่างจากไวรัสฝีดาษวัวเดิมด้วย

 

ปี พ.ศ. 2383 การสะกิดฝีแบบเดิมที่เรียกว่า Variolation ถือว่าผิดกฎหมาย

  • ความเป็นมาของประเทศไทย

 

สำหรับในประเทศไทย นพ.ประกอบ ตู้จินดา นพ.สุทัศน์ คุปตารักษ์ หลังจากดูงานที่อังกฤษ ได้ทำหนองฝีดาษแห้งจากไข่ไก่ฟักสำเร็จ

 

แล้วให้องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้ผลิต พบว่าในปี พ.ศ.2517 ผลิตได้มากถึง 5,000,000 โดส และเหลือพอที่จะส่งไปช่วยต่างประเทศได้ด้วย

 

  • เหตุที่วัคซีนป้องกันฝีดาษคน (Smallpox vaccine) ทำชนิดเชื้อเป็น  เนื่องจากพบว่าถ้าเชื้อตายระดับภูมิคุ้มกันจะขึ้นได้ไม่ดี

 

  • วัคซีนป้องกันฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษ ซึ่งเป็นเชื้อเป็นนั้น จึงไม่ใช่ไวรัสก่อโรคฝีดาษคนโดยตรง (Variola virus ) หากแต่เป็นเป็นไวรัสในตระกูลใกล้เคียงกันที่ชื่อว่า Vaccinia virus

 

  • วัคซีนฝีดาษ จึงเป็นเทคโนโลยีชนิดเชื้อเป็น ไม่ใช่เชื้อตายแบบวัคซีนป้องกันโควิดของ Sinovac และ Sinopharm และไม่ใช่เป็นโปรตีนซับยูนิตแบบ Novavax หรือใบยาไฟโตฟาร์ม

 

  • วัคซีนมีประสิทธิผลในการป้องกันโรคฝีดาษคนได้ 95% และสามารถข้ามไปป้องกันฝีดาษลิงได้ 85%

 

  • ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษอย่างน้อย 3 ชนิดด้วยกัน ได้แก่

 

วัคซีน ACAM 2000 ป้องกันฝีดาษแบบปลูกฝีเดิม
วัคซีน APSV : Aventis Pasteur Smallpox Vaccine โดยเป็นการปลูกฝีเช่นกัน
วัคซีน JYNNEOS ชนิดใหม่ล่าสุดโดยฉีดสองเข็ม เข้าชั้นใต้ผิวหนัง(Subcutaneous) ห่างกัน 4 สัปดาห์

 

  • ฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษได้หมดไปจากโลกมนุษย์เราแล้ว

 

พ.ศ.2495 หมดจากอเมริกาเหนือ 
พ.ศ.2496 หมดจากยุโรป 
พ.ศ.2514 หมดจากอเมริกาใต้ 
พ.ศ.2518 หมดจากเอเชีย 
ประเทศสุดท้ายคือ บังคลาเทศ
พ.ศ.2520 หมดจากแอฟริกา 
ประเทศสุดท้ายคือ โซมาเลีย

 

และองค์การอนามัยโลก(WHO) ได้ประกาศให้ไข้ทรพิษหรือฝีดาษคนหมดไปจากโลกมนุษย์ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2523

 

ในปัจจุบันนี้ยังมีการเก็บเชื้อไข้ทรพิษอยู่เพียงสองแห่งคือที่สหรัฐอเมริกา ( CDC เมืองแอตแลนต้า รัฐจอร์เจีย)

 

และที่รัสเซีย Vector Institute Koltsovo

 

ดังนั้นคงจะพอสบายใจได้ว่า ขณะนี้ไทยมีวัคซีนอยู่ในมือแล้ว 10,000 โดส ซึ่งถ้าตรวจสอบเพิ่มเติมแล้ว ทุกอย่างเรียบร้อยดี ก็สามารถนำมาเป็นวัคซีนสำรองได้

 

วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิงในไทยมี 1 หมื่นโดสจริงหรือไม่

 

ในขณะเดียวกัน สำหรับผู้ที่กังวลว่าเนื่องจากเป็นไวรัสชนิดเชื้อเป็น แล้วนำมาเพาะเชื้อขึ้นได้ด้วย อาจจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษ ที่มาจากวัคซีนที่เก็บไว้นั้น

 

ก็คงสบายใจได้ เพราะวัคซีนดังกล่าว ไม่ได้ทำมาจากไวรัสก่อโรคฝีดาษ (Variola virus) แต่เป็นไวรัสอีกชนิดหนึ่ง (Vaccinia virus) ซึ่งไม่ก่อโรคฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษแต่อย่างใด