โควิดวันนี้ในไทยจะเป็นโรคติดต่อทั่วไปได้ 1 ก.ค. ต้องทำอย่างไร อ่านเลย

23 เม.ย. 2565 | 22:11 น.

โควิดวันนี้ในไทยจะเป็นโรคติดต่อทั่วไปได้ 1 ก.ค. ต้องทำอย่างไร อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ หมอเฉลิมชัยเผยเงื่อนไสำคัญที่ต้องทำ

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

ถ้าจะให้โควิดเป็นโรคติดต่อทั่วไปของไทยได้ จะต้องเพิ่มการตรวจให้มากขึ้นอีก 3.5 เท่า และฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 อย่างน้อยวันละ 245,882 โดส

 

จากกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งสัญญาณต่อสาธารณะมาอย่างต่อเนื่องว่า เป้าหมายของการที่จะทำให้โควิดเป็นโรคติดต่อทั่วไปในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 นั้น (เหมาะสมแล้วที่ใช้คำว่าโรคติดต่อทั่วไป : Post-Pandemic แทนคำว่าโรคประจำถิ่น)

 

เมื่อมาพิจารณาเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุข จะพบว่า

 

1) ช่วงต่อสู้ (Combatting ) 
12 มีนาคมถึงต้นเมษายน

 

2) ช่วงคงที่ (Plateau)
 เมษายนถึงพฤษภาคม

 

3) ช่วงลดลง (Declining)
พฤษภาคมถึง 30 มิถุนายน

4) ช่วงเริ่มสงบหรือโรคติดต่อทั่วไป
 1 กรกฎาคมเป็นต้นไป

 

เป้าหมายดังกล่าวมีความน่าสนใจว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร และมีโอกาสประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด

 

จึงต้องไปดูหลักเกณฑ์ของการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวคือ โรคติดต่อทั่วไป ซึ่งประกอบด้วย

 

โควิดวันนี้ในไทยจะเป็นโรคติดต่อทั่วไปได้ 1 ก.ค. ต้องทำอย่างไร

 

1) มีอัตราการเสียชีวิตจากโควิดเฉลี่ยรายสัปดาห์ น้อยกว่า 0.1% ของจำนวนผู้ติดเชื้อ เป็นเวลา 2 สัปดาห์ติดต่อกัน

 

2) การฉีดวัคซีน 
      2.1 ประชากรทั่วไป
             ฉีดเข็ม 3 มากกว่า 60% 
      2.2 ผู้สูงอายุ
             ฉีดเข็ม 1 มากกว่า 80% 
             ฉีดเข็ม 3 มากกว่า 60%

 

3) แนวโน้มในปัจจัยต่างๆ
      3.1 จำนวนผู้ติดเชื้อ 
      3.2 จำนวนผู้ป่วยหนัก
      3.3 อัตราการครองเตียงในระดับ2,3

เมื่อดูไปทีละเกณฑ์ จะพบความน่าสนใจคือ

 

1) อัตราการเสียชีวิต
ขณะนี้เรามีผู้ติดเชื้อรวม (PCR +ATK) ในช่วงเจ็ดวันล่าสุด 255,588 ราย คิดเป็นค่าเฉลี่ยติดเชื้อวันละ 36,512 ราย
มีผู้เสียชีวิตในช่วงเจ็ดวัน 895 ราย  เฉลี่ยวันละ 127 ราย
คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 0.35%

 

แต่เป้าหมายที่ทางกระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ จะต้องมีผู้เสียชีวิตน้อยกว่า 0.1%

 

เพื่อให้ถึงเป้าหมายดังกล่าวบนฐานผู้ติดเชื้อวันละ 36,512 ราย จะต้องมีผู้เสียชีวิตไม่เกินวันละ 36 ราย ซึ่งยังเป็นตัวเลขที่ห่างไกลจากผู้เสียชีวิตในปัจจุบันมาก

 

จำนวนผู้เสียชีวิต 127 รายต่อวัน เป็นตัวเลขที่แม่นยำกว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อที่มีการรายงาน

 

ไม่ว่าจะเป็นผู้ติดเชื้อรวม ผู้ติดเชื้อเฉพาะ ATK หรือผู้ติดเชื้อเฉพาะ PCR ก็ตาม
ก็แปลว่า อัตราการเสียชีวิต 0.1% จะต้องมาจากจำนวนผู้ติดเชื้อวันละ 127,000 ราย

 

โควิดวันนี้ในไทยจะเป็นโรคติดต่อทั่วไปได้ 1 ก.ค. ต้องทำอย่างไร

 

ดังนั้นจึงต้องเร่งทำการตรวจให้มากขึ้นอีก 3.5 เท่าตัว เพื่อให้พบผู้ติดเชื้อแท้จริงให้ได้ 127,000 รายต่อวัน

 

ก็จะทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตที่ 127 รายต่อวัน คิดเป็น 0.1% เพราะปัจจุบันจำนวนผู้เสียชีวิตค่อนข้างแม่นยำ แต่จำนวนผู้ติดเชื้อที่รายงานต่ำกว่าความเป็นจริง
ทำให้อัตราผู้เสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้อในปัจจุบัน = 127 รายหารด้วย 36,512 ราย = 0.35%

 

จึงต้องเร่งตรวจเพิ่มขึ้นอีก 3.5 เท่า

 

