โควิดสายพันธุ์xd-xe-xj เกิดจากอะไร อาการเป็นอย่างไร รุนแรงหรือไม่ อ่านเลย

07 เม.ย. 2565 | 02:03 น.

โควิดสายพันธุ์xd-xe-xj เกิดจากอะไร อาการเป็นอย่างไร รุนแรงหรือไม่ อ่านเลยที่นี่ ฐานเศรษฐกิจรวบรวมข้อมูล และคำตอบเพื่อคลายข้อสงสัย

โควิดสายพันธุ์ XD ,โควิดสายพันธุ์ XE และโควิดสายพันธุ์ XJ คืออะไร  อาการเป็นอย่างไร รุนแรงหรือไม่ กำลังเป็นประเด็นคำถามที่ประชาชนต้องการคำตอบ เพราะในเวลานี้โควิด-19 (Covid-19) สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ได้เกิดสายพันธุ์ออกมามากมาย 

 

ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้ดำเนินการสืบค้นข้อมูลเรื่องดังกล่าว เพื่อไขคำตอบ คลายข้อสงสัย พบว่า


ร.ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า 

 

  • XD (พันธุ์ผสมระหว่างเดลตา AY.4 และ Omicron BA.1) ดูจะมีการแพร่ค่อนข้างจำกัดและสมรรถนะในการแพร่นั้นไม่ได้มากไปกว่าสายพันธุ์ที่มีการระบาดอยู่เดิม

 

  • XE (พันธุ์ผสมระหว่าง Omicron BA.1 และ BA.2) พบครั้งแรกที่สหราชอาณาจักรวันที่ 19 มกราคม 2565 ก็กำลังมีการติดตามประเมินอยู่ โดยข้อมูลปัจจุบันชี้ว่ามีสมรรถนะในการแพร่มากกว่า BA.2 ราว 10% แต่ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยัน
  • XJ เป็นสายพันธุ์โอมิครอนลูกผสมระหว่างสายพันธุ์ย่อย BA.1 และ BA.2 เช่นเดียวกับสายพันธุ์ XE โดยพบมากที่สุดในประเทศฟืนแลนด์ 

 

สำหรับในประเทศไทยนั้น  ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า พบผู้ติดเชื้อยืนยันสายพันธุ์ XE รายแรก โดยตรวจพบจากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมจากตัวอย่างสวอปจากผู้ติดเชื้อชาวไทย 1 ราย ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อในกลุ่มสีเขียว โดยมีอาการเพียงเล็กน้อย

 

โควิดสายพันธุ์xd-xe-xj เกิดจากอะไร อาการเป็นอย่างไร

 

ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกคำเตือนเกี่ยวกับโอมิครอนสายพันธุ์ลูกผสม XE ว่า เป็นสายพันธุ์ที่สามารถติดต่อได้ง่าย และรวดเร็วกว่าเชื้อโควิด-19 ทุกสายพันธุ์ที่เคยพบเจอมา และมีอัตราการแพร่ระบาด (growth advantage) เหนือกว่า BA.2 ถึง 10% แต่ยังต้องรอข้อมูลจากทั่วโลกที่ร่วมด้วยช่วยกันถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมอีกระยะหนึ่งเพื่อการยืนยัน

 

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาตร์การแพทย์ ให้ข้อมูลว่า โควิดสายพันธุ์ XE จะแตกต่างจากโควิดสายพันธุ์ XJ โดยมีรหัสพันธุกรรมที่แตกต่างกัน แม้จะเป็นลูกผสมจากสายพันธุ์ย่อยเดียวกัน จึงทำให้มีชื่อเรียกที่ไม่เหมือนกัน
 

ด้านความรุนแรงของโควิดสายพันธุ์ XJ นั้น ยังไม่มีการรายงานข้อมูลที่ชัดเจนว่า จะสามารถแพร่กระจายเชื้อได้เร็วกว่าหรือเป็นเป็นอันตรายกว่าสายพันธุ์อื่นหรือไม่

 

สำหรับในประเทศไทยนั้น  กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบผู้เข้าข่ายใกล้เคียงกับ XJ 1 ราย เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 โดยเป็นผู้ชายสัญชาติไทย อายุ 34 ปี อาชีพพนักงานขนส่ง

 

ซึ่งคนกลุ่มนี้เจอคนหลากหลายจึงมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายและเสี่ยงกว่าคนทั่วไป จึงเสี่ยงเจอเชื้อไฮบริด โดยตรวจพบเชื้อในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน กทม. ผู้ป่วยรายนี้มีประวัติฉีดวัคซีนชิโนฟาร์มไปแล้ว 2 เข็ม

 

อย่างไรก็ดี จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ผู้ป่วยรายดังกล่าว มีลักษณะการติดเชื้อจากไวรัสอย่างน้อยสองตัวและผสมกันเป็นตัวใหม่ โดยตำแหน่งการถอดรหัส อยู่ใกล้เคียงกับ XJ มากกว่าสายพันธุ์ XE ของอังกฤษ ทำให้คิดว่าน่าจะเป็นสายพันธุ์ XJ มากกว่า