สธ. เล็งยกเลิก Thailand Pass เดินหน้าโควิดเป็นโรคประจำถิ่น

27 เม.ย. 2565 | 08:35 น.

สาธารณสุข เล็งยกเลิก Thailand Pass หากจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ลดลง เร่งทำความเข้าใจกลุ่มผู้สูงอายุเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หวังเดินหน้าเข้าสู่ภาวะโรคประจำถิ่นได้เร็วขึ้น

27 เมษายน 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า หลังผ่านช่วงเทศกาลสงกรานต์มาแล้ว 10 วัน สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มลดลง การใช้เครื่องช่วยหายใจ ห้องไอซียู และยาต้านไวรัส ลดลงเช่นกัน ถือเป็นแนวโน้มที่ดี

ทั้งนี้ ต้องขอบคุณความร่วมมือจากประชาชนในการปฏิบัติตนตามมาตรการและมารับวัคซีน อย่างไรก็ดี หากไม่มีการกลายพันธุ์ในช่วงนี้ คาดว่า จำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยอาการรุนแรง และผู้เสียชีวิตน่าจะลดลงในระยะเวลาอันใกล้ สอดคล้องกับความตั้งใจของรัฐบาลที่อยากจะให้มีการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

นอกจากนี้นายอนุทิน รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการปรับโรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นนั้นมีความก้าวหน้าในการดำเนินการต่อเนื่อง เห็นได้จากมาตรการต่าง ๆ ที่เริ่มลดลง เช่น ผู้เดินทางจากต่างประเทศ จากเดิมตรวจ RT-PCR 2 ครั้ง ลดเหลือครั้งเดียว จนถึงยกเลิกการตรวจ RT-PCR และยกเลิก Test & Go เหลือเพียงตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ครั้งเดียวซึ่งจะเริ่มวันที่ 1 พ.ค. นี้ และหลังดำเนินการไปประมาณ 1-2 สัปดาห์ หากประเมินแล้วไม่ส่งผลกระทบทำให้มีการติดเชื้อโควิดมากขึ้นก็อาจยกเลิกการตรวจ ATK และ Thailand Pass ต่อไป

ส่วนการขับเคลื่อนสู่โรคประจำถิ่นนั้น คงดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศในมาตรฐานเดียวกัน เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนซึ่งหากประชาชนร่วมมือกันเต็มที่ ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย การเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นทั้งเข็ม 3 และเข็ม 4 เพื่อช่วยลดการป่วยหนักและเสียชีวิต ขณะที่สถานพยาบาล ยาและบุคลากรทางการแพทย์มีความพร้อมและเชื่อว่า สามารถทำได้

ทั้งนี้ ได้มีการแยกข้อมูลผู้เสียชีวิตว่า เป็นการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 หรือเสียชีวิตจากโรคอื่นและติดเชื้อโควิด-19 ร่วมด้วย ซึ่งพบว่า การเสียชีวิตจากโรคโควิดลดลง อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังมีผู้สูงอายุส่วนหนึ่งที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นซึ่งหากจะให้ประเทศไทยมีความปลอดภัยครบวงจรก็ต้องเปลี่ยนความคิดให้เข้ามารับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครบถ้วน เพื่อให้สามารถผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ได้มากขึ้น และเดินหน้าเข้าสู่ภาวะโรคประจำถิ่นได้เร็วขึ้น