“อนุทิน”ดันไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาค แก้ปัญหาโรคอุบัติใหม่

14 พ.ค. 2565 | 08:58 น.

“อนุทิน”ร่วมประชุม รัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ฉุกเฉินและโรคอุบัติใหม่แห่งอาเซียน

14 พฤษภาคม 2565 ณ โรงแรมคอนราด บาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้นำคณะผู้บริหารกระทรวง เข้าร่วมประชุม รัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน (ASEAN Health Ministers Meeting : AHMM) ครั้งที่ 15 หารือกันในครั้งนี้ จะได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์รวมถึงการบริหารจัดการต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ตลอดจนการดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคมในภูมิภาคภายหลังการแพร่ระบาด

“อนุทิน”ดันไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาค แก้ปัญหาโรคอุบัติใหม่

โดยนายอนุทิน กล่าวในที่ประชุมภายใต้หัวข้อ “การสร้างความยืดหยุ่นของระบบสุขภาพและการเร่งฟื้นสถานการณ์ในภูมิภาค หลังการระบาดของโควิด-19” ว่า   การระบาดของโควิด-19 ได้ทดสอบระบบสาธารณสุขของภูมิภาคอาเซียน ในทุกมิติ นี่คือความท้าทายมากในการดูแลระบบพื้นฐาน ไปพร้อมกับการควบคุมโรค

“อนุทิน”ดันไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาค แก้ปัญหาโรคอุบัติใหม่

ซึ่งเราได้เห็นความกระตือรือร้นของภูมิภาคอาเซียน เพื่อแก้ไขวิกฤติ เช่น การเดินหน้าตั้งเครือข่ายการรับมือภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข  ไปจนถึงการสร้างบุคลากรการแพทย์ ในตำแหน่งต่างๆ เพื่อหยุดยั้งการระบาด อาเซียน ได้ร่วมมือกับนานาชาติ  เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงสูงสุด

 

ตอนนี้ สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ถึงเวลาที่เราต้องหาทางเร่งการฟื้นตัวในภาคส่วนขณะที่เรื่องของสาธารณสุข ต้องดำเนินการควบคู่กันไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ ปี 2021 – 2025 เพื่อการพัฒนาสุขภาพอาเซียน กรอบการพัฒนา มีด้วยกัน 5 กลยุทธ์กว้างๆ และที่สำคัญ คือ การตั้งศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases: ACPHEED)  โดยเสนอให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางหลัก และไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพในการดำเนินเรื่องนี้ และมั่นใจว่า จะเป็นประโยชน์แก่พลเมืองอาเซียนทั้งภูมิภาค

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าสำหรับศูนย์ ACPHEED  เป็นแนวคิดของผู้นำอาเซียน จากการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 เมื่อเดือน พ.ย. 2563 ซึ่งมี 3 ประเทศสมาชิกได้แก่ ไทย อินโดนีเซียและเวียดนามเป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการพัฒนาสาธารณสุข (SOMHD) มาโดยต่อเนื่อง

 

ในวันเดียวกัน นายอนุทินได้เข้าร่วมการหารือกับรัฐมนตรีสาธารณสุขอย่างไม่เป็นทางการ( AHMM Retreat) ในการจัดทำข้อตกลงการยอมรับใบรับรองสุขภาพโควิด 19 เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางข้ามพรมแดนระหว่างกันของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งประเทศไทยได้สนับสนุนการจัดทำข้อตกลงดังกล่าว เนื่องจากจะทำให้การเดินทางไปมาระหว่างภูมิภาคสะดวกและจะช่วยฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจด้วย

 

สำหรับภารกิจของนายอนุทินและคณะนั้น นอกจากนายอนุทิน จะได้หารือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนแล้ว ยังได้ร่วมคณะรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน ประชุมกับประเทศคู่เจรจา ได้แก่ การประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน บวก3 (จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี) และการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน-สหรัฐอเมริกา เป็นต้น พร้อมกันนี้นายอนุทิน มีกำหนดการหารือแบบทวิภาคีในประเด็นความร่วมมือด้านสาธารณสุขกับรัฐมนตรีสาธารณสุขสหรัฐอเมริกา และรัฐมนตรีสาธารณสุขสิงคโปร์ อีกด้วย

 

ขณะที่เฟซบุ๊ก " Anutin Charnvirakul" ปรากฏข้อความว่า “มาประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน บวกสาม ครับ ทริปนี้ถือว่าคุ้มค่ามากเพราะนอกจากจะประชุมร่วมอาเซียนแล้ว ยังมีจีน ญี่ปุ่น เกาหลี เข้าร่วม และผมก็จะได้หารือกับรัฐมนตรีสาธารณสุขสหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย เมียนมาและสิงคโปร์ด้วย ความร่วมมือด้านสาธารณสุขในภูมิภาคจะทำให้เรามีความมั่นคงทางสาธารณสุขไปด้วยกันภายหลังการเปิดประเทศอย่างเต็มที่ ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยจะมีความพร้อมยิ่งขึ้นที่จะรับมือกับเหตุฉุกเฉินทางสาธารณสุขที่อาจเกิดขึ้นได้อีกได้ในอนาคต

 

สิ่งที่น่ายินดีคือไทยเราได้รับการยกย่องจากองค์การอนามัยโลกให้เป็นต้นแบบด้านการรับมือกับสถานการณ์โควิดซึ่งเป็นผลมาจากการที่องค์การอนามัยโลกได้ส่งทีมเข้ามาทำการติดตาม ศึกษา และหาข้อมูลเพื่อประเมินสถานการณ์การรับมือกับโรคระบาดในประเทศไทย ซึ่งมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Universal Health Preparedness Reviews หรือเรียกคำย่อสั้นๆว่า UHPR

 

เมื่อวานนี้ที่บาหลี ทีมไทยแลนด์ได้ทำการเจรจากับกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน จนมีข้อตกลงว่าประเทศไทยจะได้เป็นที่จัดตั้งศูนย์กลางการแพทย์ฉุกเฉินและโรคอุบัติใหม่แห่งอาเซียน ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การวางระบบสุขภาพในภูมิภาคอาเซียน นี่คือการตอกย้ำความเป็นผู้นำทางสาธารณสุขของไทยในภูมิภาค

 

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่หลายประเทศต้องการเรียนรู้จากเรา ผมจึงใช้โอกาสนี้เล่าไปว่าไทยเรามี “คนไทย” เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของความสำเร็จในการรับมือกับโควิด เรามีการดูแลซึ่งกันและกันผ่านเครือข่าย อสม. และมีความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนในระดับที่สูงเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ระบบหลักประกันสุขภาพของไทยก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรารับมือกับโรคระบาดต่างๆได้อย่างทันท่วงที อีกทั้งการให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพของประชาชนโดยรัฐบาลนั้นเป็นไปในรูปแบบ การใส่ใจอย่างเต็มที่เพื่อให้ประชาชนปลอดภัยและมีสุขภาพดี เราจึงได้มีความพร้อมทางด้านการสาธารณสุขเป็นอันดับต้นๆของโลก

 

อยู่แดนอิเหนาต่ออีกวัน มีภารกิจต้องหารือกับหลายประเทศ แล้วก็ต้องบินต่อไปประชุมด้านการคมนาคมขนส่งกับรัฐบาลสิงคโปร์ร่วมกับ รมต. ศักดิ์สยาม ชิดชอบ อีกสองวันที่ประเทศสิงคโปร์  คาดว่าน่าจะได้ประโยชน์หลายอย่างต่อประเทศไทยของเราเพิ่มมากขึ้นอีกครับ"