จดหมายเปิดผนึกวอนนายกฯ แก้ “stagflation”

27 มี.ค. 2565 | 10:29 น.

“รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม” เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ฉายภาพภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน (Stagnation) กำลังจะมา ควบคู่ไปกับภาวะเงินเฟ้อที่กำลังพุ่งทะยาน ซึ่งจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยต้องดีเลย์ออกไป ในฐานะ “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจไทย” ท่านนายกฯ ควรจะต้องทำอะไรบ้าง

รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอ จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ในหัวข้อ “Stagflation กำลังจะมา... ถึงเวลาหัวหน้าทีมเศรษฐกิจไทยต้องทำอะไรบ้าง” ความว่า

 

กราบเรียนท่านนายกฯ ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาลไทยด้วยความเคารพ

ผมเชื่อว่าทีมงานของท่านนายกฯ คงได้ brief ให้ท่านนายกฯ ได้ทราบแล้วว่า ณ ปัจจุบัน ท่ามกลางความไม่มีสเถียรภาพทางภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจในเวทีนานาชาติ ความหวังที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างเต็มที่จากวิกฤตโควิดคงจะดีเลย์ออกไป และเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์ใหม่ นั่นคือ Stagflation สถานการณ์ที่ ภาวะเศรษฐกิจชะงัน (Stagnation/ Recession) เกิดขึ้นควบคู่กับ ภาวะเงินเฟ้อ (Inflation)

 

เศรษฐกิจชะงักงัน เพราะ เรายังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากวิกฤตโควิด แต่ก็ต้องมาซ้ำเติมด้วย 1) อุปสงค์ของตลาดโลกที่ถดถอย เนื่องจากความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองความมั่นคงในยุโรป พร้อมๆ กับที่ 2) ห่วงโซ่อุปทานของโลกยังคงถูก Disrupt จากสงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี และการแข่งขันของมหาอำนาจสหรัฐ-จีน ในมิติภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจ และ 3) ประชาชนทั้งประเทศไทยและทั่วโลกยังคงอยู่ในสภาพสิ้นหวังไม่เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยจะกลับมาสดใสได้ในระยะสั้น

รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม

ในขณะที่เงินเฟ้อ เดือนกุมภาพันธ์ของไทยก็พุ่งสู่ระดับสูงสุด New High ในรอบกว่า 13 ปี ที่ 5.28% เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 3.23% ในเดือนมกราคม ซึ่งถือเป็นระดับเงินเฟ้อที่สูงกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 3% สองเดือนติดต่อกัน โดยเงินเฟ้อในเที่ยวนี้มาจาก 2 สาเหตุ นั่นคือ

 

1) Cost Push ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สงครามรัสเซีย-ยูเครน และการปะทะกันทางอำนาจระหว่างพันธมิตร NATO ที่นำโดยสหรัฐ กับรัสเซีย (ซึ่งก็มีพันธมิตรในเวทีโลกเป็นมหาอำนาจอีกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น จีน อินเดีย) ทำให้ ราคาน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ พลังงาน สินค้าโภคภัณฑ์ สินแร่ ผลิตผลและวัตถุดิบทางการเกษตร เหล็ก โลหะมีค่า และ ปุ๋ย มีราคาปรับเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบโครงสร้างต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการไทย

 

ประกอบกับสาเหตุที่ 2) Built-in Inflation หรือ ปัญหา Wage-Price Spiral ที่ทุกภาคส่วนรับรู้ไปแล้วว่าเงินเฟ้อเกิดขึ้น และเลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยเจอมาในรอบหลายๆ ปี ดังนั้นทุกคนกำลังเรียกร้องให้ตนเองมีรายได้ (ค่าแรง เงินเดือน ค่าตอบแทน) ที่สูงขึ้น เพื่อชดเชยอำนาจซื้อของตนเองที่ลดลง และนั่นก็เป็นการสร้างแรงกดดันให้ต้นทุนการผลิตยิ่งต้องปรับเพิ่ม ซึ่งทำให้ราคาสินค้าเพิ่ม และวนกันกลับไปกลับมา เพราะราคาที่เพิ่มกลับทำให้อำนาจซื้อลดลง และทุกคนก็ต้องการผลตอบแทนเพิ่มขึ้นอีก แต่ทั้งหมดไม่สามารถปลดล๊อคได้ เพราะอย่างที่เรียนไปตอนต้น เพราะมันเกิดขึ้นในภาวะเศรษฐกิจชะงักงันที่มาพร้อมๆ กัน

 

