สาธารณสุข ยัน ฟาวิพิราเวียร์ มีเพียงพอ แจง ยาขาดเพราะไม่ได้คีย์ข้อมูล

29 มี.ค. 2565 | 07:40 น.

สาธารณสุข ยัน ยาฟาวิพิราเวียร์ มีเพียงพอ สามารถเติมได้ตลอด แจง เกิดปัญหาการคีย์ข้อมูลลงระบบ ย้ำ มีกระจายอยู่ในสต๊อกทั่วประเทศกว่า 22.8 ล้านเม็ด

29 มีนาคม 2565 นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงชี้แจงถึงการบริหารจัดการยาฟาวิพิราเวียร์ที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ของประเทศไทยว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ปัจจุบันติดเชื้อใหม่รวมการตรวจ ATK วันละ 20,000-40,000 รายซึ่งที่ผ่านมามีการใช้ยารักษาทั้งฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ และแพกซ์โลวิด

จากข้อมูลวันที่ 28 มี.ค.65 มียาคงคลังฟาวิพิราเวียร์ทั่วประเทศทั้งหมด 22.8 ล้านเม็ด ซึ่งปัจจุบันมีการใช้ยาสูงเฉลี่ยวันละ 2 ล้านเม็ด ดังนั้น อัตราการใช้จึงอยู่ที่ 10 วัน แต่เรามียาเพิ่มเติมตลอดเวลา และได้มีการกระจายยาในระบบออนไลน์ที่เรียกว่า VMI เมื่อโรงพยาบาล (รพ.) มีการใช้ยาจะคีย์ข้อมูลลงในระบบว่า ใช้ไปเท่าไรก็จะปรากฎข้อมูลที่ส่วนกลาง ทำให้ทราบว่าเหลือยาเท่าไร

จากนั้นก็จะเติมไปให้ โดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) จะเป็นผู้จัดหายาเติมให้ใน 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ป่วยสูงขึ้นจึงมีการใช้ยาเพิ่มและไม่ได้คีย์ข้อมูลเป็นปัจจุบันมาคีย์ครั้งเดียวทำให้ส่วนกลางไม่ทราบว่า บางพื้นที่มีการใช้ไปเท่าไร จึงเป็นเหตุให้เติมไม่ทันแต่ไม่ได้ขาดยา เพราะมีการบริหารจัดการในจังหวัด รพ.ข้างเคียงส่งไปเติมได้

นพ.ธงชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมถึงปัจจุบันมีการกระจายยาประมาณ 72 ล้านเม็ด มีการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ 2 ปีมาแล้วราว 200 ล้านเม็ด อย่างไรก็ดี ช่วงเดือนมีนาคมมีการกระจายยาตลอดเวลาทุกสัปดาห์โดยในการสำรองยาทั้งหมดยังมีสต๊อกส่วนกลางอีก 2.2 ล้านเม็ด รวมแล้วมียาสต๊อกทั้งหมด 25 ล้านเม็ด โดยกระจายตามรพ.ต่าง ๆ ประมาณ 22 ล้านเม็ด และอยู่ส่วนกลางอีก 2.2 ล้านเม็ด

สิ่งสำคัญคือ ผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย หรือไม่มีอาการทุกรายไม่จำเป็นต้องรับยา โดยเฉพาะไม่มีอาการ โดยทั้งหมดจะเป็นไปตามแนวปฏิบัติการรักษาของผู้เชี่ยวชาญซึ่งยาที่จ่ายไปนั้น ในส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ใช้ร้อยละ 26 ส่วนฟ้าทะลายโจรร้อยละ 24 และอีกร้อยละ 52 ให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ไอ ทั้งนี้เป็นข้อมูลจากสูตรการรักษา "เจอ แจก จบ" เขตสุขภาพที่ 4, 5 และ 6

 

ยาทุกตัวเป็นสารเคมี แพทย์ต้องเป็นผู้วินิจฉัยว่า ใครสมควรได้รับตามอาการเพราะยาอาจส่งผลต่อตับไตได้ หากเราได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยเฉพาะฉีดวัคซีน 3 เข็มก็จะช่วยลดอาการ ทำให้อาการไม่รุนแรงได้ การรับยาจึงต้องเหมาะสมกับอาการเป็นไปตามแพทย์วินิจฉัย ซึ่งเมื่อฉีดวัคซีนแล้วหากไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย หมายความว่า ร่างกายต่อสู้กับเชื้อได้ ภายใน 5 วันก็จะสร้างภูมิคุ้มกันต่อสู้กับเชื้อ คล้าย ๆ กับการรับประทานยาฟาวิพิราเวียร์ ดังนั้น จึงควรสำรองยาให้กับผู้ที่ควรได้รับยา เพราะบางคนภูมิคุ้มกันอาจไม่ดีพอ จึงต้องใช้ยาไปช่วย นพ.ธงชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว