รู้จัก "Alprazolam" อัลปราโซแลม คือยาอะไร หลังพบในเลือด “ปอ ตนุภัทร” คดีแตงโม

10 พ.ค. 2565 | 07:10 น.

ทำความรู้จัก Alprazolam “อัลปราโซแลม” คือยาอะไร หลังพบในเลือด “ปอ ตนุภัทร” รับใช้ยา Alprazolam แก้เครียด ทานหลังจากเกิดเหตุบนเรือ

คดีแตงโม ล่าสุดมีการยืนยัน ผลตรวจเลือด พยานบนเรือที่แตงโม ตกน้ำเสียชีวิต พบสารกลุ่มเบนโซไดอาซิปินส์ ชนิด Alprazolam  อัลปราโซแลม ซึ่งเป็นยากล่อมประสาทชนิดหนึ่ง

หนุ่ม กรรชัย เปิดเผยว่า ปอ ตนุภัทร ยอมรับว่าเป็นตนเองที่ตรวจพบ ยา Alprazolam ขนาด 0.5 มิลลิกรัม ได้มาจากคลินิกแห่งหนึ่ง อ้างว่ากินยาเพื่อแก้เครียด

พันตำรวจโทกีรป กฤตธีรานนท์ เลขาฯ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผย ผลการตรวจเลือดพยานบุคคลในเรือ ระบุว่า พบสารกลุ่มเบนโซไดอาซิปินส์ ชนิด Alprazolam จำนวน 1 ราย

 

โดยสรุปได้ว่า เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565 พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองนนทบุรี พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองนนทบุรี ประสานเจ้าหน้าที่ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ทำการเก็บตัวอย่างเลือดจากพยานบุคคลที่อยู่ในเรือลำเกิดเหตุ จำนวน 3 ราย ระหว่างเวลา 12.07 น. ถึงเวลา 13.30 น.

 

ต่อมาวันที่ 9 มีนาคม 2565 พนักงานสอบสวนเมืองนนทบุรี ส่งตัวอย่างเลือดดังกล่าว ไปยังสถาบันนิติเวชวิทยา เพื่อตรวจหรือทดสอบหาปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด และตรวจหาสารเสพติดในร่างกายของพยานบุคคลในเรือลำเกิดเหตุ

 

ขณะที่ พล.ต.ท.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1  ระบุว่า ไม่ใช่ประเด็นใหม่ ที่น่าตื่นเต้น แต่ที่ไม่ได้พูดถึงในวันแถลงสรุปสำนวนคดี เพราะรายละเอียดทั้งหมดอยู่ในสำนวนคดี ประกอบกับการตรวจพบยาดังกล่าว ก็พบในผู้ชาย และไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นใคร และยังไม่แน่ว่าใช้เพื่ออะไร เพราะผู้ชายที่กินยาเสียสาว มีหลายประเด็นทั้งการกินยาให้นอนหลับ หรือเป็นการคลายเครียด

 

“อัลปราโซแลม” คืออะไร

ยาอัลปราโซแลม เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทไปในทางที่ผิด เช่น นำไปใช้เป็นยานอนหลับอย่างแรงเพื่อล่วงละเมิดทางเพศ หรือนำไปผสมในสารเสพติด  แต่ในทางการแพทย์ การใช้ยาในทางที่ถูกต้องก็มีประโยชน์  ซึ่งยาชนิดนี้แพทย์จะนำมาใช้เพื่อการรักษาโดยมีข้อบ่งชี้หลายอย่าง

 

ยาอัลปราโซแลมมีชื่อทางการค้าหลายชื่อ เช่น “ซาแน็กซ์โซแลม” ในทางการแพทย์ใช้ยาอัลปราโซแลมเพื่อบรรเทาหรือรักษาอาการวิตกกังวลและอาการตื่นตระหนก หรือใช้เป็นยานอนหลับในกรณีที่จำเป็น  ที่มีประสิทธิภาพดีในทางรักษา

 