สถานการณ์เช่นนี้ นโยบายการเงิน ผ่านการขึ้นดอกเบี้ย ลดปริมาณเงิน เพื่อแก้ภาวะเงินเฟ้อ ที่มาจากการที่มีเงินในระบบมากจนเกินไป ก็คงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ดอกเบี้ยเราเปลี่ยนได้ แต่ต้นทุนการผลิตมันไม่ได้เปลี่ยนตามได้ครับ

ในขณะที่ใช้นโยบายการคลัง ลดภาษี แจกเงิน เพิ่มมาตรการช่วยชาติแบบที่ผ่านๆ มา คนละครึ่ง ซ๊อปดีมีคืน เราเที่ยวด้วยกัน ฯลฯ ก็แก้ไม่ได้ครับ เอาเงินกองทุนออกมาอุดหนุน ออกมาชดเชย ราคาพลังงาน ทำไม่ได้หรอกครับ เงินเราไม่ได้มีเยอะ สร้างภาระหนี้ไว้ให้เด็กมันด่าเอาอีกต่างหาก

 

นาทีนี้ถ้าจะแก้ปัญหา ต้องใช้ภาคเศรษฐกิจแท้จริงครับ ต้องใช้นโยบายการค้าระหว่างประเทศ ต้องเร่งทำมาค้าขาย เร่งทำมาหากินเท่านั้นครับ ถึงจะออกจากวังวนของ Stagflation ได้

 

ถ้าผมพอจะสามารถแนะนำท่านนายกฯ ได้ ผมขออนุญาตแนะนำท่านดังนี้ครับ

  1. สร้าง Dream Team เศรษฐกิจไทยครับ ขอคณะทำงานที่ท่านนายกฯ นั่งเป็นหัวโต๊ะ แล้วหารือจริงๆ จังๆ อย่างครบวงจร ครบถ้วนรอบด้าน โดยต้องมีรองนายกฯ และรัฐมนตรีเศรษฐกิจ อีกอย่างน้อย 8 คนมานั่งทำงานด้วยกันครับ 8 ท่านนี้ได้แก่ พาณิชย์ การต่างประเทศ คมนาคม อุตสาหกรรม เกษตร พลังงาน คลัง และสาธารณสุข จากนั้นเชิญทีมเศรษฐกิจของทุกพรรคทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจเอกชน
  2. มองไปข้างหน้าเลยครับว่า เดือนเมษายน เดือนพฤษภาคม เดือนมิถุนายน ฯลฯ ไทยจะผลิตสินค้าอะไรออกมาได้บ้าง ไทยต้องการสินค้าอะไรเพื่อมาผลิตบ้าง และไทยจะส่งออกสินค้าเหล่านั้น และนำเข้าวัตถุดิบเหล่านั้น ได้จากไหนบ้าง ตัวอย่างซัก 2 ตัวอย่าง เช่น

 

พฤษภาคม ไทยจะส่งออกสินค้าเกษตรจำนวนมหาศาล อย่าง ทุเรียน มังคุด ลำไย มะขาม ไปประเทศจีน งั้นเรามาคิดตั้งแต่ตอนนี้เลยว่า เราจะเจออุปสรรคอะไรบ้าง คอขวดของการตรวจโควิดที่ชายแดนเวียดนาม-จีน ลาว-จีน เกิดขึ้นแล้ว ขนส่งทางเรือ ตอนนี้ไม่มีเรือ ไม่มีตู้คอนเทนเนอร์ เกิดแล้ว งั้นเอาแบบนี้ได้หรือไม่

 

เราขอรัฐมนตรี 4 คน การต่างประเทศ พาณิชย์ คมนาคม เกษตร บินไปประเทศจีนเลย ไปตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน ไปคุยกับ Yang Jiechi (กรมการเมือง พรรคคอมมิวนิสต์จีน) และ Wang Yi (มนตรีแห่งรัฐ รัฐบาลจีน) เพื่อแสดงความจริงใจ ว่าเราเข้าใจเรื่อง Dynamic Zero COVID ในจีน ดังนั้น

  • ทีมเกษตร: เราจะทำให้ทุเรียนของเรามีมาตรฐานสูงอย่างไร
  • ทีมสาธารณสุข: เราจะพ้นยาป้องกันเชื้อโรคตกค้างได้อย่างไร
  • ทีมพาณิชย์: เราจะขอด่านไหนให้มีช่องทางพิเศษ RCEP จะได้ตรวจคัดกรองผ่านกระบวนการศุลกากรข้ามแดนได้ภายใน 6 ชั่วโมง ต้องการคน ต้องการพื้นที่อะไรอย่างไร
  • ทีมคมนาคม: เราจะเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์กับ BRI ของจีนได้อย่างไร ใครจะเป็น Key Person ทั้งความล่าช้าในเรื่องถนน รางรถไฟ และแม่น้ำโขง ปลดล๊อคเรื่องต่างๆ ได้อย่างไรบ้าง แสดงความจริงใจกับจีน และขอความช่วยเหลือจากจีน รวมทั้งคุยต่อด้วยว่า แล้วฝั่งจีนอยากได้อะไร เร่งทำเลยครับ ตลาดจีนต้องการทุเรียนปีละ 8+ แสนตัน เราผลิตได้ปีละ 11+ แสนตัน และปกติส่งไปจีนปีละ 6+ แสนตัน ถ้าปีนี้ส่งไม่ได้ สถานการณ์จะยิ่งเลวร้าย แต่ถ้าส่งได้ปีนี้เราจะมีเงินมาสู้กับ Stagflation

