อาการโควิดกับไข้เลือดออก ต่างกันยังไง ติดเชื้อพร้อมกันได้ไหม เช็คเลย

22 มี.ค. 2565 | 03:59 น.

หลังสงกรานต์ “ไข้เลือดออก” อาจะระบาดแรง หลายคนสงสัยอาการโควิดกับไข้เลือดออก ต่างกันยังไง ติดเชื้อพร้อมกันได้ไหม เช็คเลย

“โรคไข้เลือดออกกับโรคโควิด”  ซึ่งโรคไข้เลือดออกถือเป็นโรคประจำถิ่นของไทย มีข้อบ่งชี้การระบาด คือ ลูกน้ำยุงลาย ซึ่งขณะนี้สำรวจพบว่า ดัชนีลูกน้ำยุงลายเริ่มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะต้นปีนี้มีฝนมาก ทำให้กรมควบคุมโรคออกมาเตือน ไข้เลือดออกน่าจะระบาดแรง

ในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ โดยรูปแบบการระบาดของไข้เลือดออกลักษณะเป็นปีเว้นปี หรือเว้น 2 ปี คนติดเชื้อจะมีภูมิคุ้มกันอยู่ได้ 1 ปี แต่ไข้เลือดออกไม่ได้ระบาดในไทยมา 2 ปีแล้ว

มีการคาดการณ์ว่า ภูมิคุ้มกันต่อไข้เลือดออกจะต่ำมาก สำหรับปีนี้คาดว่าจะเป็นไข้เลือดออกไวรัสเดงกีสายพันธุ์ที่ 2 ซึ่งน่ากังวล เพราะหากติดเชื้อร่วมกับสายพันธุ์อื่นจะทำให้โรคมีความรุนแรง มีโอกาสเสียชีวิตสูง

อาการไข้เลือดออกกับอาการโควิด

 

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า อาการไข้เลือดออกช่วงแรกใกล้เคียงโควิดมาก และด้วยโควิดระบาดทั่วประเทศ เมื่อติดเชื้ออาการช่วงแรกจะมีไข้ ซึ่งอาจจะแยกไม่ออก ยกเว้นจะมีอาการระบบทางเดินหายใจชัดว่าเป็นโควิด เช่น น้ำมูก เจ็บคอ แต่ถ้ามีไข้ ปวดเมื่อยตัว ปวดหัวมาก คลื่นไส้อาเจียน กินอาหารไม่ได้ ก็จะเป็นอาการไข้เลือดออก ฉะนั้น หากมีอาการคล้ายเป็นไข้เลือดออก ให้รีบพบแพทย์ เจาะเลือดวินิจฉัย โรคสองอย่างเป็นพร้อมกันได้

 

ความแตกต่างของไข้เลือดออกกับโควิด

โรคไข้เลือดออก

  • จะมีลักษณะไข้สูงลอย ปวดศีรษะ ปวดถึงกระดูก เบื่ออาหาร บางรายมีจุดเลือดออก หรือเลือดออกง่าย

โรคโควิด

  • ส่วนใหญ่มีไข้ อาการระบบทางเดินหายใจ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส

 

ความเสี่ยงของ 2 โรคมีความแตกต่างกัน

  • ไข้เลือดออกเกิดจากยุงลาย ขณะที่โควิดเกิดจากการสัมผัสสารคัดหลั่ง ไอจามรดกัน

 

หากป่วย 2 โรค พร้อมกันจะอาการรุนแรงหรือไม่

  • ข้อมูลที่มีการรวบรวมยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะทำให้รุนแรงขึ้นหรือไม่ ยังต้องเก็บข้อมูลต่อไป แต่มีความเป็นไปได้ว่าหากติดเชื้อทั้ง 2 อย่างก็เสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง ผู้สูงอายุ จึงต้องระมัดระวัง ไม่ประมาท

 

อาการไข้เลือดออก

  • หลังจากได้รับเชื้อจากยุงประมาณ 5-8 วัน (ระยะฟักตัว) ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการของโรค ซึ่งมีความรุนแรงแตกต่างกันได้ ตั้งแต่มีอาการคล้ายไข้เดงกี (dengue fever: DF) ไปจนถึงมีอาการรุนแรง (dengue hemorrhagic fever: DHF) และรุนแรงมาก จนถึงช็อกและเสียชีวิต (dengue shock syndrome: DSS)

 

โรคไข้เลือดออกเดงกี มีอาการสำคัญ

  • ไข้สูงลอย 2-7 วัน
  • มีอาการเลือดออก ส่วนใหญ่จะพบที่ผิวหนัง
  • มีตับโต กดเจ็บ
  • มีภาวะไหลเวียนโลหิตล้มเหลว/ภาวะช็อก

 

โรคไข้เลือดออกเดงกี แบ่งได้เป็น 3 ระยะ 

 

ระยะไข้

  • มีไข้สูงเฉียบพลัน ส่วนใหญ่ไข้จะสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส บางรายอาจมีอาการชักเกิดขึ้น
  • ในเด็กที่เคยมีประวัติชักมาก่อน ผู้ป่วยมักจะมีหน้าแดง (flushed face)
  • ผู้ป่วยจะไม่มีอาการน้ำมูกไหลหรืออาการไอ เบื่ออาหาร อาเจียน และไข้จะสูงลอยอยู่ 2-7 วัน อาจพบมีผื่นแบบ erythema หรือ maculopapular ซึ่งมีลักษณะคล้ายผื่น rubella ได้

 

อาการเลือดออกที่พบบ่อย

  •  การทำ tourniquet test ให้ผลบวกได้ตั้งแต่ 2-3 วันแรกของโรค ร่วมกับมีจุดเลือดออกเล็กๆ กระจายตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ อาจมีเลือดกำเดาหรือเลือดออกตามไรฟัน
  • รายที่รุนแรงอาจมีอาเจียนและถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ซึ่งมักจะเป็นสีดำ  
  • ส่วนใหญ่จะคลำตับ โต ได้ประมาณวันที่ 3-4 นับแต่เริ่มป่วย ในระยะที่ยังมีไข้อยู่ ตับจะนุ่มและกดเจ็บ

 

ระยะวิกฤติ/ช็อก

  • 1 ใน 3 ของผู้ป่วยไข้เลือดออกเดงกี จะมีอาการรุนแรง
  • มีภาวะไหลเวียนโลหิตล้มเหลวเกิดขึ้น ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับที่มีไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว เวลาที่เกิดช็อกจึงขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่มีไข้
  • อาจเกิดได้ตั้งแต่วันที่ 3 ของโรค (ถ้ามีไข้ 2 วัน) หรือเกิดวันที่ 8 ของโรค (ถ้ามีไข้ 7 วัน)
  • ภาวะช็อกที่เกิดขึ้นนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยจะมีอาการเลวลง และจะเสียชีวิตภายใน 12-24 ชั่วโมง หลังเริ่มมีภาวะช็อก

 

ระยะฟื้นตัว

  • ค่อนข้างเร็ว ในผู้ป่วยที่ไม่ช็อกเมื่อไข้ลดส่วนใหญ่ก็จะดีขึ้น
  • ผู้ป่วยช็อกถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้องทันท่วงทีจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ระยะฟื้นตัวมีช่วงเวลาประมาณ 2-3 วัน