ระวัง! สายพันธุ์โอมิครอนลูกผสม “BA.2 + BA.1.1” ที่มีกลายพันธุ์

24 มี.ค. 2565 | 06:53 น.

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เตือน สายพันธุ์โอมิครอนลูกผสม “BA.2 + BA.1.1” ที่มีกลายพันธุ์ ต่างไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิมอู่ฮั่นถึง 100 ตำแหน่ง

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี  Center for Medical Genomics ระบุว่า มีรายงานด่วนว่าที่เบลเยียมมีการระบาดคู่ขนานของโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1, BA.1.1, และ BA.2 พร้อมกัน

ทำให้ขณะนี้ได้เกิดสายพันธุ์ลูกผสม ที่แพร่กระจายอย่างต่อเนื่องในช่วง 4 สัปดาห์ตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา

จากรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมที่ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯดาวน์โหลดมาจากฐานข้อมูลโควิดโลก “GISAID” จำนวน 22 ตัวอย่าง พบว่าคล้ายโอมิครอนแต่ไม่สามารถจำแนกหรือระบุสายพันธุ์ได้ด้วย “แอปพลิเคชัน Pangolin (Pango v.3.1.20 2022- 02-28)”   

จากการวิเคราะห์เชิงลึกด้วย “แอปพลิเคชัน Nextclade” พบว่าไวรัสในคลัสเตอร์นี้จีโนมส่วนใหญ่มาจากโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย “BA.2” แต่มีส่วนของยีน “ORF1a (2832-10029)” และ “ORF1b(160464-18163)” ของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1.1 เข้ามาร่วมผสมเกิดเป็นสายพันธุ์ลูกผสม BA.2/BA.1.1 recombined linage

 

ซึ่งมีกลายพันธุ์ต่างไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิมอู่ฮั่นถึง 100 ตำแหน่ง อันน่าเป็นสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์ไปมากที่สุดในปัจจุบัน  อาศัยการคำนวณจากรหัสพันธุ์กรรมพบว่าสายพันธุ์ลูกผสมนี้มี “growth advantage” หรือความสามารถในการแพร่ระบาดเหนือกว่า BA.2 ประมาณ 0.35 เท่า (35%) 

 

  • ยังไม่มีข้อมูลทางระบาดวิทยาว่าสายพันธุ์ลูกผสม BA.2/BA.1.1 recombined linage แพร่ติดต่อได้รวดเร็วกว่า BA.2 กี่ %
  • ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกว่าผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ลูกผสม BA.2/BA.1.1 recombined linage มีอาการรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์โอมิครอนสายพันธุ์  BA.1,  BA.1.1, BA.2 หรือไม่
  • การหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันหรือการด้อยประสิทธิภาพวัคซีนไม่น่าจะแตกต่างจาก BA.2  เพราะไม่พบการกลายพันธุ์จำนวนมากบนจีโนมในส่วนของ “ยีน S” ที่ควบคุมการสร้างส่วนหนาม