 

มิถุนายน ฤดูอบอุ่นของทุ่งน้ำแข็ง Tundra และ Taiga ในไซบีเรียจะมาถึง ผลผลิตข้าวสาลีและสินค้าเกษตร Crop แรกของปีกำลังจะออก ก่อนที่ช่วงปลายไตรมาส 3 จะมี crop ที่ 2 คำถามคือ ถ้าตะวันตกคว่ำบาตร ไม่ซื้อของจากรัสเซีย และเราไม่ได้เป็นลูกไล่ตะวันตก ไม่มีใครมาบังคับให้เราไม่ซื้อ หรือซื้อของจากประเทศไหนได้ ดังนั้น ข้าวสาลี สินค้าเกษตร วัตถุดิบอาหารสัตว์ จำนวนมากจากรัสเซียที่ขายไปตะวันตกไม่ได้ ขายไปญี่ปุ่นไม่ได้ ขายไปออสเตรเลียไม่ได้ จะมี supply เหลือในตลาดโลก ราคาจะตกต่ำ แล้วทำไมไทยไม่เร่งไปขอเจรจาซื้อไว้ก่อนล่ะครับ

 

ของแบบนี้อย่ารอจนผลผลิตออกมา แต่ต้องคุยไว้ก่อนล่วงหน้า ไม่รู้จะให้ใครติดต่อเพราะเป็นแหล่งวัตถุดิบใหม่ ก็คุยกับเอกชนซิครับ เขารู้ว่าจะต้องติดต่อใคร คุยกับใคร รัฐบาลก็อำนวยความสะดวกครับ ว่าถ้าจะเอาเข้ามา จะอำนวยความสะดวกทางการค้าอย่างไร เข้ามาเส้นทางไหน ท่าเรือไหน ลดภาษีได้แค่ไหน ไม่มีมาตรการ NTMs ได้หรือไม่ เหล่านี้ต้องคิด ตอนนี้ครับ แล้วรีบส่งทีมพาณิชย์+เอกชนไปเจรจา ไม่ต้องไปกลัวจะไม่เท่ห์ที่ต้องไปค้าขายกับปูตินครับ กลัวประเทศไม่มีวัตถุดิบ กลัวประเทศผลิตสินค้าไม่ได้ดีกว่าครับ จัดทีมแล้วรีบไปเจรจาไว้ก่อนเลยครับ

 

แล้วอย่ามองแต่เฉพาะสินค้าเกษตร ลองนึกไปถึง น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ เหล็ก ไทเทเนี่ยม แพลลาเดียม ฯลฯ ด้วย เราจะพลิกวิกฤตรัสเซีย เป็นโอกาส Sourcing แหล่งใหม่ได้อย่างไร แล้วอาจจะต้องคิดนอกกรอบไปถึงด้วยว่า จำเป็นหรือไม่ที่ต้องเจรจากับรัสเซียเพื่อค้าขายกันเป็น USD ใช้เป็น รูเบิล บาท หรือ หยวน หรือ ค้าขายแบบ Barter แลกของกับของได้หรือไม่ เพราะต้องอย่าลืมว่าเขาถูกคว่ำบาตรนะครับ เขาต้องการของ ถ้าเรามีอะไรที่เป็นของที่เขาต้องการเราเอามาแลกกันได้หรือไม่

 

  1. นอกจากมองเรื่องที่ต้องทำตามตารางเวลาแบบเดือนต่อเดือนไปข้างหน้าแล้ว ต้องมองด้วยครับว่า วิกฤต Stagflation ทางเศรษฐกิจ และวิกฤตความไม่มีเสถียรภาพทางความมั่นคงในยุโรป และวิกฤตที่มหาอำนาจมากดดันไทยในมหายุทธศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น Belt and Road Initiatives (BRI) และ/หรือ Indo-Pacific นั่นหมายถึงประเทศไทยมายืนอยู่ที่ทำเลที่ตั้งที่เป็นจุดเปลี่ยนทางภูมิรัฐศาสตร์-เศรษฐกิจโลกแล้ว ไทยเราจะเดินหน้านโยบายอย่างไรต่อไป เกมส์​ภูมิ​รัฐ​ศาสตร์​ ทำให้เราต้องเริ่มคิดใหม่​ นอกกรอบ​ และ​ ต้อง​ pragmatic มากขึ้น