แต่ถ้ายังคงมียอดผู้ติดเชื้อเพียงวันละ 36,512 ราย ณ ปัจจุบันก็จะต้องบริหารจัดการให้มีผู้เสียชีวิตไม่เกินวันละ 36 ราย ซึ่งเป็นไปได้ยาก

 

และถ้ายอดรายงานผู้ติดเชื้อรายวันต่ำลงไปอีก ก็จะยิ่งทำให้อัตราผู้เสียชีวิตต่อจำนวนผู้ติดเชื้อ ลงไปแตะ 0.1% ลำบากมากยิ่งขึ้น

 

การเร่งตรวจหาผู้ติดเชื้อที่แท้จริง ให้สอดคล้องกับจำนวนผู้เสียชีวิตที่แท้จริงด้วย จึงเป็นมาตรการสำคัญที่จะทำให้อัตราผู้เสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้อลงมาอยู่ที่ 0.1%

 

วิธีการที่จะประสบผลสำเร็จคือ การเร่งให้มีการตรวจ ATK โดยการจัดการของภาครัฐ เพื่อที่เมื่อเจอผลเป็นบวก จะได้มีการรายงานครบถ้วนทุกราย

 

แต่ในขณะนี้ การตรวจเอทีเคโดยภาครัฐอาจจะยังมีจำนวนไม่มากนัก ทำให้ประชาชนที่ซื้อชุด ATK มีจำนวนมาก และเมื่อตรวจด้วยตนเองและมีผลบวกแล้ว ส่วนหนึ่งก็ไม่ได้รายงานเข้าสู่ระบบ ทำให้ตัวเลขต่ำกว่าความเป็นจริง

 

2) การฉีดวัคซีน 
     2.1 สำหรับประชากรทั่วไป

 

กำหนดเข็ม 3 ให้มากกว่า 60%

 

ปัจจุบันฉีดเข็ม 3 แล้วได้ 36.4% หรือ 25.28 ล้านโดส เป้าหมาย 60% คือ 42 ล้านโดส ยังขาดอีก 16.72 ล้านโดส จึงต้องเร่งฉีดใน 68 วันที่เหลือให้ได้เฉลี่ยเพิ่มวันละ 245,882 โดส ซึ่งมีโอกาสจะเป็นไปได้ แต่ต้องใช้ความพยายามมากขึ้น

 

2.2 ในกลุ่มผู้สูงอายุ
           

ฉีดเข็มสามให้ได้มากกว่า 60%  เป้าหมาย 60% ของกลุ่มผู้สูงอายุ 12.7 ล้านคนเท่ากับ 7.62 ล้านโดส ขณะนี้ฉีดได้ 39.8% หรือ 5.06 ล้านโดส ยังจะต้องฉีดอีก 2.5 ล้านโดส เฉลี่ยวันละ 37,647 โดส ซึ่งก็พอจะมีโอกาสเป็นไปได้

 

ในส่วนเข็มที่ 1 ต้องฉีดให้ได้มากกว่า 80% นั้นในขณะนี้ผู้สูงอายุฉีดเข็มที่ 1 ไปแล้ว 84.1% หรือ 10.6 ล้านโดสจึงไม่เป็นปัญหาแต่ประการใด

 

กล่าวโดยสรุป เป้าหมายที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ให้วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 โควิดจะเข้าสู่สถานการณ์เป็นโรคติดต่อทั่วไป จะต้องดำเนินการที่สำคัญประกอบด้วย

 

  • 1) เร่งการตรวจหาผู้ติดเชื้อให้มากขึ้นอีก 3.5 เท่า จึงจะทำให้พบอัตราผู้เสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้อต่ำกว่า 0.1%

 

  • 2) เร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้กับประชาชนทั่วไป ให้ได้วันละ 245,882 โดส ในจำนวนดังกล่าวต้องเป็นการฉีดให้กับผู้สูงอายุไม่น้อยกว่าวันละ 37,647 โดส

 

จึงถือว่าเป็นเป้าหมายที่มีความท้าทาย แต่อยู่ในวิสัยที่จะทำได้ ส่วนจะสำเร็จหรือไม่ประการใด ต้องร่วมมือกันหลายฝ่าย และมีปัจจัยตัวแปรเป็นจำนวนมากพอสมควร

 

หมายเหตุ : ส่วนตัวของผู้เขียน ดีใจที่หยุดพักการใช้คำว่า “โรคประจำถิ่น” มาใช้คำว่า “โรคติดต่อทั่วไป” เพราะจะเป็นการส่งสัญญาณต่อสาธารณะที่จะเข้าใจได้ง่ายและถูกต้องเหมาะสม เนื่องจาก “โรคประจำถิ่น” อาจทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่า เป็นโรคที่ไม่ต้องให้ความสนใจ เป็นโรคที่ไม่รุนแรง

 

แต่แท้จริงแล้ว โรคประจำถิ่นคือ โรคที่มีการระบาดอยู่ในบางภูมิภาคของโลก ไม่ระบาดทั่วโลก ไม่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง อาทิเช่น ประเทศไทยมีมาลาเรียและไข้เลือดออก ถือเป็นโรคประจำถิ่นของโลกมนุษย์ แต่มีความรุนแรง ไข้เหลืองถือว่าเป็นโรคประจำถิ่นในแอฟริกาและอเมริกาใต้ ไม่ใช่โรคระบาดทั่วโลก แต่ก็มีความรุนแรงเช่นกัน