ยาอัลปราโซแลมที่แพทย์ใช้มีอยู่ 3 ขนาด

  • 0.25 มิลลิกรัม
  • 0.5 มิลิกรัม
  • ขนาด 1  มิลลิกรัม
  • มีรูปร่างเม็ดรี  สีที่เฉพาะตามขนาด คือสีขาว สีชมพู และสีม่วง
  • แพทย์จะพิจารณาเลือกขนาดยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป ยานี้ออกฤทธิ์เร็วหลังจากรับประทานไปประมาณ 20 นาที 

 

อาการของผู้ใช้ยาอัลปราโซแลม 

  • ผู้ที่ใช้ยาอาจมีอาการหลงลืม จำเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ได้หลังจากที่รับประทานยาไป ทำให้เป็นที่มาในการใช้ยานี้เพื่อล่วงละเมิดทางเพศ เพราะเหยื่อจะจำเหตุการณ์ไม่ได้
  • ฤทธิ์ของยาจะคงอยู่ไม่เกิน 1 วัน ถ้าดื่มน้ำมากๆ ยาก็จะถูกขับออกมาทางปัสสาวะจนหมด 
  • การใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดการติดยาได้ทั้งร่างกายและจิตใจ 
  • หากหยุดยากระทันหันจะเกิดอาการขาดยา มีอาการคลื่นไส้ นอนไม่หลับ หัวใจเต้นเร็ว กระสับกระส่าย ซึมเศร้า เป็นโรคจิต หรืออาจถึงกับชักได้
  •  หากต้องรับประทานร่วมกับยาตัวอื่น เช่น ยากดหรือกระตุ้นประสาท  ต้องปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะมียาหลายชนิดที่มีปฏิกิริยาต่อระดับอัลปราโซแลมในกระแสเลือดจนทำให้เกิดอันตรายอย่างรุนแรงได้
  • หากรับประทานยาพร้อมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ยาจะออกฤทธิ์ทำให้กดประสาทมากขึ้นและอาจกดการหายใจ ส่งผลให้หยุดหายใจได้ 
  • การใช้ยากลุ่มนี้ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ที่เชี่ยวชาญ มีข้อบ่งชี้ในการใช้และติดตามว่ายังมีความจำเป็นในการใช้อยู่หรือไม่ หยุดใช้เมื่อเหมาะสม

 

 

ปัจจุบันมีการควบคุมการใช้ยาอัลปราโซแลมอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการใช้ยาในทางที่ผิด เนื่องจากยาอัลปราโซแลม เป็นสารประกอบที่ไม่มีสี  ไม่มีกลิ่น ไม่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า  ถ้านำไปผสมในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะทำให้ผู้ที่ดื่มมีอาการง่วงซึม  มึนงง สูญเสียการทรงตัวและสูญเสียความทรงจำ  ดังนั้นการดื่มเครื่องดื่มต้องระมัดระวังกันมากขึ้น

 

การกำกับดูแลตามกฎหมาย อัลปราโซแลม (Alprazolam)

เดิมยานี้จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทที่4 ตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 แต่จากการที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง เปลี่ยนแปลงประเภทวัตถุออกฤทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2555 ซึ่งยกระดับการควบคุมอัลปราโซแลม (alprazolam) จากวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 ให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 

 

ยาเสียสาว มียาอะไรบ้าง

  • ยามิดาโซแลม (Midazolam)
  • ยาอัลปราโซแลม (Alprazolam)
  • ยาฟลูไนตราซีแปม (Flunitrazepam)
  • สารจีเอชบี (GHB = gamma-hydroxybutyrate)
  • ยาเค หรือ เคตามีน (ketamine)
  • ยามิดาโซแลม, อัลปราโซแลม และ ฟลูไนตราซีแปม เป็นยากลุ่ม Benzodiazepines (กลุ่มยานอนหลับ และยาคลายเครียดที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย) ซึ่งยาทั้งหมดนี้สามารถละลายในน้ำได้ ทำให้มีการนำยาเหล่านี้ไปละลายในเครื่องดื่มต่าง ๆ ให้คนดื่มไปโดยที่ไม่รู้ว่ามีการผสมยาลงไป


 

ยากลุ่มเสียสาว เป็นยาที่ผิดกฎหมาย

ตาม พ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 ผู้ที่ฝ่าฝืนและนำมาครอบครอง ต้องรับโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ข้อมูล : แพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กองควบคุมวัตถุยาเสพติด