 

ถ้าเราไปดูสัดส่วนของเงินตราสกุลหลักๆ ที่ใช้ในการค้าขายระหว่างประเทศ ระหว่าง​ USD:EUR:RMB จะอยู่ที่สัดส่วน 40% : 36% : 3% ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของทั้งโลก ในขณะที่สัดส่วนเงินตราที่ใช้เป็นเงินสำรองระหว่างประเทศ​ USD:EUR:RMB อยู่ที่ 60% : 20% : 3% แต่ในภาคเศรษฐกิจ​แท้จริง มูลค่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศที่ปรับค่าเสมอภาคของอำนาจซื้อของเงิน (GDP​ PPP หรือ ขนาดเศรษฐกิจแท้จริง) ของโลก เศรษฐกิจจีน: เศรษฐกิจสหรัฐ: เศรษฐกิจยุโรป​ กลับอยู่ที่ 18.7% : 15.9% : 15.2%

 

ไทยต้องคิดมากขึ้นถึงความบิดเบี้ยวนี้ จีนมีเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีประชากรมากที่สุดในโลก ผลิตสินค้าเป็นโรงงานหลักของโลก แต่กลับมาเงินหยวนใช้ในระบบเศรษฐกิจโลกในมูลค่าที่ต่ำมาก ในขณะที่อาเซียนเองก็ถือเป็นเศรษฐกิจที่มีส่วนแบ่งประมาณ 6% ของโลก และอินเดียอยู่ที่ประมาณ​ 7%​ เราอาจต้องมาเริ่มคิดถึง​หยวน​ในตะกร้าที่ต้องเพิ่มสัดส่วน เราต้องมาคิดถึงดุลอำนาจของโลก เราอาจต้องมาคิดถึงมหาอำนาจใกล้บ้านมากยิ่งขึ้นไม่ว่าจะเป็น จีน อินเดีย เราต้องมาคิดถึงบทบาทของไทยในประชาคมอาเซียนมากยิ่งขึ้น

 

ผมคิดว่านี้คือ การบ้านระยะยาวที่ทีมเศรษฐกิจต้องคิด ต้องวางโครงสร้าง ต้องนึกถึงหลักเกณฑ์ กฎ กติกา รวมทั้ง ต้องคิดต่อว่า เราจะวางยุทธศาสตร์ในการถ่วงดุลอำนาจ (Strategic Hedging) ในระเบียบโลกใหม่นี้อย่างไร ที่สำคัญจะทำให้ประชาชนเห็นข้อเท็จจริงเหล่านี้ได้อย่างไร เพราะคนจำนวนมากยังคงเลือกข้างแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกับมหาอำนาจ ถูกครอบงำโดยสื่อเพียงบางฝ่าย และที่สำคัญยังเอาเรื่องเหล่านี้มาผูกกับการเมืองภายในประเทศอีกต่างหาก เพราะถ้าไม่ทำในที่สุดประเทศก็จะถูกก่อกวนโดย Hybrid warfare จากมหาอำนาจฝ่ายๆต่าง แน่นอน ดังนั้นการสร้างจิตสำนึก รักษาผลประโยชน์ของชาติ เลือกข้างประเทศไทย ถ่วงดุลอำนาจโลก จึงสำคัญมาก

 

อย่างที่เรียนท่านนายกฯ ไปแล้วในตอนต้นครับ วิกฤต Stagflation เราต้องให้ความสำคัญกับนโยบายเศรษฐกิจแท้จริง มากกว่านโยบายการเงิน และ/หรือ นโยบายการคลัง นโยบายการค้าการลงทุนต้องมาก่อน แล้วจึงมีนโยบายการเงิน นโยบายการคลังเป็นตัวเสริม และด้วยความเคารพท่านนายกฯ ครับ ถ้าท่านไม่เร่งทำ ผมเชื่อว่าคู่แข่งทางการเมืองของท่าน ทั้งในพรรคเดียวกับท่าน และในพรรคอื่นๆ ทั้งที่เขาอยู่ร่วมรัฐบาลกับท่าน และที่เราต่อต้านท่าน พวกเขาคิดเรื่องพวกนี้ทุกวันครับ และเขามีทีมงานที่ขยันและมีความสามารถด้วยครับ

 

ด้วยความเคารพท่านนายกฯ อย่างสูง

รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม

คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย